xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ จับมือเสริมสร้างความเข้มแข็งหุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย - แอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ ชูไทยสะพานเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย และ แอฟริกา พร้อมสานต่อยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้ - ใต้ เพื่อสันติภาพของโลกและความเจริญรุ่งเรือง

วันที่ 22 เม.ย. เวลา 17.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยผลสำเร็จการเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย - แอฟริกา (Asian-African Summit) ระหว่างวันที่ 21 - 23 เมษายน 2558 ตามคำเชิญของนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชาติสมาชิกให้ความเชื่อมั่นและเห็นถึงบทบาทของประเทศไทย ว่า ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวสาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุมสุดยอดเอเชีย - แอฟริกา (Asian-African Summit) เป็นการฉลองครบรอบ 60 ปี ของการประชุมเอเชีย - แอฟริกา ปี ค.ศ. 1955 (การประชุมบันดุง) และครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย - แอฟริกาในครั้งนี้ โดยมีผู้แทนกว่า 110 ประเทศทั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม 25 คน อาทิ ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประธานาธิบดีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นต้น โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งการประชุมสุดยอด เอเชีย - แอฟริกา และให้ความร่วมมือและสนับสนุนเจตนารมณ์บันดุงมาโดยตลอดนับตั้งแต่การเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงหัวข้อหลักและเป้าหมายของการประชุม คือ การสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือใต้ - ใต้ (หรือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา) เพื่อส่งเสริมสันติภาพของโลกและความเจริญรุ่งเรือง “Strengthening South-South Cooperation to Promote World Peace and Prosperity” และทิศทางความร่วมมือระหว่างเอเชีย - แอฟริกา ในอนาคตนั้น ที่จะต้องสานต่อยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนเอเชีย - แอฟริกา สร้างความเข้มแข็งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพราะทั้งสองภูมิภาคต่างมีศักยภาพ ปัจจุบัน มูลค่าการค้าเอเชียและแอฟริกา มีสัดส่วนร้อยละ 26 ของมูลค่าการค้าของแอฟริกาทั้งหมด รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีสายการบินหลัก 8 สายการบินเชื่อมโยงกว่า 28 เมืองของเอเชียและแอฟริกา เมื่อพิจารณาจากภูมิรัฐศาสตร์ของไทยแล้ว ไทยสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและแอฟริกา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม สำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย

ข้อความสารบันดุง ปี ค.ศ. 2015 การเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้ - ใต้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก (Bandung Message ๒๐๑๕ Strengthening South-South Cooperation to Promote World Peace and Prosperity) แสดงเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือแบบใต้-ใต้ เพื่อสันติภาพของดลกและความเจริญรุ่งเรือง ปฏิญญาว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย - แอฟริกา (Declaration on Reinvigorating the New Asian-African Strategic Partnership) เสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนใหม่ทางยุทธศาสตร์เอเชีย - แอฟริกา สำหรับเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและแอฟริกา ปฏิญญาว่าด้วยปาเลสไตน์ (Declaration on Palestine) เจตนารมณ์ที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการต่อสู้อย่างถูกต้องของประชาชนปาเลสไตน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่มิอาจทำให้เป็นอื่นได้ในการกำหนดการปกครองตนเอง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Asian-African Summit โดยหยิบยกประเด็นสำคัญ คือ การพัฒนาความเชื่อมโยง (connectivity) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระชับความร่วมมือทั้งมิติด้านความมั่นคงและมิติทางเศรษฐกิจ ระหว่างเอเชียและแอฟริกา ไทยสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-แอฟริกา และจะใช้กลไกที่มีอยู่ คือความร่วมมือในกรอบอาเซียน เป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือสองทวีปอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอที่จะแบ่งปันข้อมูลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แก่มิตรประเทศ และที่สำคัญได้เสนอ “ข้อริเริ่มไทย - แอฟริกา” เพื่อแสดงความมั่งมั่นของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังพบหารือทวิภาคีกับผู้นำและผู้แทนประเทศต่างๆ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐปาเลสไตน์ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งจอร์แดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตูนิเซีย และ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งไทยสนับสนุนสันติภาพและต้องการเห็นทุกพื้นที่บนโลกนี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สงบสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ซึ่งความสัมพันธ์ไทย - รัฐปาเลสไตน์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคลากร ทักษะฝีมือแรงงาน การท่องเที่ยว SMEs และการพัฒนาการเกษตร ไทยยังเห็นพ้องกับประชาคมโลกต่อกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยใช้กลไกสหประชาชาติ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างสันติ

สำหรับการเข้าเฝ้าฯ หารือกับสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์ อัล-ฮุสเซน (His Majesty King Abdullah II Ibn Al-Hussein) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน นั้น

พระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ทำให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและจอร์แดนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ขอบคุณรัฐบาลจอร์แดนที่ได้ให้การช่วยเหลือ และดูแลนักศึกษาไทยประมาณ 600 คน เป็นอย่างดี ทั้งสองฝ่ายหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน

การหารือทวิภาคีกับนายตายิบ บักคูชี (Mr. Taieb Baccouche) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศสาธารณรัฐตูนิเซีย ไทยยินดีที่ตูนิเซียประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ขอบคุณรัฐบาลตูนิเซียได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ในการอพยพแรงงานไทยออกจากลิเบีย เมื่อปี 2554 และในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์การก่อการร้ายที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติตูนิเซีย เมื่อเดือนมีนาคม สำหรับความร่วมมือนั้น ไทยพร้อมสนับสนุนและแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนา ในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการศึกษา การท่องเที่ยว ประมง สาธารณสุขและการบริหารธุรกิจ

การหารือกับ นาย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ไทยพร้อมร่วมมือกับอินโดนีเซียในการพัฒนาความสัมพันธ์รอบด้านในฐานะประเทศทีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และไทยอันดับ 2 ของอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความร่วมมือด้านการประมง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาภาคประมงไทยในลักษณะองค์รวม ทั้งประเด็นแรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการทำประมงแบบ IUU และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ส่งเสริมความร่วมมือการค้าและการลงทุน ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียทั้งระดับพหุภาคีและภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
กำลังโหลดความคิดเห็น