ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 23 ชม “ภาณุ-สุรยุทธ์” ให้เยาวชนเขียนปัญหาที่อยากแก้ ก่อนแจงไฟใต้ถูกโยงชนชั้นคลาดเคลื่อน ยันไทยพุทธ-อิสลามไม่แบ่งแยก กังวลคนไม่เอื้ออาทรทำระแวงทางศาสนา และเลขาฯ ศอ.บต.เร่งแก้ไข ลั่นคนไทยต้องตอบแทนคุณแผ่นดินและพระเจ้าอยู่หัว รัฐต้องให้ความเป็นธรรม จี้ช่วยกันแก้มาตรฐานการศึกษา
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 23 โดยมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันสนับสนุนจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อให้เยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล จำนวน 240 คนได้เข้าร่วมการเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอุปถัมป์ใน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ กทม. นนทบุรี นครนายก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระบุรี สมุทรปราการและอ่างทอง ระหว่างวันที่ 9-24 เม.ย. 58 รวมถึงได้ทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เกิดความรัก ความเมตตาและความห่วงใย โดยภายในงานมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะประธานโครงการฯ ผู้แทน ผบ.เหล่าทัพ และภาคเอกชนเข้าร่วม
ทั้งนี้ พล.อ.เปรมกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า เราทำโครงการนี้มาได้ 23 รุ่น มีเยาวชนร่วมโครงการฯกว่า 5,000 คน ในรุ่นนี้นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินงานตามคำแนะนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ ทำแบบสอบถามความรู้สึกของเด็กเป็นอย่างไร โดยใช้หัวข้อที่เราเคยใช้กับโรงเรียนคุณธรรมมาแล้วจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯนั้นที่ให้องคมนตรีทำโครงการศึกษาเน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐาน โดยตนเป็นประธานโครงการ และพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นประธานดำเนินการคือให้เยาวชนเขียนถึงความรู้สึก 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องปัญหาที่เด็กอยากแก้ไข และ 2. ความดีที่เด็กอยากทำ ทั้งนี้ นายภาณุได้ส่งรายงานมาให้ซึ่งตนขอชมเชยทั้ง 2 คนเพราะถือเป็นเรื่องดีมากๆ เราจะได้รู้ว่าเด็กต้องการแก้ปัญหาอะไร และความดีที่เด็กจะทำให้ชาติบ้านเมืองของเราคืออะไร
พล.อ.เปรมกล่าวต่อว่า ทั้งนี้มีบางอย่างที่ตนอ่านจากรายงานและคิดว่าน่าจะต้องทำความเข้าใจกับพวกเราที่ดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งผู้ปกครองเด็ก โรงเรียนปอเนาะของชาวไทยอิสลาม คือความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำไปไปโยงกับการแบ่งแยกชนชั้น โดยนายภาณุเขียนถึงประเด็นนี้ทำให้เข้าใจคาดเคลื่อน เนื่องจากจริงๆแล้วไม่ได้แบ่งแยกกันแต่อย่างใด ทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม นอกจากนี้ตนมีความกังวลใจเท่าที่อ่านรายงาน นั่นคือในชุมนุมต่างๆ จะต่างคนต่างอยู่ไม่เอื้ออาทรต่อกัน และแย่งชิงผลประโยชน์กันจนเกิดความระแวงกันในศาสนา ตรงนี้ต้องไปแก้ไขในรายงาน เพราะอาจจะเข้าใจผิดได้ โดยคนที่ควรจะไปขอคำแนะนำเพื่อประกอบการศึกษา คือ พล.อ.สุรยุทธ์ เพราะมีความชำนาญในเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตาม เอกสารที่นายภาณุจัดทำขึ้นมีเพียงตนและ พล.อ.สุรยุทธ์ สองคนเท่านั้นที่ได้อ่านซึ่งไม่ควรปล่อยให้สับสนหรือเข้าใจไม่ตรงกัน ก็ควรแก้ไขให้ถูกต้อง
“ผมดีใจที่นายภาณุเอาหัวข้อนี้ไปใช้ เพราะเราจะได้รู้ว่าเด็กอยากแก้ไขปัญหาอะไร และอยากทำความดีอะไร เป็นสิ่งที่ดีมากๆ แต่เราต้องควรให้ความถูกต้องกับเด็กด้วย
ที่ผ่านมาพูดมาแล้ว 22 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 23 ที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ 5 จังหวัดนั้น ที่รวม จ.สตูล และ จ.สงขลาเข้ามาด้วย โดยสิ่งที่จะทำอย่างรวดเร็วคือต้องแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนคือเรื่องความเป็นไทย เมื่อเป็นคนไทยต้องตอบแทนคุณแผ่นดินและจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับเรื่องความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ควรได้รับจากรัฐและคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าเรายึดมั่นหลักนี้แล้ว ความเข้าใจผิดหรือความคาดเคลื่อนก็จะลดน้อยลง ผมก็ขอให้รับไปทำ แก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้เด็กเข้าใจตรงกันว่าความแตกแยกทางศาสนา หรือความเข้าใจผิดในศาสนา ถือเป็นเรื่องในอดีต ไม่ใช่เรื่องในปัจจุบันแล้ว” พล.อ.เปรมกล่าว
พล.อ.เปรมกล่าวต่อว่า สำหรับการศึกษาใน 5 จังหวัดในภาคใต้ที่ไม่ได้มาตรฐานก็ต้องช่วยกันแก้ไข ส่วนปัญหาความยากจน รัฐต้องทำให้คนมีการศึกษา ควรเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษากับความยากจน เพื่อที่จะทำให้ลดลง ประกอบกับทางผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพก็สามารถช่วยเหลือได้ แม้แต่องค์กรศาสนาก็ช่วยได้ด้วยเช่นกัน