xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งบรูไนพระราชทานวโรกาสให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าเฝ้าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี และ สมเด็จพระราชินีแห่งบรูไน ณ พระราชวัง Istana Nurul Iman เพื่อหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย - บรูไน

วันนี้ (25 มี.ค.) เว็บไซต์สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ข่าวและภาพข่าวภารกิจ ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เวลา 15.00 น. (เวลาที่บรูไนเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติบรูไน จากนั้น นายกรัฐมนตรีและภริยา เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ณ พระราชวังอิสตานา นุรุล อิมาน ก่อนจะร่วมหารือข้อราชการ

บูรไนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญและใกล้ชิดต่อไทยและมีความโดดเด่น คือ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มั่นคง และมีความมั่นคั่ง อุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรน้ำมันด้วย

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสานต่อผลจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชาธิบดีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ณ นครปูซาน ให้มีผลเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมมือกับบรูไนฯ ทั้งในกรอบทวิภาคีและในระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงมีพระราชดำรัสเชิญเยือนบรูไน และทรงมีพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีอาวุโสสูงสุด และมีพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการพัฒนาบรูไน ตามวิสัยทัศน์ 2035 (Wawasan 2035) โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามพระราชประสงค์ในโอกาสแรก

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณรัฐบาลบรูไนที่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยและให้การสนับสนุนประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด

นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความประทับใจนโยบายการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ 2035 ของบรูไน โดยต้องการพัฒนาภาคเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และกล่าวขอบคุณประชาชนบรูไนที่นิยมบริโภคและนำเข้าข้าวไทย ซึ่งวันนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและบรูไนจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร โดยเสนอให้หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายหารือกันโดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการพัฒนาความร่วมมือด้านฮาลาล ซึ่งไทยชื่นชมความคิดริเริ่มของบรูไนในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายใต้สินค้า Brunei Halal และการจัดตั้งศูนย์ Bio Innovation Corridor (BIC) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

ทั้งนี้ ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าไปทำประมงในเขตทำการประมงสำหรับเรือประมงต่างชาติ (เขต 4 ในระยะ 45 - 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง) ในรูปแบบ Joint Venture ตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดโดยรัฐบาลบรูไน

ในโอกาสนี้ บรูไนแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยไทยพร้อมที่จะเสนอข้อมูลและรายละเอียดในโอกาสแรก เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน

สำหรับความร่วมมือด้านอื่นๆ นั้น ไทยพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการฝึกหลักสูตรด้านการทหารและความมั่นคงและการแลกเปลี่ยนนายทหารในหลักสูตรต่างๆ ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพบรูไน ด้วย

ไทยและบรูไนเห็นพ้องให้มีการเจรจาความตกลงและร่างบันทึกความเข้าใจ ทั้งด้านแรงงาน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และวัฒนธรรม ให้แล้วเสร็จในโอกาสแรก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณบรูไนที่สนับสนุนการทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - จีน ของไทย และมีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน - จีน ตลอดจนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอาเซียนในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม และนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย - บรูไน ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา ในเวลา 20.15 น.

ในโอกาสนี้ รองศาสตรจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มสตรีชั้นนำจากภาคส่วนต่างๆ ของบรูไน ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาสังตมตามวิสัยทัศน์ WAWASAN 2035 ของสมเด็จพระราชาธิบดี โดยเป็นแผนพัฒนาระยะยาวของบรูไน ที่มีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1. การมีประชากรที่มีการศึกษาและมีฝีมือระดับสูง 2. การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3. เศรษฐกิจที่มีพลวัตรและความยั่งยืน

โดยนายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ จะเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติบรูไนบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม โดยเที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 227 ถึงประเทศไทยในเวลา 10.25 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2558




กำลังโหลดความคิดเห็น