xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ชำแหละรัฐธรรมนูญ 79 ชั่วโมง 20-26 เม.ย.นี้ ยิงสดช่อง 11

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปช. วางกรอบอภิปรายรัฐธรรมนูญ 7 วัน พร้อมเปิดถ่ายทอดสดช่อง 11 เปิดประเด็นชำแหละเป้าหลักการเมือง ปรองดอง องค์กรสืบทอดอำนาจ พร้อมกำชับอย่าใช้วาจาห้ำหั่น



วันนี้ (26 มี.ค.) นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. โดยการอภิปรายในวันที่ 20 เม.ย. จะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น. ยกเว้นวันที่ 23 เม.ย. ที่จะเริ่มประชุมเวลา 14.00 - 21.00 น.รวมเวลาการอภิปราย 79 ชั่วโมง โดยมีการแบ่งเวลาอภิปรายดังนี้

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง วันแรกจะเป็นการเสนอภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2 ชั่วโมง เวลาในการชี้แจง 1 ชั่วโมง และวันต่อๆ ไปชี้แจงวันละ 2 ชั่วโมง ขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจะใช้อภิปรายทั้งหมด 64 ชั่วโมง แยกเป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 18 คณะ โดยส่งตัวแทนอภิปรายคณะละ 5 คน ใช้เวลาคณะละ 2 ชั่วโมง รวม 36 ชั่วโมง ขณะที่สมาชิก สปช. ที่เหลือ โดยตัดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเหลือผู้อภิปราย 137 คน ภายในระยะเวลา 28 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยคนละ 12 นาที

ส่วนกรณีที่มีกรรมาธิการแตจ้งความประสงค์ขออภิปรายเพิ่มเป็น 10 วัน ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุม ที่ระบุว่าต้องส่งเอกสารให้สมาชิกพิจารณาอย่างน้อย 3 วัน โดยกรรมาธิการจะส่งร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาในวันที่ 17 เม.ย. แต่สมาชิกได้ขออภิปรายตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. ทั้งนี้ การลำดับอภิปรายของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา 18 คณะ และอีก 137 คน จะใช้วิธีจับสลาก เพื่อจัดลำดับอภิปรายก่อนหลังให้เกิดความยุติธรรม

นายวันชัย กล่าวต่อว่า ประธานและที่ประชุม ยังเห็นชอบให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์รัฐสภา และยังอยู่ระหว่างประสานถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 ตลอด 7 วัน ขณะที่สถานีช่องอื่นก็สามารถร่วมถ่ายทอดสดได้ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ จะอภิปรายเกี่ยวภาระหน้าที่ของตน แต่จะอภิปรายประเด้นปฏิรูปอื่นได้ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักที่คณะกรรมาธิการและสมาชิกต้องการอภิปรายคือ เรื่องการเมือง การสร้างความปรองดอง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป องค์กรอิสระ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ในวันที่ 3 เม.ย. จะมีการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

“ที่ประชุมได้กำชับว่า การอภิปรายจะต้องไม่มีลักษณะใช้วาจาเข้าห้ำหั่น เอาชนะทางการเมือง หรือใช้อารมณ์ต่อกัน แต่ขอให้เอาเนื้อหาหลักการมาใช้ในการอภิปรายอย่างมีเหตุผล” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น