“วิษณุ” เผยนายกฯ มีแนวคิดดึงนักวิชาการจากต่างประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะเยอรมนี-ฝรั่งเศสมาให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมให้เล่าถึงประเทศที่มีวิกฤตการเมืองจนนำไปสู่การปฏิรูปเหมือนประเทศไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการ ยันไม่ให้เข้ามาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ แต่มาให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่จะให้นักวิชาการจากต่างชาติมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 2558 ว่า เท่าที่คุยกันครั้งล่าสุดอาจจะมีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่เท่าที่ทราบตามความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือจะมีคณะทำงานชุดหนึ่งทำหน้าที่ประสานงาน ประกอบด้วยหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และพึ่งพาสถาบันอุดมศึกษา และกระทรวงการต่างประเทศ มาช่วยกันคิดและแนะนำว่ามีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องเป็นจากประเทศฝรั่งเศสหรือเยอรมนี อาจจะเป็นประเทศอื่นก็ได้
นายวิษณุกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพูดเพียงยกตัวอย่างเท่านั้น และจะเอาตามความสะดวกเราก็คงไม่ได้เพราะเราต้องการความรวดเร็ว ต้องดูความสะดวกของฝั่งที่จะเชิญมา และต้องดูเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย นายกรัฐมนตรีก็บอกให้คุยกับทางนิด้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสถาบันพระปกเกล้า กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมีประสบการณ์ไม่นานมานี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาพูดก่อนแล้ว เราก็ต้องการตรงนี้ เชิญมาอธิบาย มาตอบคำถาม ไม่ใช่ให้มาวิจารณ์รัฐธรรมนูญไทย เพราะเราเองยังไม่มีเวลาจะไปวิจารณ์เลย ฉะนั้นจะให้เขามาเล่ามากกว่า แล้วให้คนไทยที่เคยไปเรียนที่นั่นมาช่วยซักถาม โดยถือหลักว่าคนที่เชิญมาต้องเป็นกลาง
“คือนายกฯ เกิดความคิดว่าประเทศเราเกิดวิกฤตและนำมาสู่การยึดอำนาจ นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การปฏิรูป มันมีประเทศที่มีลักษณะคล้ายกัน อาจจะไม่ครบชุดอย่างเรา แต่คล้ายกันคือเกิดวิกฤตและเกิดความเปลี่ยนแปลง และทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งพอพูดอย่างนี้ทุกคนก็บอกว่าเยอรมนีกับฝรั่งเศส โดยเฉพาะฝรั่งเศสปฏิวัติมาไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว ปฏิวัติมีกษัตริย์ แล้วก็ล้มกษัตริย์ ปฏิวัติใหม่ แล้วก็มีประธานาธิบดี แล้วล้มประธานาธิบดีกลับไปมีกษัตริย์ ตอนนี้เขาถึงเรียกว่าสมัยสาธารณรัฐที่ 5 เพราะมันผ่านการเป็นสาธารณรัฐมาแล้ว 4 หน มีกษัตริย์มา 4-5 หน นี่คือตัวอย่างว่าจะเชิญมา ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ ตอบว่าเร็วที่สุด เพราะว่ามาตอนรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ไม่มีประโยชน์ แต่ขอย้ำว่า 1. ไม่ได้ให้มาวิจารณ์รัฐธรรมนูญไทย 2. ไม่ได้มาสอนคนไทย ให้มาเล่าเรื่องของเขา เขาไม่ต้องพูดเรื่องเมืองไทยสักประโยคเดียว พูดเรื่องของเขา แต่เราอยากรู้อะไรค่อยถามเขา”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้จะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็แล้วไป แล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่เห็นด้วยก็เลิกหรือ ก็รู้ว่าแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพียงแต่มันได้ประโยชน์ที่จะได้เรียนรู้ น่าจะทำมาก่อนหน้านี้ แต่ว่าตอนนั้นก็นึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ วันนี้มันมีหลายประเด็นที่น่าจะฟัง ย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้ไปลอกของเขามา
สำหรับรูปแบบการแลกเปลี่ยนกับต่างชาตินั้น นายวิษณุกล่าวว่า เคยทำมาแล้วหลายครั้ง จะเปิดเผยทุกอย่าง ให้สื่อเข้าฟังด้วย ดีไม่ดีจะออกอากาศแทนรายการคืนความสุขให้คนในชาติด้วย ฟังจนจบเลย แต่ยังไม่รู้จะใช้เวลานานหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่รู้จะเชิญใครเลย ไม่รู้จะเชิญประเทศอะไร มาเมื่อไหร่