xs
xsm
sm
md
lg

แถลงผลงานรายกระทรวงวันที่สอง “ยุติธรรม” พระเอก “อายัดทรัพย์สิน-ยาเสพติด 8 พันล้าน-ฟัน ขรก.โกง 198 ราย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แถลงผลงานรายกระทรวงวันที่สอง “ยุติธรรม” เป็นพระเอก เผย “อายัดทรัพย์สิน - ยึดจากการแก๊งยาเสพติด 8,357.750 ล้าน - ฟัน ขรก. โกง 198 ราย “กลาโหม” ชี้ “ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ลดลงร้อยละ 62.63 - สูญเสียลดลงร้อยละ 45.89” แรงงาน “ตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” คลัง ระบุ “มีรายไดนําสงคลัง 970 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีก่อน” คมนาคม ย้ำ “ปี 2558 จะมีการลงทุนรวม 55,987 ล้านบาท”

วันนี้ (22 เม.ย.) การแถลงผลงานรายกระทรวงฯ ตามนโยบายรัฐบาล เป็นวันที่สอง เป็นคิวของกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงยุติธรรม “ASTV ผู้จัดการ” เรียบเรียงผลงานที่มีการเผยแพร่ ดังนี้

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ลดลงร้อยละ 62.63 - สูญเสียลดลงร้อยละ 45.89” กระทรวงกลาโหม

- การรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน ถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องมีกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อใช้ในการทำหน้าที่ให้ประชาชนได้เกิดความมั่นใจ มีการจัดตั้งกองกำลังที่ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวม 8 กองกำลัง ในการร่วมมือกันรักษาอธิปไตย ตลอดจนดูแลงานตามแนวชายแดน เช่น แรงงานต่างด้าว อาชญากรข้ามชาติ ยาเสพติด ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ

- การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน โดยการจัดกองกำลังป้องกันชายแดน 8 กองกำลังเพื่อดูแลงานด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติสุขและไม่มีการรุกล้ำอธิปไตย

- การจัดกำลังทหารสนับสนุนการจัดระเบียบสังคม การจัดชุดมวลชน จัดระเบียบยานพาหนะรับจ้างต่างๆ และมีการจัดกำลังทหารสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยสถิติเหตุการณ์ลดลงร้อยละ 62.63 และจำนวนการสูญเสียลดลงร้อยละ 45.89 เมื่อเปรียบเทียบกับกับห้วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ขั้นสุดท้ายตามโรดแมปของการแก้ไขปัญหา คือ ขั้นการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

- จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขงานมั่นคงทุกมิติให้เกิดความรวดเร็ว แบบ one stop service มีการติดตั้งระบบส่องสว่าง 237,000 และกล้องวงจรปิด 40,000 จุด ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันอาชญากรรม 63 จังหวัด

- กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำหน้าที่ดูแลงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก โดยมี กอ.รมน. ภาค 4 ร่วมกับ สมช.บูรณาการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย สำหรับการดูแลรักษาความสงบ ถือเป็นงานของ คสช. ที่ดำเนินการในภาพรวมดูแลรักษาความสงบ โดยปัจจุบันใช้กำลังทหารเป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งมาตรา 44 ร่วมกับ สตช.เพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้าย โดพยสามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มกล้องซีซีทีวี เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม การตรวจค้น การตั้งด่านตรวจต่างๆ ตลอดจนการจัดระเบียบสังคมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย

- การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีการจัดกิจกรรมและโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาวมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87พรรษา 5 ธ.ค. 2557 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เม.ย. 2558 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถาบันหลักของชาติ ทั้งทางสื่อ และบุคคล โดยสามารถตรวจสอบการกระทำที่บ่อนทำลายสถาบันจำนวน 350,000 ครั้ง ตรวจพบเว็บไซต์บ่อนทำลายสถาบันจำนวน 100 เว็บไซต์ และได้แจ้งให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่งผลให้การกระทำที่บ่อนทำลายสถาบันลดลงหรืออยู่ในวงจำกัด

- การปรองดองสมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ภาพรวมจะเห็นชัดเจนที่ผ่านมา คือลดน้อยลง ทำให้ความสงบได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีกลุ่มต่อต้านอยู่บ้าง รวมถึงปัญหาความยากจนต่างๆ ความไม่เข้าใจในเรื่องของปัญหาในเรื่องเกษตรกร สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามแก้ไข

- จัดระเบียบเรือประมง และการจัดทำฐานข้อมูลเรือและแรงงานประมง พร้อมกับการตรวจสอบเรือประมง 500 ลำ และสามารถจับกุมเรือที่ทำผิดกฎหมาย 100 ครั้ง โดยศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ผลการดำเนินการทำให้เกิดการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น

- การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการส่งเสริมเรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าทางการเกษตร ผ่านการตั้งศูนย์และจัดการอบรมในโครงการต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดในการสะกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นสาเหตุให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยผลการดำเนินการทำให้เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับประชาชน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

- การช่วยเหลือและบริการประชาชน โดยจัดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน โดยการบูรณาการกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และฝ่ายปกครองในการดูแลรักษา และตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ป่าไม้และดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างสภาพแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนถึงการพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างสภาพแวดล้อม ผ่านโครงการเฉลิมพระเกียติต่างๆ ซึ่งผลการดำเนินการทำให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าต้นน้ำ รวมทั้งการฟื้นฟูระเบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนส่งผลให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

- การส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมได้สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศสมาชิกอาเซียน มิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมในกรอบระดับทวิภาคี และเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน เช่น การเข้าประชุมผู้นำทางทหารประจำปี 2557 ที่ประเทศบรูไน จัดกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 ป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในพื้นที่อ่าวเอเดน ชายฝั่งโซมาเลีย

- การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอาเซียนที่สหภาพพม่า การจัดการฝึก cobra gold 15 มีประเทศเข้าร่วมฝึก 24 ชาติ รวมทั้งสิ้น 11,000 คน การฝึกการแก้ไขปัญหาก่อการร้ายสากลไทย - ออสเตรเลีย Dusk Panther ที่ออสเตรเลีย เป็นต้น

- แผลการดำเนินการในห้วงระยะเวลาต่อไปนั้น เช่น การเตรียมการจัดการประชุม pacific Environmental Security Forum 2015 โดยมีผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 35 ประเทศ ระหว่าง 8 - 11 มิ.ย. 58 และเตรียมการจัดการประชุมประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ระหว่าง 20 - 24 ก.ค. 58 ที่กรุงเทพฯ เตรียมการจัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนขึ้นในประเทศไทย มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2558

“อายัดทรัพย์สิน - ยึดจากแก๊งยาเสพติด 8,357.750 ล้าน - ฟัน ขรก. โกง 198 ราย” กระทรวงยุติธรรม

- ภายใต้แนวคิด “ยุติธรรมก้าวหน้า” โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ผลักดันและขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2. การพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และป้องกันการกระทำผิด 3. การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และ 5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษและองค์กรอาชญากรรม

- ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ใน 6 ด้าน อาทิ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ได้เน้นให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในที่ตั้งขององค์กรท้องถิ่น จำนวน 312 ศูนย์ ในพื้นที่ 18 จังหวัด และวางแผนจะจัดตั้งให้ครบทุกตำบล จำนวน 7,255 ศูนย์ ซึ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. นี้

- การสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย ซึ่งได้ปฏิรูปการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. .... และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. ...ซึ่งการเสนอยกร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เพื่อบริหารจัดการงานราชทัณฑ์ ใน 2 มิติ คือ 1. การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานราชทัณฑ์ และ 2. การปรับปรุงโครงสร้างระบบพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ในส่วนของ พ.ร.บ.คุมประพฤตินั้น จะปรับปรุงบทบัญญัติให้อำนาจศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจได้ทุกคดี

- การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากการปฏิบัติโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยความร่วมมือ 4 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า และ ไทย ซึ่งสามารถจับคดียาเสพติดได้ 3,062 คดี ผู้ต้องหา 3,398 คน พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินได้รวมมูลค่ากว่า 116 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังสามารถยึดสารตั้งต้นและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดได้ 167.175 ล้านเม็ด เป็นจำนวนเงินประมาณ 8,357.750 ล้านบาท

- การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรณีที่ ศอตช. ได้รวบรวมรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน จำนวน 198 รายชื่อ ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม มีข้าราชการที่มีชื่อในจำนวนดังกล่าว 5 รายชื่อ เป็นข้าราชการสังกัดจากกรมราชทัณฑ์และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีรายชื่อที่ถูกชี้มูลแล้วประมาณ 2 - 3 ราย

- สั่งการให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งหน้าที่แล้ว ทั้งนี้ รายชื่อที่มีอยู่ทั้งหมด 198 รายชื่อนั้น มีทั้งที่ชี้มูลและยังไม่ได้ชี้มูลความผิด ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้กฎหมาย มาตรา 44 ในการดำเนินการ

“ตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” กระทรวงแรงงาน

- ผลงานกลุ่มแรก คือ ตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษาจบใหม่ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน ผู้พ้นโทษ ทหารที่ปลดประจำการมาแล้ว โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน ทาสีตึกให้เป็นแลนมาร์คเพื่อให้คนจดจำง่าย ขยายเพื่อให้ครอบคลุมผ่านเครือข่ายศูนย์บริการจัดหางานทางอินเทอร์เน็ต 18 กลุ่มจังหวัด

- เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยที่หาดใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ฯ ที่ จ.นครราชสีมา ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ สามารถนำคนเข้าสู่การทำงานได้ราว 2 - 2.5 แสนคน จัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ 45,000 คน

- กลุ่มคนที่ต้องดูแลให้มากขึ้น คือ กลุ่มแรกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบใน 77 จังหวัด โดยรัฐเข้าไปสนับสนุนให้เขาเดินหน้าได้ กลุ่มที่สองเป็นผู้พิการ 1.6 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 7 แสนคน และอยู่ในช่วงอายุ 16 - 50 ปีที่มีงานทำ 2 แสนกว่าคน ที่เหลือ 3 - 4 แสนคนยังไม่มีงานทำ ตามนโยบายเปลี่ยนภาระให้มาเป็นพลังของสังคม กลุ่มที่สาม เป็นบุคคลพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดที่อยู่ในประเทศไทย ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จะให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลคนเหล่านี้

- การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เปิดให้แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน ปัจจุบันมาตรวจสัญชาติเพื่ออนุญาตให้ทำงาน 3 แสนคน ส่วนที่เหลืออีกล้านคนเศษขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการมายื่นเปลี่ยนบัตรใหม่ภายใน 3 เดือนเพื่ออนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้อีก 1 ปี กระทรวงแรงงานได้ตั้งสมมติฐานว่า ในภาวการณ์ปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่ควรมีภายใต้กติกาที่เรากำหนด มีจำนวนที่พอเพียงต่อการทำงานของภาคธุรกิจ เหมาะสมกับฝ่ายความมั่นคงที่สามารถควบคุมดูแลได้ สังคมไทยยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย

- ด้านการคุ้มครองแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะต้องทำให้สถานประกอบการมีความปลอดภัย ทำให้เขาไม่บาดเจ็บจากการทำงาน ได้กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัด “โครงการสถานประกอบการปลอดภัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” มีสถานประกอบการเข้าร่วม 7 พันกว่าแห่ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง หรือเมื่อออกจากงาน ในปีนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องการเจรจาไปสู่ทวิภาคี เพื่อให้เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เกิดขึ้นจบได้ที่โรงงาน ไม่นำไปสู่การพิพาทที่ศาลแรงงาน ทำโครงการลูกจ้าง นายจ้าง เอื้ออาทร ร่วมแบ่งปัน สร้างสรรค์สังคมไทย เพื่อชี้ให้เห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างต้องอยู่ร่วมกันการส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี GLP เพื่อให้เข้าสู่การทำงานที่เป็นมาตรฐาน

- ด้านการประกันสังคม ปัจจุบันมีเงินกองทุน 1.5 ล้านล้านบาท แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ เงินอาจจะมีการเริ่มลดลง จุดนี้ถือเป็นความยากและท้าทายของงานประกันสังคม แต่กระทรวงแรงงานก็พยายามให้กองทุนประกันสังคมบริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ แต่ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ออกมาก็ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีการตรวจสอบจากผู้ประกันตนและแก้ไขกันต่อไป วันนี้ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนมากมาย ประเด็นสำคัญคือ เมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวออกแล้ว จะมีกฎหมายลูกอีก 17 ฉบับซึ่งจะต้องวางกรอบในการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

- การสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งอนุกรรมการ 5 อนุฯ ด้านกฎหมายโดยการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง และออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ซึ่งประกาศใช้ไปแล้วเมื่อธันวาคม 2557 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานสากล ด้านการปฏิบัติเราจะใช้ความพยายามในการทำงานขึ้นไปสู่เป้าหมายสากล ไม่ได้หยุดแค่การรายงานใน Tip Report

- การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU เนื่องจากอียูได้เตือนไทยมาตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้พยายามบูรณาการการทำงาน ทำทั้งเครื่องมือจับปลาให้ถูกกฎหมาย จดทะเบียนเรือ ติดระบบติดตามเรือ Vessel Monitoring System (VMS) เป็นการยกระดับการทำประมงทะเลไทยสู่มาตรฐานสากล และนำไปสู่การปลดแก้ข้อกล่าวหาของประเทศสหรัฐจากบัญชีเทียร์ 3 แต่บางประการอาจจะติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังปรับกฎหมาย พ.ร.บ.ประมงซึ่งอยู่ในสภาฯ กฎกระทรวงของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม กำลังเร่งรัดให้เรือ 30 ตันกรอสขึ้นไปติด VMS ให้กรมประมงจัดตั้งศูนย์ติดตามเรือ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่มีระบบดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

- การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วันนี้เรากำลังเข้าสู่ความเป็นสากล กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อไปนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพต่อไปต้องได้มาตรฐาน การทำให้มาตรฐานฝีมือ เข้าสู่มาตรฐานสากลวันนี้เราได้เริ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยร่วมกับผู้ประกอบการในการพัฒนาฝีมือและมอบใบรับรองมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้ การจ่ายค่าตอบแทนจะแปรไปตามมาตรฐานฝีมือ หากไม่มีมาตรฐานทุกคนจะทำงานไปเรื่อยๆ ไม่สามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากลได้ ผู้ใช้แรงงานต้องพัฒนาตนเองให้สูงขึ้น เพื่อได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการเองโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องลดต้นทุนการผลิตในกระบวนการตั้งแต่การบริหารงาน การลดการสิ้นเปลือง กระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือมีสถานประกอบการเข้าร่วม 260 แห่งตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ

“มีรายไดนําสงคลัง 970 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีก่อน” กระทรวงการคลัง

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 6 เดือนแรกติดลบ ซึ่งเกิดจากปัจจัยสำคัญๆ เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว นอกจากนั้น เป็นเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาละเลยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่มักใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและประชานิยมที่ทำให้เกิดภาระทางการคลังมากมาย แต่ไม่ช่วยให้ประเทศก้าวข้ามกับดักทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Middle Income Trap ได้

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงที่รับผิดชอบการบริหารการเงิน การคลังของประเทศ ได้มีส่วนกำหนดและสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ หลายประการ เพื่อช่วยเร่งรัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อความแข็งแกร่งในอนาคตของประเทศ

ในภาพรวมภาวะเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายขึ้น มีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ยังคงเปราะบางอยู่ โดยอัตราการขยายตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ครึ่งหลังของปี 2557) มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 1.4 ต่อปี (เปรียบเทียบกับครึ่งแรกของปี 2557 ที่หดตัวที่ร้อยละ -0.02 ต่อปี) และการขยายตัวด้านต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของประเทศไทยยังคงชะลอตัว ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐ และสนับสนุนบทบาทภาคเอกชน

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลมีรายไดนําสงคลัง 970 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลสามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.8 ต่อปี สะท้อนการบริโภคภายในประเทศยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้จำนวน 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากปีก่อน ทำให้สามารถอัดฉีดเงินงบประมาณสุทธิเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขาดดุลงบประมาณทั้งสิ้น 491.8 พันล้านบาท

ในการนี้ กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินมาตรการสำคัญ ๆ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้นที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และมาตรการระยะปานกลางถึงระยะยาวที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดภาระหนี้และค่าครองชีพของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ดังนี้

(1) มาตรการระยะ 6 เดือนแรกที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศจากภาวะที่ประสบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ

1.1 เร่งรัดเบิกจ่ายเงินค้างชำระโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
1.2 การทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี
1.3 เร่งรัดการทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และ 2558
1.4 ทบทวนและเร่งรัดเบิกจ่ายงบกลาง (วงเงิน 7,800 ล้านบาท)
1.5 จัดสรรเงินงบไทยเข้มแข็งที่ยังเหลืออยู่ (วงเงิน 15,200 ล้านบาท)
1.6 โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกครัวเรือน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท)
1.7 โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (วงเงิน 8,000 ล้านบาท)
1.8 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ประกอบด้วย โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (วงเงิน 37,603 ล้านบาท) และระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน (วงเงิน 40,692 ล้านบาท)
1.9 การเพิ่มค่าลดหย่อนทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในประเทศ

(2) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน

2.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากร กลุ่มวัตถุดิบ/สินค้าทุน

2.2 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ SMEs
2.2.1 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs
2.2.2 สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ SMEs กลุ่มต่างๆ เช่น รายย่อย ผู้ส่งออก อิสลาม เป็นต้น
2.2.3 การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศ ให้เติบโตและแข็งแรง โดยเข้าร่วมทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ซึ่งจะเป็นการช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของกิจการ SMEs ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น โดยได้กำหนดแนวทางให้มีลักษณะเป็นกองทุนเปิดระหว่างภาครัฐและเอกชน กำหนดขนาดวงเงิน 10,000 - 25,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมลงทุนจากภาครัฐร้อยละ 10 - 50 ส่วนที่เหลือจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมด้านเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิตอล
2.2.4 การค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

2.3 การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน

2.3.1 การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ...
2.3.2 การให้ใบอนุญาตสินเชื่อประเภท Nano-Finance เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และขจัดปัญหาหนี้นอกระบบ สินเชื่อประเภท Nano-Finance มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น ทั้งนี้ มีผู้สนใจยื่นขอจดทะเบียนแล้ว 15 ราย โดยจำนวน 4 ราย ที่จัดส่งเอกสารครบถ้วนและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ และอีก 11 รายกำลังตรวจสอบเอกสาร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558

2.4 การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น

2.5 การปรับลดภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล

(3) มาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการลดภาระหนี้และค่าครองชีพของประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเสริมสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจของประชาชน

3.1 การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3.1.1 การส่งเสริมการออมภาคประชาชนผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานที่อยู่นอกระบบ 25 ล้านคน ที่มีอายุ 15 - 60 ปี มีโอกาสสะสมเงินออมตั้งแต่วัยทำงาน และมีรายได้ในลักษณะเงินบำนาญ รวมทั้งจะรับโอนผู้ประกันตนและเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพทั้งหมดที่แสดงความจำนงเป็นสมาชิกของ กอช. ส่วนผู้ประกันตนที่ไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินที่ผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนเงินสมทบจากรัฐ และดอกผลคืนทั้งจำนวน
3.1.2 การนำเสนอพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
3.1.3 โครงการดำเนินการเพื่อการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557
3.1.4 อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยเพื่อส่งเสริมให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปีมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติรวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด

3.2 การลดภาระหนี้และค่าครองชีพของประชาชน

3.2.1 โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
3.2.2 มาตรการให้ความช่วยเหลือจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.2.3 การเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ
3.2.4 การขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 6 เดือน

(4) มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้สามารถเจริญเติบโตไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

4.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)

4.2 การสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6 จังหวัด
4.2.1 ลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
4.2.2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการค้ำประกันสินเชื่อ
4.2.3 จัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
4.2.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร
4.2.5 การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service)

4.3 การปรับปรุงพิธีการศุลกากรให้เป็น National Single Window และ ASEAN Single Window

(5) มาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งภายในและระหว่างประเทศ สอดคล้องกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งของประเทศ
5.1 การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ของไทย รวมทั้งโครงการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค (Regional Connectivity)
5.2 การออกระเบียบและกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (Public-Private Partnership: PPP)

(6) มาตรการส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการภาครัฐให้มีความยั่งยืนและเป็นธรรม

6.1 การปฏิรูปเงินทุนหมุนเวียน

6.2 แนวทางดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
6.2.1 โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
6.2.2 โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)
6.2.3 แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Market) และ ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)

6.3 การปรับปรุงการลดช่องโหว่ในการจัดเก็บภาษีอากร
6.3.1 การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสำหรับกิจการโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนกวดวิชา
6.3.2 การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
6.4 การจัดทำพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

กระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่านโยบายและมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ จะสามารถช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและลดค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ในอนาคตต่อไป

“ปี 2558 จะมีการลงทุนรวม 55,987 ล้านบาท”กระทรวงคมนาคม

จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 เพื่อเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยและสร้างโอกาสในการแข่งขันให้ประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย 5 แผนงาน รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,912,681 ล้านบาท โดยในปี 2558 จะมีการลงทุนรวม 55,987 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากดำเนินการได้ตามแผนฯ แล้วเสร็จ จะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 14.4 สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 40 ลดความสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 140,000 เที่ยวต่อปี ในปี 2567

กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ 5 เส้นทาง ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ระยะยทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,725 ล้านบาท โดยเตรียมนำเสนอภายในเดือน พ.ค. 58 โดยกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 63

2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,768.45 ล้านบาท เตรียมนำเสนอครม.ภายในเดือน พ.ค. 58 กำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 63

3) Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท - ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 31,139 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน

4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี หรือพระราม 9 - มีนบุรี เตรียมนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือน พ.ค. 58 ระยะทาง 21 กม. (ใต้ดิน 12 กม. ทางยกระดับ 9 กม.) วงเงิน 110,325.76 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 63

5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ - วังบูรพา ขณะนี้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด และเตรียมเสนอครม.ภายในเดือน มิ.ย. 58 พร้อมประกวดราคาประมาณกลางปี 58

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค - พุทธมณฑล คาดว่า ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค. 58 เริ่มก่อสร้างปลายปี 59 และกำหนดเปิดให้บริการเดือน เม.ย. 62

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างคณะกรรมการ สศช. และ คนร. พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี 61

นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีภายในพ.ค.58 ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง สาย กทม.- หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 81,136.20 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA และโครงการรถไฟความเร็วสูง สาย กทม.- พัทยา ระยะทาง 129.1 กม. โดยเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกทม.-ระยอง ซึ่งได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา EIA

ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร

1) เส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย อยู่ระหว่างการประกวดราคา โดยดำเนินการตามมาตรการความโปร่งใส โดยยกเลิกการประกวดราคาตามข้อท้วงติงของ สตง. คาดประกวดราคาใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 58 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 61

2) เส้นทางช่วงจิระ - ขอนแก่น จะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติโครงการภายใน เม.ย. 58 ประกวดราคาได้ภายในเดือน ก.ค. 58 คาดว่าจะก่อสร้างได้ในเดือน พ.ย. 58 และกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 61

3) เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร โดนผ่าน EIA แล้วเมื่อ 7 ต.ค. 57 เตรียมเสนอ ครม. ภายในเดือน มิ.ย. 58 เริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค. 59 กำหนดแล้วเสร็จปี 62

ส่วนอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และช่วงนครปฐม - หัวหิน อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมประสานติดตามผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

การดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากงานมีความซับซ้อนและต้องมีการปรับแผนงาน ซึ่งกระทรวงจะจัดเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่หลักแล้วแหล่งทุนจะมาจากเงินกู้ในประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะยาว พ.ศ. 2558 - 2565 เพื่อเสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และสร้างโอกาสสำหรับการแข่งขันและให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยดังกล่าว ประกอบด้วย 5 แผนงานได้แก่ 1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2) การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล 3) การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5) การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,912,681 ล้านบาท โดยในปี 58 จะมีการลงทุนรวมประมาณ 55,987 ล้านบาท

โดยกระทรวงเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 โดยในไตรมาส 2 มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 58,308.44 ล้านบาทคิดเป็น 40.32% สูงกว่าแผนวางไว้ 45,225.54 ล้านบาท คิดเป็น 31.28%

เมื่อดำเนินการตามแผนฯแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงไม่น้อยกว่า 2% จากเดิมอยู่ที่ 14.4% สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 40% ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 60% ความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้น 100% สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้น 19% ลดความสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี และขีดความสามารถในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 1.40 ล้านเที่ยว/ปี (ปี 2567)


กำลังโหลดความคิดเห็น