“รองโฆษกรัฐบาล” แจงอัตราอัตราเงินเฟ้อติดลบ ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดเงินฝืด ยกข้อมูลแบงก์ชาติยืนยัน ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดลงเพราะราคาสินค้าและพลังงานลดลง และเป็นการลงระยะสั้น ไม่ได้เกิดต่อเนื่องจนเกิดเศรษฐกิจถดถอย
วันนี้ (7 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี้ กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเป็นประจำทุกเดือนว่า ถือเป็นตัวเลขหลักที่ใช้ในการอ้างอิง หากเป็นบวกก็มักจะเรียกว่าเฟ้อ หากติดลบก็เรียกว่าเงินฝืด มีความหมายว่าเงินในกระเป๋าจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น เงินเราใหญ่ขึ้นนั่นเอง อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น สินค้าราคาลดลง ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงโดยเฉพาะราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางส่วนอาจรู้สึกว่าสินค้าบางตัวไม่เห็นปรับลดเลย อาทิ อาหารปรุงสำเร็จ จะบอกว่าสินค้าราคาถูกได้อย่างไร ต้องเรียนว่า การคำนวณมาจากรายการสินค้ามากมาย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นต้นทุนการดำรงชีพ เช่น อาหารสด ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ซึ่งสำหรับคนที่ปรุงอาหารรับประทานเองจะทราบว่า อาหารสดราคาคงที่ค่อนข้างลดลงมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยในเดือนมกราคม ลดลง 0.41% และเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 0.52% ซึ่งสะท้อนว่าประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจจะเกิดภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่ายังไม่เกิดภาวะเงินฝืด ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดลงเป็นภาพสะท้อนของราคาสินค้าและราคาพลังงานที่ลดต่ำลง มากกว่า และเป็นการปรับตัวลดลงในระยะเวลาสั้นๆ มิได้เกิดต่อเนื่องจนอาจจะเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และได้มีมาตรการชัดเจนในการเร่งการใช้จ่ายในการลงทุนของภาครัฐ และเมื่อมีการเบิกจ่ายภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายมากขึ้น