ตัวแทน กมธ.ยกร่างฯ - สปช.- สนช. กลับจากดูงานเลือกตั้งที่เยอรมนีแล้ว หลังได้รับเชิญให้ไปดูงาน “บวรศักดิ์” ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ รอแถลงข่าวทีเดียวจันทร์นี้ “เลิศรัตน์” บอกเข้าใจระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ประธาน กกต. เชื่อนำมาใช้ในไทยได้ ยืนยันไม่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ส่วนการตั้ง กจต. ยังเป็นแนวคิดใหม่ รอพิจารณารอบคอบ
วันนี้ (20 มี.ค.) ภายหลังจากที่รัฐบาลเยอรมัน ได้เชิญตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตัวแทนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ดูงานด้านการเลือกตั้ง ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 15 - 20 มี.ค. เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ พร้อมคณะ เดินทางกลับจากการเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมัน โดยนายบวรศักดิ์ ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังภายหลังเดินทางกลับจากการเดินทางตามคำเชิญของรัฐบาลเยอรมัน เพื่อดูงานระบบเลือกตั้ง ว่า คณะที่เดินทางไปมีความเข้าใจในระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีมากขึ้น เวลา 3 วันทำให้เห็นและเข้าใจระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ประธาน กกต. ได้มีโอกาสไปดูงานทุกแง่มุม จึงเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ ทั้งนี้ การที่เยอรมนีใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมายาวนาน ได้มีการปรับปรุงมาตลอด คณะจึงเห็นตรงกันถึงการนำระบบนี้มามาปรับใช้ในประเทศไทย โดยจะดัดแปลงและกำหนดกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เชื่อว่า ไม่ทำให้คนไทยลำบาก เพราะประชาชนก็จะไปใช้สิทธิเลือก ส.ส. เขตตามปกติ ส่วนระบบบัญชีรายชื่อเป็นของพรรคการเมืองที่จะไปจัดการ
นอกจากนี้ จากการได้พบปะกับตัวแทนพรรคการเมืองในประเทศไทย น่าจะมีความเข้าใจระบบสัดส่วนผสมว่าจะจัดการเลือกตั้งกันอย่างไร การกำหนดคะแนนจะทำอย่างไร เราได้เขียนกฎกติกาในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ และได้พูดคุยทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองแล้ว ถ้าพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งคะเนนเสียงก็จะมาเอง ประเด็นหนึ่งที่เราดูแล้วมีความสนใจจะนำมาใช้คือการกำหนดคะแนนสัดส่วนขั้นต่ำ ซึ่งเยอรมันถ้าไม่ได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 5 ของประชากร จะไม่นำมาคำนวณจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อให้เลย ขณะที่กรรมาธิการฯ มองไว้ที่คะแนนเสียง ร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ เพื่อให้มีเกณฑ์คะแนนสัดส่วนขั้นต่ำไว้บ้างและไม่ให้มีจำนวนพรรคการเมืองมากเกินไป
“ขอยืนยันว่า ระบบสัดส่วนผสมจะไม่ทำให้พรรคการเมืองไทยอ่อนแอ เยอรมันใช้ระบบนี้ แต่รัฐบาลยังสามารถจัดการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงฝ่ายรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงมั่นคง ส่วนประเด็นที่ไทยจะจัดการเลือกตั้งโดยกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ถือเป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งยังมีเวลาอีกระยะที่กรรมาธิการจะพิจารณาเรื่องการมี กจต. ให้รอบคอบโดยนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ จะได้แถลงข่างภายหลังจากดูระบบเลือกตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 23 มี.ค. นี้ด้วย