xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ลั่นมติชนต้องเจอบทเรียน ฉะป้ายสีค้านสิทธิสตรี ด่าคนไทยโง่-นสพ.ยังนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ซัด “มติชน” พาดหัวป้ายสีตนค้านสิทธิสตรี เหตุ “ทิชา” ไขก๊อก แถมคอลัมน์ใส่ร้ายตนดูถูกคนไทยส่วนใหญ่โง่ สวนไม่ได้เสียสติ ฉะอคติไม่ใช่วิสัยสื่อ จี้มีจริยธรรม แย้มต้องมีบทเรียนบ้าง ย้อนมติชนเคยทำแบบนี้ยังไม่สำนึก ลั่น รธน.ฉบับนี้พลเมืองเป็นใหญ่ ขออย่าด่วนสรุปปมกำหนดสัดส่วนสตรี รับถูกกดดันเรื่องธรรมดา ท้ายสุดต้องฟังเสียงส่วนใหญ่-ด้าน นสพ.มติชน ยังนิ่งไร้การชี้แจง



วันนี้ (2 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงกรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนนำเสนอข่าวคณะกมธ.ยกร่างฯลงฉบับวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวพาดหัวข่าวโดยคิดเอาเองปราศจากข้อมูล โดยระบุว่า “ฉุนบวรศักดิ์ปมสิทธิหญิง ‘ทิชา’ ไขก๊อก ร่ำไห้ทิ้ง กมธ.-เก้าอี้ สปช.” ทำให้คนเข้าใจว่าตนเป็นสาเหตุสำคัญให้ นางทิชา ณ นคร ลาออก และทำให้เข้าใจว่าตนคัดค้านสิทธิสตรี ทั้งที่ในความเป็นจริง ตนสนับสนุนสิทธิสตรีมาตั้งแต่ต้นจนมีการบรรจุเรื่อง การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคชายหญิง แต่เมื่อ กมธ.บางท่านไม่เห็นด้วยก็พยายามรอมชอม หากมีการซาวน์เสียงแล้ว คนส่วนใหญ่ว่าอย่างไร กมธ.ข้างน้อยก็ต้องมีการยอมรับ และสำหรับนางทิชานั้นก็ได้มีการกล่าวในที่ประชุมและแจ้งตนเป็นการส่วนตัวมาโดยตลอดว่า ตนทำหน้าที่ดีที่สุดตามกำลังความสามารถ และผู้ที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ นางทิชา

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันยังมีคอลัมน์ “โครงร่างตำนานคน” เขียนโดยนามปากกา “การ์ตอง” หัวเรื่อง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท้าทายความรู้เท่าทัน” พร้อมใช้รูปภาพตนประกอบ มีข้อความภายในเครื่องหมายคำพูดว่า “ประชาชนยังไม่พร้อมที่จะมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความคิด และจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง จนระบบไม่สามารถสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่งใช้การเลือกตั้งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จึงจำเป็นต้องอกแบบการเมืองใหม่ เพื่อกันประชาชนที่โง่เขลาเบาปัญญานี้ออกไป ให้สิทธิได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น” ทำให้เห็นเจตนา 3 อย่างที่กระทำ คือ ใส่ชื่อและรูปภาพตนในคอลัมน์ และใส่เครื่องหมายคำพูด ดูถูกประชาชนชาวไทย ย่อมทำให้เข้าใจว่าตนกล่าวดูถูกเหยียดหยามคนไทยส่วนใหญ่

“แม้กรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวจะโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจง ก็มีลักษณะภาคเสธ คือแบ่งรับแบ่งสู้ และแสดงทัศนะส่วนตัวที่แสดงอคติ ไม่ใช่วิสัยของสื่อสาธารณะ ที่รู้ว่าพลาดไปโดยไม่เจตนาและประสงค์จะขออภัย อย่างข้อความชี้แจงที่ว่า ‘ถ้าจะมีส่วนใดที่ทำให้เข้าใจผิดก็คงจะเป็นย่อหน้าที่ 2 ซึ่งใส่เครื่องหมายคำพูด อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นคำพูดของอาจารย์บวรศักดิ์ ซึ่งหากโดยละเอียดและมีใจเป็นกลางก็จะทราบว่ามิได้เป็นเช่นนั้น’ ผมจึงขอให้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบและความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผมโดยเร็ว” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการฟ้องร้องทางกฎหมายหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า “ผมไม่อยากพูดเดี๋ยวจะหาว่าเป็นการขู่แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้คงจะต้องมีบทเรียนอะไรกันบ้าง แต่จะไม่กระทบกับสื่อมวลชนทั่วไปที่ยังทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนทันสถานการณ์ ปราศจากอคติ รัฐธรรมนูญยังรองรับเสรีภาพนั้นทุกประการ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มติชนทำอย่างนี้กับผม เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผมไปพูดเรื่องสิทธิสตรี มติชนทีวีตัดตอนที่ผมพูดไปลงในทีวีมติชน เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์ร้ายไปพาดหัวเรื่องผู้หญิงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ครั้งนั้นผมไม่ได้ติดใจอะไร เพราะนึกว่าเป็นความผิดพลาด”

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขอให้เขาเยียวยาความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นทางจริยธรรมที่สอนกันในสื่อมวลชน ครั้งนี้เป็นการทำลายคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการทำให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดูถูกประชาชนคนไทย และขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่

“ทราบหรือไม่ครับว่าทำไมผมถึงต้องเชิญคณะกรรมาธิการฯ ไปประชุมต่างจังหวัดเพราะผมรู้ว่าพายุใหญ่จะมา และก็ไม่ผิดหวังครับ พอพูดถึงการให้พลเมืองเป็นใหญ่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจ และเพื่อทำลายผมว่าผมไม่เคยเชื่อถือว่าพลเมืองเป็นใหญ่ ก็เลยเขียนเอาเองคิดเอาเอง จินตนาการเอาเองว่าผมบอกว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่โง่ ถ้าคนคิดด้วยจิตสำนึกธรรมดาว่าเพิ่งพูดหยกๆว่าต้องทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ เสร็จแล้วก็มาบอกว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่โง่ มันแปลว่าอะไร ถ้าผมพูดอย่างนี้จริงก็แสดงว่าผมอาจใกล้เสียสติหรือเสียสติไปแล้ว แต่ถ้าคนอื่นพูดแล้วเอาคำพูดนี้มาทำให้เข้าใจว่าเป็นผม ใส่ชื่อผม ใส่หน้าผม แล้วใส่เครื่องหมายคำพูด จนกระทั่งคนเอาโพสกันทั้งประเทศ ก็คือจงใจใส่ร้ายและต้องการทำลายว่าพลเมืองไม่เป็นใหญ่ เพราะว่านายบวรศักดิ์ดูถูกพลเมืองชาวไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย นี่คือการบิดเบือนที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับผม” นายบวรศักดิ์กล่าว

ประธานคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ายังรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างที่ปราศจากการบิดเบือน โดยร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ยังมีเวลาสามารถปรับแก้ไขได้

เมื่อถามว่ายังมีความเป็นไปได้หรือไม่กับการกำหนดสัดส่วนของสตรีให้มีบทบาทในตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 1 ใน 3 เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่คณะกมธ.ยกร่างฯยังแขวนเอาไว้อยู่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็อย่าเพิ่งไปสรุปว่าเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามว่า แสดงว่าการที่นางทิชา ณ นคร ลาออกจากตำแหน่งทั้งที่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้เป็นข้อยุติ แสดงว่าเป็นการตัดสินใจที่ใจร้อนเกินไปหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้วิจารณ์อย่างนั้น ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง ตอนเข้ามาเป็น สปช.และกมธ.ยกร่างฯก็สมัครใจเข้ามา

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ต่อการที่เครือข่ายสตรีทั่วประเทศจะออกมากดดันคณะ กมธ.ยกร่างฯเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกัน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า “เป็นธรรมดา เพราะต้องถูกกดดันโดยทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่จากสตรีอย่างเดียว มันเป็นธรรมดาของกระบวนการทำกฎเกณฑ์ระดับประเทศ มันเป็นธรรมชาติ อย่าไปสะดุ้ง เราก็รับฟังเอาไว้ แล้วนำมาดูกันอีกทีก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่ผมคิดว่าการมีบทบัญญัติเช่นนี้ เป็นความก้าวหน้าที่เราอาจไปไกลกว่าหลายประเทศในโลกที่มาสอนประชาธิปไตยเรา รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่มีเขียน ออสเตรเลียถือเป็นแค่ทางปฏิบัติแต่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นไม่มีการกำหนดสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายในรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นความก้าวหน้าระดับโลก และที่เขาเสนอไว้ก็คือ 1 ใน 3 ของสภาท้องถิ่น ไม่ใช่ผู้บริหารท้องถิ่นด้วยซ้ำ แต่ถึงผมเห็นอย่างนี้ คณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่เห็นอย่างไร ผมก็ต้องเอาตามเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ทำงานโดยหมู่มากต้องทำใจ ประธานคณะกรรมาธิการฯเคยเสนอหลายเรื่องในฐานะกรรมาธิการฯ แต่โหวตแพ้มาแล้วประมาณ 3 เรื่อง ก็ต้องกลับไปนอนท่องอยู่ที่บ้านว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ของเรา ดังนั้น ถ้าเรายึดสปิริตของการทำงานเป็นหมู่คณะ ส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็รับมตินั้นก็จบ”

เมื่อถามย้ำว่าจะมีการใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า “ผมไม่ได้พูดเรื่องฟ้องร้อง แต่เมื่อคุณถามก็ดีแล้ว ผู้สื่อข่าวถามเองนะ เพราะฉะนั้นช่วยไปเป็นพยานทีว่าผมไม่ได้ขู่ว่าจะฟ้องแต่ผมกำลังจะพิจารณาอยู่ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะลักษณะการแถลงของผู้จัดการมีลักษณะไม่สำนึกในการกระทำผิดพลาดของตัว เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าไปลงพาดหัวว่าบวรศักดิ์จะขู่ฟ้อง ผมไม่ได้พูดเรื่องการฟ้องเลย พวกคุณจี้ถามผมอยู่ 3 ครั้ง ผมก็ต้องตอบ”

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขอฝากไว้เรื่องหนึ่งว่าจะทำอย่างไร ในสำนักพิมพ์ที่จะให้คนพาดหัวในโรงพิมพ์กับผู้สื่อข่าวที่เห็นบรรยากาศจริงมีความสัมพันธ์กัน นายมานิจ สุขสมจิต รองประธานคณะ กมธ.ยกร่างฯ บอกว่าสมัยที่เป็นบรรณาธิการ ทุกครั้งเวลาจะพาดหัวข่าวจะต้องมีการถามผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวมาว่าสิ่งที่จะพาดหัวข่าวถูกต้องและมีความเห็นแตกต่างหรือไม่

อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ตรวจสอบหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2558 ทุกหน้า ไม่พบว่ามีคำชี้แจงถึงกรณีบทความในคอลัมน์ “โครงร่างตำนานคน” เขียนโดยนามปากกา “การ์ตอง” หัวเรื่อง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท้าทายความรู้เท่าทัน” ตามที่นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ว่าทางกองบรรณาธิการแจ้งว่าจะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนในฉบับวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) โดยทันที มีเพียงข่าวกรอบเล็กหน้า 13 พาดหัว “บวรศักดิ์โพสต์แจงร่าง รธน.วาง 4 กรอบ “กำหนดทิศทาง” ซึ่งเป็นการคัดลอกเนื้อหาจากเฟซบุ๊ก “ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ-ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” มาลงเป็นเนื้อหาข่าวเท่านั้น









กำลังโหลดความคิดเห็น