xs
xsm
sm
md
lg

คาดสัปดาห์หน้าทบทวนร่างสุดท้ายรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธ “บวรศักดิ์” เปรียบ ปชต.แบบไทยๆ “เผด็จการพ่อขุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยสัปดาห์หน้าเตรียมทบทวนร่างสุดท้าย คาดทบทวนประเด็นที่โต้แย้งมาก ทั้งที่มาของนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. ยังไม่ได้คุยว่าจะเปลี่ยนแปลงร่างปรองดองเปิดช่องอภัยโทษใครก็ได้หรือไม่ แจง “บวรศักดิ์” เผด็จการพ่อขุน ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่เปรยที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญของไทยนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น แต่ระบบการเมืองถ้าแบบไทยจริงๆ ก็ระบบพ่อขุน

วันนี้ (29 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างสุดท้ายของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องรอการประชุมในสัปดาห์หน้า ว่า จะมีการทบทวนประเด็นใดบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะทบทวนประเด็นหลักๆ ที่มีการโต้แย้งมาก เช่น กรณีที่มานายกรัฐมนตรี เพราะในชั้นที่มีการอนุมัติหลักการชั้นแรกเคยมีข้อเสนอสองข้อ คือ มีเงื่อนไขในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก ส.ส. ให้มีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 ปี หรือ ให้ใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดสองในสามของสภาผู้แทนราษฎร หากทบทวนคงนำเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเด็นที่มีข้อเสนอมากคือ อยากให้มี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด เป็นระบบผสมผสานกับ ส.ว. สรรหา ก็อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มาการหารือกัน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย

นายคำนูณ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ประสานเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะถือว่ายังไม่เสร็จเรียบร้อย ถ้าทบทวนก็คงหลักการที่สำคัญจริงๆ ว่า ควรมีการปรับแก้หรือไม่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังมีจังหวะเวลาฟังความเห็น สปช. และตัดสินใจช่วงแปรญัตติ ทั้งนี้ การทำงานช่วง 60 วัน คือ วันที่ 25 พ.ค. ถึง 23 ก.ค. 2558 ถือว่าเวลาบีบรัด เพราะมีคำขอแก้มาก และจำนวนมาตราก็คงมากตามไปด้วย จึงต้องวางตารางเวลาในช่วงนั้นว่าจะมีการเชิญผู้ขอแก้ไขเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อไหร่ ดังนั้นต้องวางตารางทำงานอย่างเต็มที่ ประชุมทุกวันไม่เว้นเสาร์ - อาทิตย์

ส่วนเนื้อหาในบททั่วไปภาค 4 ที่บัญญัติว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเปรียบเสมือนให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์กับคณะกรรมการปรองดองที่จะอภัยโทษให้ใครก็ได้นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำตรงส่วนนี้หรือไม่ ทั้งนี้ จะเห็นภาพรวมที่เป็นร่างสุดท้ายของกรรมาธิการ ในสัปดาห์หน้า

นายคำนูณ ยังอธิบายกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาเปรียบเทียบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ต้องสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ เผด็จการพ่อขุน ว่า ตนก็ได้รับฟังอยู่ จึงเข้าใจว่านายบวรศักดิ์ ไม่ได้หมายความว่า เผด็จการพ่อขุนคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้ฟัง หลังจากมีเสียงวิจารณ์มาก ว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันเหม็นกลิ่นนมเนยนั้น ความจริงแล้วการร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น เพราะเราไม่เคยมีการปกครองระบบรัฐสภา และประชาธิปไตย จึงเป็นการนำเข้า ไม่มีอะไรของไทยแท้ ทำให้ต้องมาประยุกต์ แล้วก็เปรียบเทียบว่า ถ้าแบบไทยจริงๆ ก็ระบบพ่อขุน แต่ไม่ได้หมายความว่าเผด็จการพ่อขุน คือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น