xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” โวย “มติชน” บิดเบือนคำพูด คนไทยขาดความรู้-จิตสำนึก “ฐากูร” แจ้นบอกเคลียร์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ. ยกร่างฯ โวยถูก “มติชน” แอบอ้างคำพูดลงในบทความ กล่าวหาว่าคนไทยไม่พร้อมเท่าเทียม ขาดความรู้ - จิตสำนึกประชาธิปไตย ซัดมีคนใช้ข่าวสารทำลายมาก วอนใช้วิจารณญาณรอบคอบ “บรรยง พงษ์พานิช” อัด“ฐากูร” แจ้นอ้างเคลียร์กับผู้ใหญ่กันแล้ว เปรยบางครั้งก็มีพลาดบ้าง ตั้งธงล่วงหน้ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาร้ายแรงแน่

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ - ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ระบุถึงหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค. ได้อ้างถึงคำพูดที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นคำพูดของตน กรณีแสดงความเห็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า “วันนี้มีคนใช้ข่าวสารทำลายผมมาก โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องที่กระทบกับนักการเมือง ในขณะที่เรื่องของประชาชน พลเมือง ไม่มีใครสนใจ ดังเช่น ตัวอย่างข่าวข้างล่างนี้ เป็นคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์มติชน จงใจใส่เครื่องหมายคำพูด เพื่อให้เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ผมพูด ทั้งที่ผมไม่เคยพูดเช่นนั้นเลย เพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด และนำไปโพสต์ต่อเพื่อทำลายผม หากทุกท่านได้รับข่าวสารใดๆ เช่นนี้ ช่วยสอบถามกลับมาก่อน และโปรดใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ”

สำหรับประโยคดังกล่าวระบุขึ้นในคอลัมน์ “โครงร่างตำนานคน” โดยผู้ใช้นามปากกา “การ์ตอง” ในตอนต้นได้ใส่เครื่องหมายคำพูดระบุว่า “ประชาชนไทยยังไม่พร้อมที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้แนวคิดและจิตสำนึกประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการใช้สิทธิถูกชักจูงด้วยอำนาจและเงิน จนระบบไม่สามารถสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจเข้ามาแสวงประโยชน์ จึงจำเป็นต้องออกแบบกันใหม่เพื่อกันประชาชนที่โง่เขลาเบาปัญญานี้ออกไป ให้ใช้สิทธิได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น” และภายหลังข้อความดังกล่าว ถูกนำไปขยายผลในเครือข่ายสังคมออนไลน์กลุ่มคนเสื้อแดง



ต่อมา นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ระบุหัวข้อ “การบิดเบือนที่ชัดเจนของสื่อ” โดยระบุว่า

“มีโพสต์ที่อ้างถึงคำพูดของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่าง รธน. ว่าเป็นคนที่มีแนวคิดเหยียดหยาม ปชช. ส่วนใหญ่ว่าโง่เขลาเบาปัญญา จำเป็นต้องกันให้ออกไปจากกระบวนการปกครอง ซึ่งอ้างว่าเอามาจากมติชนรายวัน 1 มี.ค. นี้ และมีคนมาทำโพสต์ถูกแชร์และมีคอมเมนต์ประณามอาจารย์ไปทั่ว

ผมอ่านครั้งแรกก็ตกใจว่าคนอย่าง อ.บวรศักดิ์ ที่เคยเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามายาวนานจะคิดอย่างนี้ได้อย่างไร เลยพยายามไปหาว่าท่านไปพูดที่ไหนอย่างนี้ (ขอยืนยันว่าผมไม่รู้จัก อ.บวรศักดิ์ เป็นส่วนตัวเลย ไม่เคยพบเคยคุยด้วยเลย ... แต่ผมก็เป็นวิทยากรประจำของหลักสูตร ปปร. และ ปศส. ว. พระปกเกล้าฯ มายาวนาน ถ้าท่านพูดท่านคิดอย่างนั้นจริง ผมก็จะได้ไปลาออกเสีย)

ต้นตอของเรื่องนี้ มาจากคอลัมน์ “โครงร่างตำนานคน” ซึ่งถ้าอ่านเผินๆ (ซึ่งผู้อ่านกว่า 90% เป็นอย่างนั้น) ก็จะตกใจว่าเรื่องที่ว่าเป็นความจริง แต่ถ้าอ่านอย่างช้าๆ ตั้งสติ ก็จะพบว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย ... อ.บวรศักดิ์ ไม่ได้พูด หรือแม้แต่คิด อย่างที่ถูกเข้าใจ ถูกใส่ร้าย เลยสักนิด เป็นความเข้าใจไปเองของคนที่อ่านลวกๆ แล้วเลยเอาไปขยายความกันใหญ่โต

ถามว่า ... คอลัมน์นี้คนเขียนๆ ด้วยใจบริสุทธิ์ คนอ่านหลงทางโง่ไปเอง หรือ คนเขียนตั้งใจให้คนอ่านเข้าใจผิดบิดเบือน ... เรื่องนี้วิญญูชนย่อมใช้วิจารณญาณตัดสินได้เอง ... ผลความจริงที่เกิด คือ มีความเข้าใจผิดไปทั่ว มีการนำไปขยายผลตาม Social Media ทั่วไป อ.บวรศักดิ์ถูกเข้าใจและถูกประณามว่าพูดและคิดสิ่งที่ผิดหลักการ ปชต. อย่างรับไม่ได้เลยทีเดียว

ผมไม่ได้รู้จัก หรือเป็นสาวกอาจารย์ หลายๆ เรื่องเห็นไม่ตรงกันด้วยซ้ำ (เช่นเรื่อง ส.ว. ลากตั้งทั้งหมดนี่แหละ) แต่ก็ทนเห็นวิธีการสกปรกอย่างนี้ไม่ได้ ขอประณามคนเขียนที่ไม่รับผิดชอบ ขอประณามสื่อที่ไม่รับผิดชอบ (ถ้าขอให้แก้ไขความเข้าใจ คงจะขอเกินไปน่ะ)

ปกติสื่อใหญ่ย่อมยิ่งใหญ่ ไม่มีใครกล้าต่อกร ... แต่ไอ้เตามันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ “พูดอย่างที่คิด คิดอย่างที่พูด ซักวันภัยจะมาถึงตัว“ (มีผู้หวังดีเคยเตือนไว้)”




ต่อมา นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thakoon Boonparn ระบุว่า

“1. ขอเรียนว่าโพสต์ที่แพร่หลายกันอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่มติชนหรือคนในมติชนคนใดเป็นผู้จัดทำหรือเผยแพร่

2. ถ้าจะมีส่วนใดที่ทำให้เข้าใจผิด ก็คงจะเป็นย่อหน้าที่สองซึ่งใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) เข้าไป ที่อาจจะทำให้ผู้อ่านบางท่านบางคนเข้าใจไปได้ว่าเป็นคำพูดของอาจารย์บวรศักดิ์ ซึ่งหากอ่านโดยละเอียดและมีใจเป็นกลางก็จะทราบว่ามิได้เป็นเช่นนั้น

3. มีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญติดต่อสอบถามในเรื่องดังกล่าว และมีการชี้แจงทำความเข้าใจกันแล้ว

4. ทางกองบรรณาธิการแจ้งว่าจะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนในฉบับวันพรุ่งนี้โดยทันที

5. ในนามของพี่เพื่อนน้องผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในเครือมติชนทั้งหมด ขอกราบเรียนว่าเราทุกคนไม่เคยแอบอ้างหรือประกาศตัวว่าเป็นสื่อใหญ่ หรือใช้หน้าที่ไปแสวงหาอภิสิทธิ์ อิทธิพล ผลประโยชน์ใดๆ ในทางมิชอบ เราเป็นเพียงผู้ประกอบวิชาชีพสุจริตอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันกับเพื่อนร่วมสังคมผู้สุจริตอาชีพอื่นๆ

6. มติชนและกิจการอื่นๆ ในเครือเป็นสื่อที่ถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นปกติสม่ำเสมอ มีความพลาดพลั้งเยี่ยงปุถุชนทั่วไปในบางครั้ง แต่ก็พร้อมจะแก้ไขและกล่าวคำขอโทษในความพลาดพลั้งที่ไม่ได้เกิดจากเจตนาจะให้ร้ายป้ายสีนั้นๆ และพร้อมที่จะน้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบจากสังคมที่มีเหตุผล ข้อมูล ปราศจากอคติอยู่เสมอ

7. และในฐานะส่วนตัว ผมมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังดำเนินการร่างกันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และมีแนวโน้มจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างร้ายแรง เพราะเนื้อหาที่สะท้อนเจตนาของร่างรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจนว่าไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการของความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน และไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมัชชาคุณธรรม การให้วุฒิสภาทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง (ที่พยายามจะเรียกให้สละสลวยว่าเลือกตั้งทางอ้อม) แต่มีอำนาจล้นฟ้ามหาศาล และการกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ (แม้จะอ้างความจำเป็นหรือเหตุป้องกันวิกฤตอย่างไรก็ตาม)

8. ฉะนั้น ใครก็ตามที่เล็งเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบันจะเป็นตัวก่อปัญหาหรือจุดชนวนวิกฤตให้กับสังคม ย่อมไม่อาจละเลยที่จะทักท้วง ติติง หรือแสดงความคิดเห็นได้ ยิ่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ หากไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ไม่เชื่อมั่นในหลักการของคงามเท่าเทียมกัน ย่อมไม่สมควคจะประกอบอาชีพสื่อต่อไป

ด้วยความเคารพ”




อนึ่ง สำหรับเครื่องหมายคำพูด หรือ อัญประกาศ เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากล ใช้เขียนสกัดข้างหน้าและข้างหลังของ อักษร คำ วลี หรือประโยค ที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ ให้ดูแตกต่างจากข้อความที่อยู่รอบข้าง ใช้เขียนสกัดตัวอักษร หรือ คำ เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตเป็นพิเศษ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้สกัดข้อความที่เป็นคำสนทนา คำปราศรัย ข้อความที่นำมาจากที่อื่น หรือ เป็นคำพูดของผู้อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น