xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” พร้อมกลั่นกรองข้อเสนอศาล อ้าง ม.44 ใช้เด้ง ขรก.เพื่อความเร็ว - ปธ.คตร.แย้มโกง สปสช.ชัดพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกลั่นกรอง 7 ข้อเสนอศาล ไม่ใช่ว่าเอาทั้งหมด รับบางเรื่องก็คอขาดบาดตายจริงๆ งงทำไมไม่ท้วงประเด็นเปลี่ยนประธานศาลฎีกาทุกๆ กี่ปี อ้างใช้ ม.44 เด้งข้าราชการหวั่นช้า ยันพวกโดนโยกได้มาอยู่สำนักนายกฯ ชี้ปัญหาโกงเหตุคนไทยเห็นแก่หน้าไม่กล้าทำอะไรกัน แนะนายกฯ อย่าดูชื่อใครบ้าง เผย “ประยุทธ์” บอกถ้ามีโกงก็ส่งมาอีกได้ ด้าน ปธ.คตร.แย้มคดีทุจริต สปสช.น่าจะชัดพรุ่งนี้ ส่วนคุรุสภาขอเวลาอีกหน่อย


วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของศาลยุติธรรม ที่มีความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ 7 ข้อว่า ตนทราบว่าศาลยุติธรรมเตรียมส่งข้อเสนอดังกล่าวมาให้รัฐบาล เนื่องจากเขาไม่สิทธิ์จะขอแก้ เมื่อส่งมาแล้วรัฐบาลก็จะกลั่นกรองอีกครั้งเพื่อเป็นข้อมูลไปสู่ขั้นแปรญัตติ ไม่ใช่ว่าจะเอาตามที่เขาเสนอมาทั้งหมดซึ่งรวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอ 7 ข้อของศาลยุติธรรมนั้น ตามที่ตนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์บางข้ออาจไม่มีอะไร เป็นการเสนอขึ้นมา แต่บางข้อก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเขาจริงๆ แต่ตนก็แปลกใจว่าทำไมไม่อยู่ใน 7 ข้อเสนอ เช่น การให้เปลี่ยนประธานศาลฎีกาในทุกๆ กี่ปี่ ทำไมเขาไม่ท้วง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของสมบัติผลัดกันชม

นายวิษณุให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงผลประชุมคณะกรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ว่า เหตุผลที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการเนื่องจากหากใช้กระบวนการตามปกติ จะเกิดความล่าช้า เพราะกว่าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จะอนุมัติ อาจใช้เวลาหลายเดือน ส่วนตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนโยกย้ายออกเข้ามาทำหน้าที่ รัฐบาลกำลังตัดสินใจแต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอนทุกคนจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี อาจเป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากใช้คำว่าโกงเพราะหลายคนสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร

เมื่อถามว่าจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า หากบุคคลใดไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่จะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด นายวิษณุกล่าวว่า อาจไม่ถึงกับเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยละเอียด แต่จะเขียนในภาพกว้างเพราะสภาต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หากทำได้จริงก็จะเข้ามาช่วยตรวจสอบข้าราชการอยู่แล้ว วันนี้ปัญหาของการทุจริตคือคนไทยเห็นแก่หน้ากัน ไม่กล้าทำอะไรกันมาก ความจริงตนได้เรียนกับนายกฯไปว่าไม่ต้องไปดูรายชื่อว่าเป็นใครบ้างเพราะหากไปดูจะเกิดความรู้สึก สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องยอมรับคือทุกหน่วยงานรายงานมาให้รัฐบาลทราบ เรามีหน้าที่จัดประเภทและสอบถามไปยังต้นสังกัดว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว หากอยู่ในขั้นสอบสวนก็ขอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัด แต่รายไหนที่นั่งทับตำแหน่งตัวเองอยู่โดยไม่ทำอะไร รัฐบาลมีหน้าที่เข้ามาดำเนินการ ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือทำให้การตรวจสอบการทุจริตมีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการปฏิรูป

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ตนไม่ห่วงข้าราชการระดับล่างเท่าข้าราชการระดับบนรวมถึงนักการเมืองด้วย อย่างไรก็ตามนายกฯ ได้มอบคำสั่งว่าหากนายกฯ กลับจากการปฏิบัติภารกิจระหว่างประเทศแล้ว หน่วยงานต่างๆ สามารถส่งรายชื่อข้าราชการที่ส่อว่าทุจริตเข้ามาได้อีก ส่วนนักการเมืองหรือข้าราชการใครทุจริตมากกว่ากันนั้น มองว่านักการเมืองไม่มีโทษทางวินัย และเราจะไปโยกย้ายเขาไม่ได้ หากจะจัดการต้องมีการฟ้องร้องเพียงอย่างเดียว ส่วนข้าราชการสามารถโยกย้ายได้

ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า พรุ่งนี้จะมีการประชุม และจะสรุปกัน น่าจะมีความชัดเจนพรุ่งนี้ ส่วนการตรวจสอบการทุจริตในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สก.สค.) นั้น ต้องไปตรวจข้อมูลอีกรอบก่อน เพราะองค์การค้าคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ ต้องขอเวลาอีกหน่อย



กำลังโหลดความคิดเห็น