สำนักงานศาลยุติธรรม ตรวจสอบ “บันทึกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกันทรลักษ์” แนะควรเรียกตุลาการว่า “ท่าน” ไม่ใช่ “หัวหน้า” ย้ำ มีผลต่อความศรัทธาในศาลยุติธรรมของบุคคลทั่วไป ระบุ จะแจ้งให้ทราบต่อไป
วันนี้ (28 เม.ย.) มีรายงานว่า จากกรณีที่ สังคมออน์ไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม พร้อมได้แชร์ภาพบันทึกข้อความทางราชการ ลงวันที่ 27 เมษายน 2558 ซึ่ง นายจำเริญศักดิ์ สารธิมา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ได้ทำบันทึกเรื่อง “การเรียกขานผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหารและผู้พิพากษาฯ” ถึงผู้พิพากษาทุกท่าน ผอ. และข้าราชการศาลยุติธรรมทุกคน
มีรายงานว่า ขณะที่ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกจดหมายข่าวสำนักงานศาลยุติธรรม ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่บันทึกข้อความเกี่ยวกับการเรียกขานหัวหน้าผู้พิพากษาซึ่งเป็นวิพากษ์วิจารณ์ ว่า การกระทำดังกล่าวอาจกระทบหน่วยงานภายนอก ซึ่งมีผลต่อความศรัทธาในศาลยุติธรรมของบุคคลทั่วไปขณะนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวผลการดำเนินการเป็นอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับเนื้อหาที่มีการแชร์ในสังคมออนไลน์ มีดังนี้
ด้วยข้าพเจ้าไปร่วมงานวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เรียกข้าพเจ้าว่า “หัวหน้า หัวหน้า หัวหน้าไม่ไปไหนหรือ” ข้าพเจ้าเห็นว่าคำว่า “หัวหน้า” เป็นคำเรียกที่ไม่เหมาะสมกับตุลาการและยังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะ
1. ลูกน้องโจรก็เรียกหัวหน้าโจรว่า “หัวหน้า”
2. ข้าพเจ้าได้ฟังวิทยุโฆษณาขายสินค้า นาย ก. ก็เรียกนาย ข. ว่า “หัวหน้า” ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกัน
ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษา เป็นตำแหน่งที่แตกต่างจากตำแหน่งทั่วไป และคำที่ชาวบ้านเรียกขานทั่วไป ข้าพเจ้าคิดว่า เพื่อให้เกียรติแก่สถาบันตุลาการ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องต้องเรียกว่าท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ท่านผู้พิพากษา โดยบรรพตุลาการที่สอนกันมาให้เรียก ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษา ว่า "ท่าน" เป็นคำหน้า เช่น ท่านหัวหน้า ท่าน... เป็นต้น เป็นคำที่เหมาะสมแล้ว (ทั้งนี้ ได้แนบสำเนาหนังสือสมบัติของผู้ดีมาพร้อมนี้แล้ว หากผู้ใดอ่านก็จะได้ความรู้ซึ่งเป็นที่มาของระเบียบวินัยข้าราชการ)
จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน
มีรายงานว่า บันทึกข้อความทางราชการฉบันนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ว่า มีความเหมาะสมหรือไม่