“ไก่อู” แจงรัฐเร่งคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำความจริงให้ปรากฏ กันถูกใช้เป็นวาทกรรมไม่จบ ยันเปลี่ยนทีมสอบสลายแดงไม่มีผลคดี มั่นใจมีข้อมูล พยานชัด ขอสื่อช่วยสะท้อนความจริง ชี้ 5 กลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ ยังไม่เกิดเหตุสังคมยังไม่เห็น รัฐต้องใช้ ม.44 คุม ย้อน พท.เซ็น MOU เลิกขัดแย้ง ไม่มีชาติไหนทำ
วันนี้ (8 เม.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่แกนนำเสื้อแดงมีข้อสงสัยการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดี 99 ศพ จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ชุดใหม่นั้น รัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการเร่งรัดให้คดีความต่างๆ เข้าสู่กระบวนการ โดยรัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่ให้รื้อคดีต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่เพื่อสามารถเดินหน้าไปได้ เพราะหากวันนี้ไม่สามารถทำความจริงให้ปรากฏขึ้นได้ก็จะเป็นข้อสงสัย เป็นผลให้มีการนำไปใช้เป็นวาทกรรม สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน รัฐบาลมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีข้อมูล หลักฐาน พยานชัดเจน ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูล หลักฐานและพยานที่มีอยู่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามเปลี่ยนหลักฐานสำนวนข้อมูลต่างๆ ก็ตาม
เมื่อถามว่าสิ่งที่แกนนำเสื้อแดงเป็นห่วงก็เพราะคนในรัฐบาลชุดนี้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ด้วย พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ก็รัฐบาลไม่ใช่คนตัดสินว่าใครถูกใครผิด คนตัดสินคือกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ต้องทำอย่างนี้ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการนั้นก็ไม่ใช่เรื่องลับ แต่เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนรับทราบกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนเองซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่ควรเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ทุกคนเรียกร้องถึงเสรีภาพแต่ไม่เคยพูดถึงหน้าที่ จึงอยากให้ช่วยกันสะท้อนในความเป็นจริงให้สังคมได้รับทราบ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ในวันนี้สังคมอาจมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวของ 5 กลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นภัยต่อบ้านเมืองจึงต้องใช้มาตรา 44 เพื่อดูแลความสงบ เพราะยังไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพราะที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกบุคคลกลุ่มต่างๆ เข้ามาพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีด้วยกันหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่เสียผลประโยชน์ ประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปฏิรูป กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง รวมทั้งกลุ่มที่สร้างสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ ไม่สามารถไว้วางใจได้ รัฐบาลจึงไม่สามารถปล่อยปะละเลยได้
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนกรณีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งมาเซ็นต์เอ็มโอยูเพื่อยุติปัญหานั้น มองว่าที่นี่คือประเทศไทย ไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานใดที่จะต้องมาเซ็นเอ็มโอยู เรื่องของการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมีความจำเป็นต้องเซ็นเอ็มโอยูหรือไม่ การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเคารพกติกาและเข้าใจในสถานการณ์ รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ ยุติธรรม จึงได้นำเรื่องต่างๆ เข้าสู่กระบวนการ แต่ที่ผ่านมาเป็นไปได้ว่ามีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรู้สึกเสียประโยชน์ หรือร้อนตัวว่าเคยทำอะไรมา จึงเกิดอาการต่อต้าน
“การทำเอ็มโอยูมันเกิดประโยชน์หรือ ถ้าทำแล้วจะทำได้จริงหรือเปล่า แล้วข้อตกลงต่างๆ จะมีอะไรบ้าง จะกลายเป็นว่าต่อไปนี้รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องมาเซ็นเอ็มโอยูกับคนในประเทศ มีประเทศไหนเขาทำบ้าง” รองโฆษกรัฐบาลกล่าว