xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชง กม.12 ฉบับปฏิรูปการศึกษา เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ลดอำนาจการเมืองจุ้น ศธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจฯ แถลงชงร่าง กม.ปฏิรูปการศึกษา ยกเป็นปัญหาชาติต้องปฏิรูปให้สมบูรณ์ หลังตกอันดับท้ายๆของโลก เผยลุยเอง เหตุ ศธ.มีประโยชน์เอี่ยว แถมไม่เคยพัฒนาเอาแต่สร้างปัญหา พร้อมชง กม.12 ฉบับ หวังลดอำนาจการเมืองแทรกแซง หาผลประโยชน์ใน ศธ. ย้ำในอนาคตต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ปฏิรูปควบคู่กับกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

วันนี้ (13 มี.ค.) นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาราช นางอุทุมพร จามรมาน ร่วมกัน แถลงถึงข้อเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา 13 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายศรีราชากล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประเทศมานานแล้ว เพราะเห็นว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่การศึกษา และเป็นเรื่องความเป็นความตายในอนาคต หากไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้เข้มข้นสมบูรณ์ เป็นรูปธรรม โดยเวลานี้การศึกษาไทยตกเป็นอันดับท้ายๆ ของโลกและอยู่อันดับท้ายๆ ของประเทศกลุ่มอาเซียน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยต้องให้วงการศึกษาไทยมีความก้าวหน้าในระดับชาติ ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ถ้าจะให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปตัวเองคงไม่ได้ เพราะว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งกระทรวงศึกษาไม่เคยพัฒนาการศึกษามีแต่สร้างปัญหา ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงตั้งคณะทำงานเพื่อร่างข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินให้อำนาจในการหยิบยกประเด็นที่กระทบต่อสังคมมาพิจารณาได้

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้มีการร่างกฎหมายที่ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการการกระจายอำนาจ การจัดการเรียนการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ 12 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยมีการตั้งคณะทำงานการศึกษาชาติทั้งระบบ (ซูเปอร์บอร์ด) เพื่อกำหนดทิศทางที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ กำหนดนโยบายต่างๆ แทนกระทรวงศึกษาธิการ

2. พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาการศึกษา พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นกฎหมายจัดตั้งสภาการวิจัยฯ ที่เป็นองค์การมหาชนโดยมีอำนาจในการศึกษาวิจัยการศึกษาทุกระดับพร้อมทั้งให้ทุนการศึกษา 3. พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ.... ซึ่งสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับ 4.พ.ร.บ.สถาบันครูศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... โดยให้มีอำนาจทิศทางการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนทุกระดับ 5. พ.ร.บ.การรับรองมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.... โดยให้มีอำนาจในการทดสอบการศึกษาประเมินคุณภาพการศึกษาทุกระดับ 6. พ.ร.บ.การรับรองคุณวุฒิการศึกษา พ.ศ.... ให้มีอำนาจในการทดสอบ รับรองคุณวุฒิวิชาชีพครูและผู้บริหารทางการศึกษา 7. พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.... โดยให้จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาตามนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และให้มีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐกับภาคเอกชน เพื่อผลิตนักศึกษาให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ

สำหรับ 8. พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... โดยกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยัง อปท.อย่างเต็มรูปแบบ 9. พ.ร.บ.ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ.... โดยจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรรมฯให้เป็นองค์การมหาชน มีอำนาจให้การศึกษา วิจัยผลิตนวัตกรรมเพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ 10. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.... โดยให้อำนาจการสร้างระบบงานบริหารบุคคลเป็นของคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ เช่นบรรจุแต่งตั้ง โอนโยกย้าย เป็นต้น 11. พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.... เพื่อปรับปรุงจัดระเบียบในกระทรวงศึกษาธิการ เช่นสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นปฐมวัยและประถมศึกษา เป็นต้น และ 12 พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา พ.ศ.... ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อมีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐที่จัดการศึกษา รวมถึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อีก 1 ฉบับรวมเป็น 13 ฉบับเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ด้านนายคมสันกล่าวว่า การร่างข้อเสนอดังกล่าวเพื่อที่จะลดอำนาจทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีการแทรกแซงทางการเมือง มีระบบอุปถัมภ์ โดยนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากการศึกษา เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการใช้งบประมาณต่างเพราะแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณมาจำนวนมากแต่เอาเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ตัดการเมืองทิ้งไปเพราะมีการเชื่อมโยงกับการศึกษาอยู่ อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาในอนาคตต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น