นายกรัฐมนตรีเผยกรณี ป.ป.ท.ส่งรายชื่อข้าราชการ 100 รายเอี่ยวทุจริต เตรียมเรียกประชุม เผยไม่ทราบคดีเก่าหรือใหม่ ไม่ตอบใช้มาตรา 44 จัดการหรือไม่ ระบุอย่างไรก็ต้องใช้กฎหมายปกติ เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายประสงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ส่งรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตกว่า 100 รายเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ว่า หลังจากที่เลขาฯ ป.ป.ท.ได้ส่งรายชื่อข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำทุจริตเข้ามาก็จะมีการเรียกประชุม เพราะมีหลายหน่วยงานที่ส่งรายชื่อและก็ได้มีการรวบรวมส่งมาให้ตนก็จะให้แต่ละหน่วยงานได้มาชี้แจงว่ามีเหตุผลและสาเหตุอย่างไร เพราะมีคดีความทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรกันต่อ
เมื่อถามว่า เป็นคดีเก่าที่มีการตรวจสอบกันอยู่แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเก่าหรือไม่ก็คงต้องไปถามแต่ละหน่วยงาน ตนเพียงแต่บอกว่าอะไรก็ตามตั้งแต่วันที่ตนเข้ามา 22 พ.ค. 57 แล้วยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนก็ให้เข้าดำเนินการเสีย ตนไม่ได้เร่ง แต่ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า เท่าที่ได้ดูมีจำนวนกี่ราย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เยอะมาก ยอมรับว่ามีข้าราชการระดับผู้ใหญ่ตั้งแต่อธิบดีขึ้นไปก็มี” ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับที่ดินโบนันซ่า จ.นครราชสีมาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่เห็น
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้มาตรา 44 ในการดำเนินการให้เด็ดขาดเลยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้อนถามว่า มาตรา 44 ใช้ทำอะไรได้บ้าง มาตรา 44 อย่างไรก็ต้องใช้กฎหมายปกติ ในมาตรา 44 ให้อำนาจทหารเข้าไปทำงานได้เพื่อช่วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะทหารมันไม่มีอำนาจ ดังนั้นเมื่อทหารเข้าไปก็สามารถมีอำนาจเข้าไปตรวจค้น ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงทรัพย์ก็ต้องไปพร้อมกันกับเรา เวลาจับกุมก็ต้องใช้กฎหมายป่าไม้ สอบสวนด้วยกฎหมายป่าไม้ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เดี๋ยวจะหาว่าเราไปบังคับและใช้กฎหมายพิเศษซึ่งเราไม่ทำ
“ดีกว่าไอ้บางพวกใช้กฎหมายปกติ แต่ทำให้พิเศษขึ้น ที่ผ่านมาใช้กันแบบนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ถือเป็นการปฏิรูปข้าราชการที่ทุจริตหมดไปจากแผ่นดินไทยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไมดุเดือดจัง และครั้งนี้ไม่ใช่การเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ทุกอย่างทำไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการส่งข้อมูลเข้ามาเช่นนี้ก็ต้องไปดูว่าคดีความขนาดไหนถ้าร้ายแรงก็ต้องสอบสวน ถ้าผิดก็ต้องปลดและดำเนินคดีทางอาญา แต่หากเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำผิดเพราะต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก็ต้องมาดูว่าเหตุผลที่ทำไปนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะมีอำนาจทางการปกครองเหมือนกับการทำงานที่ทุกคนก็ต้องกลัวหัวหน้า