รายงานการเมือง
บ่มเพาะสุมไฟกันมานาน ที่สุดก็ต้องปะทุสำหรับ “ศึกเสื้อกาวน์” ที่มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย ไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม ขนาดในยุครัฐบาลทหารที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ย้ำหนักย้ำหนาว่า มุ่งสร้างความปรองดอง ไม่ให้ขยายปมขัดแย้ง ก็ยังมีให้เห็น
คำสั่งเด้ง “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปเก็บเข้ากรุที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่บทสรุปของเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นศึกครั้งใหม่ใน “กระทรวงหมอ” มากกว่า เพราะฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยออกมาแสดงตัวกันอย่างคึกคัก
ดังคำที่ “หมอณรงค์” ประกาศกร้าวไว้ก่อนที่จะเข้ามารายงานตัวที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า “แม้จะปลดผมจากตำแหน่ง แต่ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่จบ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขได้ตื่นตัว และรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ แล้ว” แถมยังเหน็บไปถึง “พวกชุบมือเปิบ” ที่กำลังจะทำลายรัฐบาลด้วย แต่ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร
กลายเป็นด่านทดสอบครั้งสำคัญของ “นายกฯประยุทธ์” ในการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้น
บทพิสูจน์แรกมองไปที่ผลกระทบด้านความมั่นคงที่ “คุณครูตู่” ขีดเส้นไว้ชัดเจนว่า ห้ามมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดในช่วงที่ “ขุนทหาร” กำลังบูรณะปฏิรูปประเทศ โดยใช้กฎอัยการศึกเป็นดาบอาญาสิทธิ์ แต่ภาพการรวมตัวของ “ประชาคมสาธารณสุข” หลายร้อยชีวิตที่มาให้กำลังใจ “หมอณรงค์” หน้าออฟฟิศ ปลัด สธ. เมื่อวันก่อน ก็เข้าข่ายการชุมนุมเกินกว่า 5 คน ซึ่งขัดกฎอัยการศึก และท้าทาย “กฎเหล็ก” ของ คสช. อย่างชัดเจน
หนำซ้ำไม่ใช่การชุมนุมมอบดอกไม้ให้กำลังใจธรรมดา ยังมีการไฮด์ปาร์กขยายปมไปที่การขับไล่ “นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน - นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์” รมว. และ รมช.สาธารณสุข อย่างดุเดือด เข้าข่ายประเด็นทางการเมืองที่กระทบชิ่งไปถึง “บิ๊กตู่” เพราะตั้งรัฐมนตรีมากับมือ
เอฟเฟกต์ที่เห็นว่า “ผู้มีอำนาจ” ไม่ปลื้มที่จะปล่อยให้มีการชุมนุมแบบนี้ ก็คือ การสั่งย้าย ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี (ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี) ไปปฏิบัติราชการที่ บช.ภ.1 โดยไม่มีกำหนด เหตุเพราะไม่ทำการดูแลความเรียบร้อยการรวมตัวของประชาคมสาธารณสุข
และเชื่อว่า “ม็อบเสื้อกาวน์” แบบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถัดมาเพียงวันเดียว “หมอณรงค์” ที่เดินทางไปร่วมงานที่ จ.อุบลราชธานี ก็ยังมีกลุ่มข้าราชการหลายสิบคนมาถือป้ายข้อความให้กำลังใจ ตลอดจนการขึ้นป้ายให้กำลังใจตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ จนทหารต้องไปไล่เก็บวุ่นวาย หรือฝ่าย “หมอรัชตะ” เองก็มีความเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์แลกหมัดกับ “แฟนคลับหมอณรงค์” อย่างต่อเนื่อง
ถือเป็นสัญญาณที่รัฐบาล คสช. ต้องเตรียมรับมือในเวลาอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการนัดกัน “แต่งดำ” หรือการร่อนแถลงการณ์ตอบโต้กันไปมาแบบไม่รู้จบ อยู่ที่ว่าจะห้ามเลือดอย่างไรไม่ให้ขยายประเด็นไปไกลเกินกว่าความขัดแย้งภายในกระทรวง
ความขัดแย้งของ “หมอรัชตะ - หมอณรงค์” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ศึกคนดี” เนื่องจากทั้งคู่ถือว่ามี “ต้นทุนสูง” พอกัน
ฝ่าย “หมอรัชตะ” ก่อนที่จะโดดเข้ามาร่วมรัฐนาวาประยุทธ์ ก็มีดีกรีเป็นถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พ่วงด้วยประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แต่มาเสียรังวัดจาก “พลังปี๊บ” ของ “สุกรี เจริญสุข” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ที่กดดันให้เลือกทางใดทางหนึ่ง หลังควบเหยียบเรือสองแคม จน “หมอรัชตะ” ต้องสละทุกเก้าอี้เพื่อนั่ง รมว.สาธารณสุข เพียงตัวเดียวโดดๆ
ด้าน “หมอณรงค์” ขึ้นมาเป็นปลัด สธ. ในยุครัฐบาลเพื่อไทยก็จริง แต่ก็สร้างชื่อครั้งสำคัญเมื่อร่วมชุมนุมกับมวลมหาประชาชน กปปส. ขับไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และถือเป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกๆ ที่ประกาศอารยะขัดขืนชนกับรัฐบาลในตอนนั้น จน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. ต้องนำ “นกหวีดทองคำ” มามอบให้ถึงกระทรวง เป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว
กระแสข่าวปลด “หมอณรงค์” มีมาเป็นระยะตั้งแต่ “หมอรัชตะ” ย่างกรายเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวง ถึงขนาดมีการนัดเคลียร์ใจกันเองหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ทำได้เพียงประคองสถานการณ์ซุกปัญหาอยู่ในใจกันต่อไป ความขัดแย้งก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเปลี่ยนศักราชใหม่เข้าสู่ปี 2558 กระแสข่าวปลด “ปลัด สธ.” ก็แพร่สะพัดทุกครั้งที่มีการประชุม ครม.
ขนาด “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ เรียกทั้งคู่มาจับเข่าคุยเพื่อหาข้อยุติ ก็ยังไม่สำเร็จ
3 ประเด็นสำคัญที่ “หมอณรงค์” มองว่าเป็นสาเหตุที่ตัวเองเก้าอี้ปลิว คือ เรื่องเขตสุขภาพ - การปฏิรูปการเงินการคลัง - ธรรมาภิบาล แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็รวมศูนย์มาที่การบริหารจัดการ “โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค” ภายใต้การกำกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีกองทุนชื่อเดียวเป็นเครื่องมือ ซึ่งถูกขนานนามว่า “กองทุนแสนล้าน” เนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีมากกว่าแสนล้านบาท
“กองทุนแสนล้าน” นี่เองที่ทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำ กับฝ่ายการเมืองขัดแย้งกันเป็นประจำ
ในยุคของ “หมอรัชตะ - หมอณรงค์” ที่ร่วมงานกันยังไม่ถึงปี มีการยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ หรือ บอร์ด สปสช. เพียบไปหมด ตั้งแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) รวมไปถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
รวมทั้งยังมีความพยายามในการ “เจาะยาง” กันเองหลายเรื่อง เหตุเพราะรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงมีแนวคิดสวนทางกันตลอด เป็นที่มาของข้อหาไม่สนองนโยบายรัฐบาล เรื่องจึงต้องถึงมือ “นายกฯตู่” ที่ต้องตัดสินใจยุติปัญหา และตามสูตรสำเร็จของฝ่ายบริหารที่หวยมักไปออกที่การย้ายฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ดูเหมือนจะเป็น “ประตูฉุกเฉิน” ของผู้มีอำนาจในทุกยุค ก่อนที่จะมาลงดาบ “รัฐมนตรี” ที่ตัวเองตั้งมา
การย้าย “หมอณรงค์” มาช่วยราชการที่ทำเนียบ มีออปชันพิเศษในการตั้งกรรมการสอบ “หมอณรงค์” ด้วย เบื้องต้นขีดเส้นให้ได้บทสรุปภายใน 30 วัน แต่เชื่อเหลือเกินว่าจะมีการขยายเวลาต่อไปมากกว่า 1 รอบ เพื่อประวิงเวลาให้ “นายกฯตู่” ขบคิดหาทางหนีไฟ แบบที่ “เสียหน้า” ไม่ได้ แต่จะเตะถ่วงไปจนถึงวันที่ “หมอณรงค์” เกษียณอายุราชการในเกือน ก.ย.นี้ก็ดูจะไม่งามนัก
ทางเลือกแก้ปัญหาความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขของ “บิ๊กตู่” ดูจะตีบตันพอตัว เพราะขึ้นชื่อว่า “ศึกคนดี” ที่มีแบ๊คอัพดีทั้งคู่ ขยับไปทางไหนก็เหมือนลากน้ำมันเข้ากองไฟ การตัดสินใจย้าย “หมอณรงค์” ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าปัญหายังไม่จบ แต่หากคนเป็นผู้นำรัฐบาลไม่โดดลงมาหย่าศึก ไม่มีเหตุผลดีพอในการแขวน “หมอณรงค์” ไว้ที่ทำเนียบ ก็มี “ม๊อบหมอ” ฮึ่มๆจ่อคอหอยรอจังหวะรออาณัติสัญญาณอยู่ เพราะมีความไม่พอใจ “หมอรัชตะ” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ที่ว่า “หมอณรงค์” เป็นศูนย์กลางของปัญหา ฝ่าย “หมอรัชตะ” ก็ควรที่จะอยู่ในสถานะเดียวกันด้วย
ตัวช่วยของ “บิ๊กตู่” ที่อาจต้องหยิบมาใช้ในห้วงเวลานี้ เห็นจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ที่อาจจะเป็น “ทางหนีไฟ” ที่ดีที่สุดในตอนนี้ ผสมโรงไปกับเสียงวิจารณืผลงานของทีมเศรษฐกิจที่ใครต่อใครมองว่า “สอบตก” และหากปรับจริง ก็ต้องจับตาดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ “กระทรวงหมอ” หรือไม่
แต่อย่างน้อยก็กลบเกลื่อน - กลบข่าว เอาตัวรอดไปก่อน