ประชุม สนช.ถกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันหนุนการเงินก่อการร้าย-ฟอกเงิน-ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม “วิษณุ” แจงโยก ปปง.จาก ก.ยุติธรรมไปอยู่สังกัดนายกฯ เปลี่ยนกรรมการ ปปง.เสนอรายชื่อเลขาฯ ให้นายกฯ พิจารณาแทน ส.ส.-ส.ว. ให้ผู้ทรงคุณวุฒินั่งประธานแทนเพื่อความคล่องตัวเพิ่มประสิทธิภาพทำงาน วางมาตรการเข้มกันตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง ก่อนมีมติรับหลักการวาระแรก
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่...) พ.ศ...., ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ... และ 3. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันและเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยองค์กรระหว่างประเทศจะมีการตรวจสอบประเมินสถานการณ์ของไทยในปี 2559 ทั้งนี้ได้พิจารณาไปพร้อมกันทั้ง 3 ฉบับ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่...) พ.ศ... มีหลักการสำคัญ คือ เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยแก้ไขหลักเกณฑ์การประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาพฤติการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการดำเนินการแทนของบุคคลหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนด ที่ต้องมีพฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดพร้อมกับปรับปรุงบทกำหนดโทษกรณีบุคคลที่ถูกกำหนดหรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินชองบุคคลที่ถูกกำหนดหรือการดำเนินการของนิติบุคคล ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและสถาบันการเงิน เพิ่มลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นฐานการฟอกเงิน ปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และของคณะกรรมการธุรกรรม โดยกำหนดวิธีการสรรหา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แก้ไขเพิ่มเติมการมีคำสั่งการยับยั้งการทำธุรกรรมในการรายงานต่อ ปปง.และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ที่ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมการธุรกรรม กำหนดให้สำนักงาน ปปง.มีอำนาจเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานของรัฐและส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย นอกจากนี้ยังให้อำนาจในการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยกำหนดให้สำนักงาน ปปง.สามารถมีหรือใช้ และพกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียม อาวุธปืน ตลอดจน ยุทธภัณฑ์ตามที่กฎหมายนี้กำหนด นอกจากนี้ ให้เลขาธิการ ปปง.ขึ้นตรงต่อนายกฯ จากเดิมที่ขึ้นตรงต่อ รมว.ยุติธรรม และต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 จากเดิม 4 ปี และเพิ่มบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยกำหนดให้เลขาธิการ ปปง.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานและขึ้นตรงต่อนายกฯ จึงสมควรให้สำนักงาน ปปง.เป็นหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและเป็นห่วงในกรณีที่ให้ ปปง.ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่ขึ้นตรงต่อ รมว.ยุติธรรม และกรณีที่ในอดีตมีการใช้ ปปง.เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นผู้เสนอต้องชี้แจงว่าการให้ ปปง.ขึ้นตรงต่อนายกฯ ดีกว่าการขึ้นตรงต่อ รมว.ยุติธรรมอย่างไร รวมถึงการแก้ไขประเด็นการเลือกเลขาธิการ ปปง. ที่จากเดิมต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ส.และ ส.ว. แต่มีการแก้ไขเป็นให้คณะกรรมการ ปปง.เป็นผู้เสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยเกรงว่าการเขียนลักษณะนี้ไม่มีความเป็นอิสระ กลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายและทำร้ายนักการเมือง จึงเห็นว่า ควรกลับไปใช้รูปแบบเดิมที่ ส.ส.และส.ว.มีส่วนร่วมในการคัดเลือกซึ่งสามารถควบคุมดูแลการทำหน้าที่ได้
ด้านนายวิษณุชี้แจงว่า สถานะของ ปปง.ที่ผ่านมาก็ลอยๆ อยู่แล้ว แม้จะขึ้นตรงต่อ รมว.ยุติธรรม แต่หลายเรื่องก็ต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี การให้ ปปง.มาขึ้นตรงนายกรัฐมนตรีจะเกิดผลดี คือ ทำให้เกิดความคล่องตัวกว่าที่สังกัด รมว.ยุติธรรม เพราะหัวหน้ารัฐบาลสามารถดูแลรับผิดชอบได้มากกว่าน่าจะให้หลักประกันเรื่องความเป็นธรรม นิติธรรม และประสิทธิการทำงานได้ดีกว่าในอดีต และ ปปง.ไม่ได้ทำงานโดดเดี่ยว แต่ประสานกับหน่วยงานอื่นจำนวนมาก อาจประสบปัญหาในการทำงาน จึงต้องอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี เมื่อนำมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจการผลักดันขับเคลื่อนส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งการขึ้นตรงต่อนายกฯ ทำให้เกิดความไว้วางใจต่อนานาชาติได้ดีกว่า
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการแต่งตั้งเลขาธิการ ปปง. จากเดิมที่นายกฯ คัดเลือกแล้วส่งให้ ส.ส.และส.ว.พิจารณา มีการแก้ไขให้คณะกรรมการ ปปง.เป็นผู้เสนอชื่อมายังนายกรัฐมนตรีเลือกว่าจะเอาหรือไม่ แต่หากนายกฯ ไม่เอา ไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นได้ แต่จะต้องส่งกลับไปยังคณะกรรมการ ปปง.เพื่อเสนอมาใหม่ นอกจากนี้ยังทำให้ ปปง.ปลอดจากข้อครหาเรื่องการเป็นเครื่องเมืองทางการเมือง เพราะให้นักการเมืองออกไปจาก ปปง.หมด โดยกำหนดให้ประธาน ปปง.ต้องไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นนายกฯ รองนายกฯ หรือรัฐมนตรี ไม่สามารถมานั่งเป็นประธาน ปปง. เพราะกฎหมายใหม่ระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่เป็นประธาน ปปง.ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการปปง.รอดจากข้อครหาเรื่องการเป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่วนที่ สนช.ช่วยกันแนะนำถึงเรื่องที่จะเกิดในอนาคต รัฐบาลจะรับไปพิจารณา
ส่วนประเด็นการพ้นจากตำแหน่งของเลขาธิการ ปปง. จากเดิมที่กำหนดห้ามไม่ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น การให้เลขาธิการ ปปง.พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังนั่งเฝ้า ปปง.จะเป็นปัญหาต่อ ปปง.เอง เพราะยังมีอำนาจบารมีแฝงอยู่ ทำให้คนใน ปปง.เกิดความเกรงใจจึงต้องแก้ไขใหม่ให้เลขาธิการ ปปง.เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ต้องไปอยู่กระทรวงอื่น ยกเว้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ปปง.
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับฟังการชี้แจงครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 21 คนพิจารณาร่วมกัน