“น้องแหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา” เป็นใคร? ในคดี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม หลังทนาย-สื่อเสื้อแดงอ้างทหารในเครื่องแบบ-นอกเครื่องแบบ เข้าควบคุมตัวที่บ้านพัก ร้อนถึง คสช.-รบ.ออกตัวปฏิเสธ เกรงอาจมีผู้ไม่หวังดีไปแอบอ้างเพื่อต้องการให้สังคมเข้าใจผิด
“น้องแหวน” น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาผู้เป็นพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม กลายมาเป็นประเด็นในวันนี้ (16 มี.ค.) ให้ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาปฏิเสธการหายตัวไปตามที่เฟซบุ๊ก PEACE TV สื่อของมวลชนคนเสื้อแดงออกมาเผยแพร่
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธพร้อมระบุว่าขณะนี้รัฐบาลได้รับรายงานถึงกระแสข่าวดังกล่าวแล้ว และรัฐบาลได้สั่งการไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบว่า น.ส.ณัฏฐธิดาหายไปจริงหรือไม่ หรือไปที่ใดใครเป็นคนพาไป ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้แต่อย่างใด
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุเช่นกันว่า จากการประสานข้อมูลกับหลายหน่วยในพื้นที่ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปขอควบคุมตัวน้องแหวนตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เพราะปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการเชิญไปพูดคุย หรือขอเข้าควบคุมตัวจะมีการให้เหตุผล และมีการแสดงตนชัดเจน เกรงว่าบางกรณีอาจมีผู้ไม่หวังดีไปแอบอ้างเพื่อต้องการให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
“ขอให้มั่นใจว่าทุกภารกิจการปฏิบัติใดๆ ของเจ้าหน้าที่จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายก็เท่าที่จำเป็นแบบมีเหตุมีผลอย่างแน่นอน โดยหลักๆ คงจะมีผลกระทบกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย หรือผู้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด”
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนาย นปช.ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยอ้างว่าเรียกร้องให้ “ทหารปล่อยตัวน้องแหวานทันที” และพร้อมจะติดตามและเข้าเยี่ยมให้ได้ โดยมีข้อความดังนี้
“ขอเรียกร้องให้ คสช. หรือทหารที่เกี่ยวข้องกับการคุมตัวน้องแหวน ปล่อยตัวทันที! เนื่องจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ได้ทราบข้อมูลถึงการหายไปอย่างชัดเจนโดยมีทหารในเครื่องแบบ 2 นาย และนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาควบคุมตัวน้องแหวน (พยาบาลอาสาสมัคร ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553) ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่บ้านพัก ตำบลแพรกษา จ.สมุทรปราการ โดยการคุมตัวไปไม่มีหมายจับและหมายค้น อ้างใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ตอนนี้ยังไม่ทราบที่คุมตัวหรือวัตถุประสงค์ที่กลุ่มทหารได้กระทำการเช่นนั้น
ดังนั้น จึงขอให้ คสช.และทหารที่เกี่ยวข้องกับการคุมตัวชี้แจงถึงการดำเนินการดังกล่าว เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่าวิตกต่อสิทธิความเป็นของประชาชนในประเทศ และขอให้ปล่อยตัวน้องแหวนในทันที
กนส. ในฐานะทนายความสิทธิมนุษยชน จะติดตามสถานะความเป็นอยู่และขอเข้าเยี่ยมตามสิทธิของผู้ถูกจับ ตาม ป.ว.อ.มาตรา 7/1 ซึ่งจะอ้างกฎอัยการศึกไม่ได้ หรือจะอ้างก็ต้องเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชน”
มีรายงานว่า ล่าสุดเฟซบุ๊กของ “น้องแหวน” น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ที่ใช้ชื่อว่า “ณัฎฐธิดา วชิรพยาบาลห้าหนึ่งศูนย์แปด มีวังปลา” ได้หยุดโพสตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ข้อความสุดท้าย
เวลา 5:07 am มีใจความว่า “เลิกกันดีๆ เหอะ อย่าให้เหลาเลย.... ..รูปร่างหน้าตาก็ดี ไม่น่าปากหมาเลยมนุษย์ลุง...”
เวลา 5.06 am มีใจความว่า “ถ้าให้เลือกระหว่างผู้ชาย หนึ่งคนที่เพิ่งรู้จักกันแค่ 2 ปี แต่ชอบหึงหวงด่าทอ ทำร้ายเรา กับ เลือกผู้ชายอีก 2 คน ที่บริสุทธิ์ ขอเลือกผู้ชายสุดหล่อ 2 คนนี้...(จะรักเราก็ต้องรัก 2 หนุ่มนี้ด้วย )”
สำหรับ “น้องแหวน” น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ถือเป็นพยานสำคัญคดี 6 ศพถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยเป็นพยานปากที่ 3 ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด ฮัคอาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง โดยตอนหนึ่งในการเบิกความ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 เบิกความว่า ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง ในวัดปทุมวนารามในช่วงบ่าย โดยพยานได้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของเพื่อนอาสาพยาบาลทั้ง 3 คน
เธอเบิกความโดยสรุปได้ว่า พยานได้เข้าไปตั้งเต็นท์ที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 53 ที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค. 53 พยาน น.ส.กมนเกด และนายอัครเดช จึงได้ย้ายเข้าไปในวัดปทุมวนารามเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่เข้าไปหลบภายในวัด ขณะนั้นวัดปทุมฯ ถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน โดยมีนายมงคลเข้ามาสมทบที่เต็นท์พยาบาลในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยเต็นท์อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทางออกของวัด
ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น.เศษ พยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านแยกเฉลิมเผ่า เมื่อเกิดเสียงปืนผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนพระราม 1 ข้างนอกวัดก็ได้วิ่งเข้าภายในวัด และพยานได้เห็นนายอัฐชัย ชุมจันทร์อยู่ที่บริเวณตอม่อรางรถไฟฟ้า ถูกยิงล้มลง แต่อัฐชัยยังลุกขึ้นได้และวิ่งมาล้มลงอีกครั้งที่ประตูวัด พยานและอัครเดชจึงเข้าไปช่วยพาเข้าเต็นท์เพื่อปฐมพยาบาลขณะนั้นกมนเกดไปเอาถังออกซิเจน หลังจากที่นายอัฐชัยเสียชีวิตลงแล้วพยานได้ถ่ายรูปนายอัฐชัยไว้และเข้าไปถามหาญาติที่สวนป่าในวัด
ขณะกำลังเดินเข้าไปตามหาญาติของนายอัฐชัย มีผู้ชุมนุมวิ่งสวนพยานออกมาจากสวนป่าและได้ขอยาล้างตากับพยาน ผู้ชุมนุมได้บอกกับพยานว่ามีแก๊สน้ำตาตกที่บริเวณห้องน้ำภายในสวนป่าซึ่งมาจากทางด้านหลังของวัด จากนั้นพยานร่วมกับ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล ได้กลับไปที่เต็นท์ด้านหน้าวัดอีกครั้งเพื่อเก็บอุปกรณ์การแพทย์เพื่อย้ายเข้าไปในสวนป่าเนื่องจากคิดว่าบริเวณด้านหน้าวัดไม่ปลอดภัยแล้ว ขณะเดินออกมาก็มีกระสุนยิงตกกระทบที่พื้นข้างหน้าของพยาน ทำให้พื้นตรงหน้าเป็นฝุ่นกระจายขึ้นมาและพื้นเป็นหลุมลงไป โดยระหว่างนี้ได้มีผู้บาดเจ็บเข้ามาขอความช่วยเหลือกับพยาน 2 คน คือ นายกิตติชัย แข็งขัน ถูกยิงที่ฝ่ามือขวา หลัง และโคนขาขวา และนายบัวศรี ทุมมา ถูกยิงที่ส้นเท้า
อาสาพยาบาลเบิกความต่อว่า ในขณะที่ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล กำลังเก็บของอยู่ในเต็นท์พยาบาล ได้มีกระสุนสาดลงมา โดยขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากเต็นท์ไปราว 5 เมตร เมื่อพยานได้ยินเสียงปืนจึงตะโกนบอกให้ทั้ง 3 คน หมอบโดยไม่ได้หันกลับไปมองที่เต็นท์ จากนั้นพยานจึงค่อยหันกลับไปดูเห็นทุกคนหมอบอยู่จึงคิดว่าหมอบตามที่ตัวเองเตือน พยานเห็นกมนเกดคลานตะเกียกตะกายจะไปที่รถกระบะที่จอดอยู่ด้านท้ายของเต็นท์ แต่ยังไปไม่ถึงกมนเกดก็หมอบนิ่งไป นายมงคล เข็มทองนั้นพยานไม่เห็นว่ามีการขยับ ส่วนนายอัครเดชนั้นเห็นยังขยับอยู่ ในระหว่างเกิดเหตุไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยได้เนื่องจากมีการยิงลงมาจากทหารบนรางรถไฟฟ้าตลอด โดยยืนยันจากการที่ได้เห็นว่ามีประกายไฟเมื่อกระสุนกระทบกับเสาเหล็ก เห็นพื้นปูนเป็นฝุ่นฟุ้งและเป็นหลุมจากการตกกระทบของลูกกระสุน ส่วนพยานขณะนั้นพยานยังหลบอยู่ที่กระถางต้นไม้ในบริเวณนั้นกับนักข่าวต่างประเทศชื่อนายแอนดรูว์ (พยานไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งขณะที่หลบอยู่นั้นนักข่าวได้ชันเข่าขึ้นมาทำให้ถูกยิงด้วย
จากนั้นพยานได้พยายามเข้าไปในสวนป่าเพื่อขอให้คนออกไปช่วยกมนเกด อัครเดชและมงคล เข้ามาซึ่งตอนนั้นกมนเกดและมงคลได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนนายอัครเดชในขณะที่ช่วยเข้าไปสวนป่ายังมีชีวิตอยู่ เวลาในขณะที่เข้าไปช่วยทั้ง 3 คน นั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 น. เมื่อช่วยเข้าได้แล้วเวลาประมาณ 20.00 น. นายอัครเดชจึงเสียชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 23.00น. จึงจะมีรถพยาบาลเข้ามารับคนเจ็บออกจากวัดซึ่งได้มีการติดต่อไปตั้งแต่ราว 18.00 น.แล้ว พยานคิดว่าถ้ารถพยาบาลสามารถเข้ามาเร็วกว่านี้อาจจะสามารถช่วยชีวิตนายอัครเดชไว้ได้
น.ส.ณัฎฐธิดาเบิกความยืนยันว่า ในระหว่างเกิดเหตุการณ์พยานได้เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าด้วย 5 นาย โดยใส่ชุดลายพราง สวมหมวกด้านหลังหมวกติดสติกเกอร์สีชมพู และทหารบนรางรถไฟฟ้ามีการประทับปืนเล็งลงมาที่วัด แต่พยานไม่พบเห็นหรือได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากในวัด พยานยังกล่าวอีกด้วยว่าในวันนั้นตัวพยานเอง น.ส.กมนเกด นายอัครเดช นั้นมีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดใส่ไว้ชัดเจน ส่วนนายมงคลนั้นก็ใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง ตามหลักสากลแล้วจะต้องไม่ถูกทำร้ายจากทั้งสองฝ่าย