ถึงคิว “เกาะเต่า” “ธนารักษ์” รับลูก คสช.จัดระเบียบ เล็งยึดคืน “รีสอร์ต-โรงแรม-เกสต์เฮาส์-บ้านเช่า กว่าครึ่ง จาก 128 แห่งทั่วเกาะ หลังพบปัจจุบันมีการเช่าเพียง 10% จากชาวบ้านที่อยู่มานานกว่า 30 ปี เหตุทำสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง ย้ำต้องชัดว่า เพื่ออยู่อาศัย หรือที่อยู่เชิงพาณิชย์ เผย “คนเกาะเต่า” ยังติดปัญหาเอกสารสิทธิจากพื้นที่ราชพัสดุ พบที่ดินเปลี่ยนมือ ราคาซื้อขายไร่ละ 30 ล้านบาท
วันนี้ (15 เม.ย.) มีรายงานว่า นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้รับรายงานถึงการลงตรวจพื้นที่ราชพัสดุบนเกาะเต่า พื้นที่เทศบาลตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พบว่ามีผู้บุกรุกใช้ที่ราชพัสดุไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก มีทั้งนำไปทำเป็นพื้นที่ก่อสร้างรีสอร์ท หรือไปหาประโยชน์ทางด้านอื่น
“รัฐบาล และ คสช.ได้มีนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการจัดระเบียบการบุกรุกที่ป่าและที่ราชพัสดุ โดย กรมธนารักษ์ตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะเข้าไปดูในส่วนของผู้บุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ลาดเอียงซึ่งจะไม่ให้มีการทำประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวอีกต่อไป เพราะถือเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง และมีความสำคัญในการทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้ที่ทำประโยชน์บนที่ราชพัสดุในเกาะเต่า แต่ทำสัญญาไม่ถูกต้อง และไม่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง ก็จะให้มาดำเนินการให้ถูกต้อง โดยทำสัญญาระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่าเป็นการใช้พื้นที่ในลักษณะเพื่อที่อยู่อาศัย หรือที่อยู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เสียค่าเช่าให้ถูกต้องต่อไป
“โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าไปทำประโยชน์แล้วต้องนำเข้าสู่ระบบการจ่ายค่าเช่ารายปีสำหรับที่ราชพัสดุ เพื่อนำมาหารือในคณะกรรมการจัดสรรประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ และส่งให้คณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย”
รายงานข่าวระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า เกาะเต่ามีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี เป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ยังพบว่าเกาะเต่ามีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมดำน้ำรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ยังเป็นคนในท้องถิ่นประมาณ 60-70%
ข้อมูลจากเทศบาลตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ปัจจุบันเกาะเต่ามีห้องพัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ และบ้านเช่า 128 แห่ง รวมกว่า 4,000 ห้อง มีโรงเรียนหรือสถาบันสอนดำน้ำ 45 แห่งในลักษณะแฟรนไชส์
ข้อมูลยังระบุว่า ปัญหาสำคัญของเกาะเต่า คือ ปัญหาเอกสารสิทธิ เพราะเกาะเต่าทั้งเกาะเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ การครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องเช่าจากกรมธนารักษ์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการเช่าเพียง 10% เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่มานานกว่า 30 ปี ไม่ยอมรับว่าเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้
“ดังนั้นการซื้อขายที่ดินบนเกาะเต่ามีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งการเปลี่ยนมือที่ดินมีมากขึ้น ราคาซื้อขายไร่ละประมาณ 30 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเว็บไซต์ซื้อขายที่ดินบริเวณเกาะเต่า ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ โดยบางรายมีอายุสัญญาเช่า 30 ปี (ปี 2555-2585) และอ้างว่าสามารถต่ออายุสัญญาได้อีก 30 ปี โดยเมื่อหมดสัญญาสามารถต่อได้ตลอดไปเนื่องจากที่ดินเกาะเต่าทั้งเกาะเป็นของกรมธนารักษ์
ในเว็บไซต์ซื้อขายที่ดินเกาะเต่ายังระบุว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะที่จะสร้างเป็นรีสอร์ต หรือสร้างบ้านขายเนื่องจากเป็นแหล่งดำน้ำหลักในพื้นที่เดียวกัน โดยผู้ขายบางรายระบุว่าที่ดินมีหน้ากว้างของที่ดินติดหน้าทะเล นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาว่า ทุกปีๆ จะมี ฉลามวาฬ มาว่ายน้ำเล่นบริเวณดังกล่าวให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพ
ข้อมูลของเทศบาลเกาะเต่ายังระบุว่า เทศบาลเกาะเต่ามีงบประมาณประจำปีเพียง 23 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ มีงบฯลงทุนเพียง 4-6 ล้านบาท ไฟฟ้า ประปา ไม่เพียงพอสำหรับการท่องเที่ยว
โดยคนเกาะเต่าระบุว่า อยากเห็นโมเดลที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องเอกสารสิทธิ
ทั้งนี้ เกาะเต่าถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาพักผ่อน โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีข่าวกระฉ่อนอื้อฉาวไปทั่วโลกจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของ 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ อย่างมีเงื่อนงำ
รายงานระบุด้วยว่า นอกจากกรมธนารักษ์จะเข้าไปดูเรื่องพื้นที่ก่อสร้างรีสอร์ต หรือไปหาประโยชน์ทางด้านอื่นบนเกาะเต่า ยังจะเข้าไปเจรจากับเอกชน เพื่อหาข้อยุติ เช่น
1. ที่ราชพัสดุแปลงหมอชิต กับกลุ่มบริษัท บางกอกเทอร์มินอล (บีเคที) ซึ่งที่ผ่านมา บีเคที แสดงความพร้อมลงทุน 20,000 ล้านบาท เป้าหมายพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์
2. ที่ราชพัสดุโรงภาษีร้อยชักสาม ซอยเจริญกรุง 36 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีกลุ่มมาลีนนท์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท แนเชอรัล พาร์ค
3. ที่ราชพัสดุแปลงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลล็อปเม้นท์ ที่เคยมีแผนลงทุนขยายเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติในระดับสากล มูลค่าโครงการกว่า 5,000 ล้านบาท
4. ประสานกับทหารจัดระเบียบที่ราชพัสดุที่เอกชนบุกรุกเข้าหาประโยชน์ เช่น ที่สวนผึ้ง จ.กาญจนบุรี พื้นที่แถบโคราช ที่ถูกเอกชนบุกรุกพื้นที่ทำรีสอร์ต โดยจะลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงที่ถูกบุกรุกทั้งหมด เพื่อขอคืนพื้นที่