ประชุม สลธ.คสช.ย้ำดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 9 ข้อ พัฒนาการเกษตรเพิ่มรายได้-บรรเทาภัยแล้ง ทหารประสานหน่วยราชการมอบหมายแต่ละระดับดูแล ยึด ปชช.เป็นศูนย์กลาง เน้นเข้าพื้นที่ปัญหา พร้อมบริหารจ่ายเงินรับซื้อยางให้โปร่งใสแบบจำนำข้าว แก้ปัญหาการระบาย ทำให้เห็นผลเดือนนี้ ยันจัดระเบียบสังคมเหมาะสม ลุยจัดการแผงลอย และสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ
วันนี้ (2 มี.ค.) การประชุมสำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สลธ.คสช.) ในวันนี้มี พล.อ.คณิต อุทิตสาร หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คสช. เป็นประธาน ที่ประชุมมีการสรุปการดำเนินงานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาของแต่ละฝ่าย แจ้งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในการประชุมร่วม ครม.-คสช. เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 58 ให้ที่ประชุมทราบ รวมถึงหารือปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ โดยสรุปภาพรวมของการประชุมในวันนี้ว่า คสช.ยังคงดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 9 ข้อซึ่งขณะนี้ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลภายใต้กรอบการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.อย่างต่อเนื่องในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยขณะนี้หน่วยทหารได้เข้าประสานงานกับส่วนราชการในระดับต่างๆ มีการมอบหมายให้กองทัพภาคดูแลในระดับภาค, ในระดับจังหวัดให้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก หรือผู้บัญชาการกองพล, ส่วนในระดับอำเภอให้ผู้บังคับการกรม หรือผู้บังคับกองพัน เป็นผู้ประสานการสนับสนุนทั้งปวงให้กับส่วนราชการประจำท้องที่นั้นๆ ขณะนี้การประสานงานได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามนโยบายของหัวหน้า คสช.ที่ว่าต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ คสช.จะเน้นเข้าไปในพื้นที่ที่มีปัญหา ส่วนพื้นที่หรือโครงการใดที่สามารถเดินหน้าได้ตามปกติ ให้เป็นไปตามแผนงานของส่วนราชการนั้นๆ
ส่วนการสนับสนุนรัฐบาลใน “โครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพยางพารา” โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยกองทัพบก เข้าสนับสนุนในโครงการฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณเข้ารับซื้อยางพารา โดยมอบให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 58 ได้มีการหารือร่วมระหว่างคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช.กับคณะทำงานแก้ไขปัญหายางพารา และกระทรวงเกษตรฯ โดยผู้บัญชาการทหารบก มอบให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน ที่จะใช้ศักยภาพของกองทัพบกในการสนับสนุนโครงการนี้ ใน 2 เรื่องเร่งด่วน คือ การบริหารจัดการการจ่ายเงินรับซื้อยางพาราให้กับเกษตรกรด้วยวิธีการที่โปร่งใสให้ เกษตรกรได้ประโยชน์ มีความสะดวกและปลอดภัยในการรับเงินจำนวนมาก เม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง โดยจะดำเนินการคล้ายๆ กับการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว และการแก้ปัญหาการระบายยางพาราออกจากตลาดกลางรับซื้อ และปัญหาการขาดแคลนยานพาหนะในการขนส่งยางพาราไปยังโกดังเก็บของ อ.ส.ย.ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช, สงขลา และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้ายกเลิกสัญญาเร่งด่วน อาจต้องใช้การขนส่งโดยรถของกองทัพและส่วนราชการอื่น
โดยในทั้ง 2 เรื่อง กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ทภ.4 จะได้ประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการในพื้นที่ และเริ่มดำเนินการในสัปดาห์นี้ และจะเร่งแก้ปัญหาใน 2 เรื่องภายในสิ้นเดือนมีนาคม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้มีการรับซื้อยางจากเกษตรกร หรือองค์กรเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และให้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง
ส่วนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ คสช. โดยเฉพาะเรื่องการจัดระเบียบสังคมนั้น คสช.โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยยังคงใช้มาตรการที่เหมาะสม และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม จัดระเบียบในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมนี้จะมีการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยใน กทม. เช่น ที่ตลาดนัดคลองถม เป็นการทำงานร่วมกันกับหลายส่วนทั้ง กทม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งต้องใช้การสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบในทุกด้าน
นอกจากนี้ยังจะเดินหน้าเรื่องการจัดระเบียบสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และทางระบายน้ำ โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม., กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ปัญหาผู้บุกรุกและเปิดทางระบายน้ำในพื้นที่สำคัญของ กทม.จะมีโครงการนำร่องที่คลองลาดพร้าว และจะเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ สามารถเปิดทางระบายน้ำได้ รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ปรับปรุงภูมิทัศน์ และการดูแลผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบ ตามหลักกฎหมายและมนุษยธรรม การจัดระเบียบลำน้ำดังกล่าวนั้นนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในชุมชนเมือง และการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะแล้วยังจะมีประโยชน์ในเรื่องของการท่องเที่ยว ความปลอดภัยของการใช้การคมนาคมทางน้ำด้วย