องค์กรสตรี 7 เครือข่ายคนจน - ในเมือง จัดกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ทบทวนมาตรการ - นโยบายซ้ำเติม สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิงและชุมชน ยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดเวทีเรียนรู้ต่างๆ ทบทวนแผนไล่รื้อชุมชน ยกเลิกกฎหมายชุมนุม ด้าน รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับเรื่อง ยันรัฐแก้ปัญหาอยู่แล้ว ย้ำ นายกฯ ห่วงใยในการดำรงชีวิตที่ปกติสุขของประชาชนทุกคน
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายผู้หญิงขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และกลุ่มผู้หญิงคนจนในเมืองและชนบทจาก 7 เครือข่าย ประมาณ 150 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล พร้อมอ่านแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอ 12 ประการ ให้รัฐบาลทบทวน ปรับปรุงมาตรการ และนโยบายที่กีดกั้น ซ้ำเติม สร้างความรุนแรงต่อผู้หญิงและชุมชน ซึ่งมีความตรงกันข้ามกับค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนยึดถือในการดำเนินชีวิต และเรียกร้องไม่ให้จำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวตามกรอบประชาธิปไตย ให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เพื่อปกป้องบ้าน ชุมชน วิถีวัฒนธรรมที่กำลังถูกคุกคาม โดยมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
ทั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีออกมารับเรื่อง พร้อมกล่าวว่า ภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในการดำรงชีวิตที่ปกติสุขของประชาชนทุกคน พยายามฟื้นฟูความเป็นประเทศไทยให้กลับมาเป็นหนึ่ง มีความสามัคคี และให้ความสำคัญกับปัญหาของประชาชน
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอ 12 ประการ อาทิ การจัดการศึกษาและเรียนรู้ชีวิตจริงนอกห้องเรียนของ ขปส. ที่รัฐบาลไม่ควรปิดกั้น และควรยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดเวทีเรียนรู้ต่างๆ รัฐบาลควรทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ - ที่ดิน และแผนพัฒนาต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการไล่รื้อชุมชน เช่น โครงการคมนาคมขนส่งระบบราง แผนพัฒนาภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น รัฐบางไม่ควรปิดกั้นการออกมาใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ในการเรียกร้องแก้ปัญหาปากท้อง และปกป้องชุมชน โดยต้องยกเลิก พ.ร.บ. ชุมนุม และกฎอัยการศึก รัฐบาลต้องไม่ควบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการเข้าด้วยกัน เพราะจะเป็นการลดความสำคัญของการคุ้มครองการละเมิดสิทธิประชาชน นอกจากนี้ ขอเสนอกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรม