xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสวน “จตุพร” ไม่เคยทำการข่าวอย่าจ้อ ชู “หมอณรงค์” สุภาพบุรุษขอโยกเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาลสวนประธาน นปช.ไม่เคยทำงานด้านการข่าวก็อย่าวิจารณ์ ชี้จับได้เพราะมีความสามารถมาก ยันเชิญคนถูกพาดพิงมาสอบใช่ว่าจะทำผิดทันที ป้อง “รัชตะ-ณรงค์” ดีทั้งคู่ แต่ทำงานไม่ลงตัว ทำภารกิจสะดุด ชูสุภาพบุรุษขอย้ายจากจุดขัดแย้งเอง บอกทีมกุนซือ รมว.สธ.ลาออกก็ไม่เป็นไร ยันไม่ได้หมายความว่าอดีตปลัดผิด หวังผู้สนับสนุนเข้าใจ ระบุเก็บภาษีแค่วางระบบ ชี้บีทีเอสขึ้นราคาไม่เกี่ยวกับรัฐแต่นายกฯ ให้ มท.ไปคุยแล้ว

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ปาระเบิดใส่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ถึงวันที่ก่อเหตุและกรณีที่เจ้าหน้าที่ระบุการข่าวมีการประกบกันมาตั้งแต่ต้น แต่กลับยังมีเหตุนี้เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และการติดตามข้อมูลข่าวสารมีวงรอบในการปฏิบัติ รวมถึงมีความน่าเชื่อถือของข่าว และมีความเป็นไปได้ของแหล่งข่าว หลายอย่างประกอบกัน มันคงไม่สามารถชี้ชัดได้ถูกต้องทั้งหมดว่าจะมีการก่อเหตุที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ แต่มีภาพข่าวในระดับหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำมาปะติดปะต่อพอให้กำหนดสมมติฐานครอบคลุมทิศทางที่จะพาดพิงไปถึง เพื่อเพิ่มการระมัดระวังในแต่ละจุดหรือแต่ละเรื่อง ดังนั้น ถ้านายจตุพรไม่เคยทำงานเรื่องนี้มาก่อนก็อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่

พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในที่เกิดเหตุ ถือว่าเจ้าหน้าที่มีความสามารถมาก และจะมีการขยายผลได้ไปตามหลักฐานหรือข้อมูลที่มี ถ้าพาดพิงถึงใครก็จะมีการเชิญบุคคลนั้นมาสอบสวน โดยไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นผู้กระทำผิดทันที แต่การที่มีภาพถ่ายรวมกลุ่มและสมุดบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ก็พอจะทำให้เชื่อมโยงได้ว่าอย่างน้อยผู้ต้องหามีความสนิทสนมกับใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องเชิญคนนั้นมาสอบสวน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีการโยกย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ในข้อเท็จจริงทั้ง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ เป็นคนดีทั้งคู่เพียงแต่แนวคิดในกานทำงานยังไม่ลงตัวทำให้การขับเคลื่อนงานของรัฐบาลซึ่งมีเวลาไม่นานนักทำให้ภารกิจทำได้ไม่เต็มที่และไม่เต็มประสิทธิภาพแต่ยืนยันได้ว่าทั้งสองคนเป็นคนดี อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นโยบายไว้ว่าให้ไปหาจุดลงตัวให้ได้โดยการไปพูดคุย ปรับวิธีการทำงานซึ่งก็ใช้เวลานานพอสมควรประมาณ 7 เดือนก็ยังหาจุดลงตัวไม่ได้และ นพ.ณรงค์ ก็ได้แสดงความเป็นสุภาพบุรุษโดยพูดไว้กับนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรวมทั้งพูดกับนายกฯ ด้วยตนเองว่ายินดีถ้าเห็นว่าการทำงานยังไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ก็ขอให้โยกตัวท่านเองออกมาจากจุดความขัดแย้งจะได้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ถือว่ามีความเป็นสุภาพบุรุษ เป็นสุภาพชนของนพ.ณรงค์ อีกทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองและเข้าใจบทบาท ภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลเป็นอย่างดี วันนี้ต้องขอบคุณ นพ.ณรงค์ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลาย

“การที่ นพ.ณรงค์มาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายกฯ ได้มีการมอบหมายภารกิจที่ชัดเจนแล้ว โดยวันเดียวกันนี้ นพ.ณรงค์จะเข้ามารายงานตัวต่อนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกทั้งสิทธิต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงได้สิทธิเช่นเดิม จึงถามว่าเรื่องนี้น่าจะจบบนพื้นฐานการเป็นสุภาพบุรุษที่มีความเข้าใจสถานการณ์ต่างและได้ปวารณาตัวเอง” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

เมื่อถามว่า แต่ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวกดดันจากกลุ่มแพทย์ต่างๆ เพื่อให้มีการปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทน พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นแรงกดคิดว่าเมื่อมีข่าวการดึง นพ.ณรงค์มาอยู่ที่สำนักนายกฯ จึงเป็นปกติที่จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อได้มีการชี้แจงแล้วว่า นพ.ณรงค์เป็นผู้ปวารณาตัวเอง เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่มีความคิดเดียวกันได้ และสามารถเดินหน้าการทำงานต่อไปได้โดยไม่สะดุด และปกติหลักการบริหารราชการหากผู้บังคับบัญชายังหาจุดลงตัวกันไม่ได้ในการปฏิบัติงานก็ต้องยึดที่ตัวผู้บัญชาเป็นหลัก นั่นคือตัวรัฐมนตรีและการที่ นพ.ณรงค์ออกมาจากพื้นที่คณะกรรมการตรวจสอบก็จะได้เข้าไปทำงานถือเป็นเรื่องที่ดีที่คณะกรรมการจะได้ทำงานอย่างเต็มที่และตัว นพ.ณรงค์เองก็จะได้ไม่ถูกครหา

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนที่ทีมที่ปรึกษาของ นพ.รัชตะ บางคนลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวนั้นก็ไม่เป็นไร ถือเป็นแนวความคิดของแต่และคน แต่หลักการคือต้องรับนโยบายของรัฐบาลเพื่อไปขับเคลื่อนงานต่อไปได้ทุกอย่างน่าจะจบ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งคนนอกเข้าไป แต่มอบหมายให้รองปลัดฯ ไปปฏิบัติหน้าที่แทน และเท่าที่ฟัง นพ.ณรงค์เองก็ให้กำลังใจการทำงานของรัฐบาลจึงเชื่อว่ากระแสกดดันต่างๆ น่าจะหมดไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขจะกระทบต่อการบริหารจัดการภายในกระทรวงหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ก่อนหน้านี้อาจจะมีสถานการณ์บ้าง แต่ถึงวันนี้เมื่อมีความชัดเจนจาก นพ.ณรงค์แล้วสิ่งต่างๆ ก็น่าจะคลี่คลาย และไม่ใช่นายกฯ คนเดียวที่มั่นใจว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย แต่เมื่อทุกคนได้ฟังคำชี้แจงของ นพ.ณรงค์ ก็เกิดความมั่นใจร่วมกัน และไม่ได้หมายความว่า นพ.ณรงค์ มีความผิด ไม่คิดว่าจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะทำให้เกิดปัญหาเพราะถ้าคิดว่า นพ.ณรงค์ เองก็เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวประเทศก็คงเดินต่อไม่ได้ เราต้องเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง เสียสละจึงขอวิงวอนไปยังกลุ่มที่สนับสนุน นพ.ณรงค์ ให้เข้าใจสถานการณ์ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงนี้รัฐบาลรับแรงกระแทกจากหลายเรื่องนายกฯได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องใดบ้างเป็นพิเศษ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงโดยเฉพาะเรื่องความไม่เข้าใจเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยมีการปฏิรูปในทุกรูปแบบ ดังนั้นการจัดระบบต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำไม่ว่าจะเป็น ระบบภาษี การจัดระเบียบสังคมหรือแม้แต่ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การปฏิรูปทุกอย่างย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย แต่ถ้าสังคมเข้าใจว่าการปฏิรูปทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมความเข้าใจก็น่าจะคลี่คลายมากขึ้นอย่างกรณีเรื่องของภาษีบ้านมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลถังแตกจึงพยายามที่จะรีดภาษีจากประชาชนซึ่งมันไม่ใช่ ทุกอย่างที่รัฐบาลทำนั้นเพื่ออนาคต สมมติว่าได้ข้อยุติธรรมและประกาศใช้แล้วกว่าจะมีผลบังคับใช้ก็ประมาณปี 2560 รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้นำเงินมาใช้เองเป็นเพียงการวางระบบไว้เท่านั้นเพราะประเทศไทยมีรายได้จากภาษี 18 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่รายจ่ายมีมากทำให้เราต้องกู้เงินและเป็นสาเหตุที่จะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล หรืออย่างกฎหมายการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชารัฐบาลไม่ได้มุ่งที่จะเก็บภาษีอย่างเดียว แต่กำลังแก้ปัญหาทั้งระบบให้โรงเรียนสามารถมีการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ส่วนโรงเรียนกวดวิชานั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะของผู้ที่มีความพร้อมที่ต้องการที่จะเรียนเพิ่มเติมเท่านั้น

นอกจากนี้ พล.ต.สรรเสริญยังให้สัมภาษณ์กรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์การปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาล เพราะเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นไปตามสัญญาณสัมปทานที่บีทีเอสมีกับกรุงเทพฯ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2542 โดยค่าโดยสารขั้นต้นอยู่ที่ 10 บาทกับ 40 บาทโดยปี 2550 มีการปรับขึ้นครั้งแรกอยู่ที่ 15-40 บาท และปี 2556 มีการปรับครั้งที่สอง ซึ่งลักษณะการปรับราคาเป็นไปตามสัญญาสัมปทานคือทางบีทีเอสสามารถที่จะปรับราคาขึ้นได้โดยแจ้งกับทางกทม.และประชาชนรับทราบก่อนที่จะมีการขึ้นจริงในเวลา 30 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จึงมีนโยบายมอบหมายกระทรวงมหาดไทยให้ไปลองคุยกับทาง กทม.ดูว่าจะสามารถเจรจากับบีทีเอสได้หรือไม่ ถ้าสามารถเจรจาได้ก็จะชะลอการปรับราคาขึ้นได้ก็จะเป็นผลดีกับประชาชน

“สังคมต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐบาล แต่เป็นไปตามสัญญาที่มีอยู่เดิมและการปรับขึ้นราคาก็มีสัดส่วนแน่นอนว่าท้ายที่สุดจะต้องไม่เกินเพดานสูงสุดที่ตั้งไว้และเท่าที่ทราบทางบีทีเอสจะปรับขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5-6 หรือประมาณ 2 บาท” พล.ต.สรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น