xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาสมัชชาพลเมือง กมธ.ยกร่างฯ ชี้ ร่าง รธน.ให้ ปชช.แข็งแรง สู้ระบบอุปถัมภ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กมธ. ยกร่างฯ ร่วมมือฝ่ายเกี่ยวข้องจัดเสวนา สานพลังร่วมสร้างสมัชชาพลเมือง “สุจิต” แจง รธน. ต้องมีส่วนร่วม ปชช. รวมถึงแม่น้ำ 5 สาย รับบางข้อเสนอไม่จำเป็นบัญญัติใน รธน. ย้ำ สมัชชาพลเมืองเรื่องสำคัญ รธน. ฉบับนี้สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ สู้ระบบอุปถัมภ์ ชี้ ปชช. มีสมรรถนะขึ้น ผู้นำไม่อยากให้แกร่ง หวั่นไม่เชื่อฟัง

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะอนุ กมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้จัดเสวนาเรื่อง “สานพลังร่วมสร้างสมัชชาพลเมือง” โดยนายสุจิต บุญบงการ รองประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า กระบวนการทำรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้ต่างจากครั้งก่อน เราต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้มีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นไม่ใช่เป็นของง่าย การจัดทำรัฐธรรมนูญ นอกจากรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ยังต้องฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม บางข้อเสนอคิดว่าอาจไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจให้รัฐบาลไปดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ ทาง กมธ. ยกร่างฯ จะได้ทำบันทึกไปยัง สปช. ว่า ประเด็นต่างๆ ที่ สปช. เสนอมาเราถือว่าไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญ สปช. สามารถมีมติเพื่อให้รัฐบาล หรือ สนช. ไปดำเนินการได้เลย

นายสุจิต กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสมัชชาพลเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญ การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กมธ. ยกร่างฯ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าวิสัยทัศน์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องสร้างให้พลเมืองเป็นใหญ่ รวมทั้งเพื่อให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะปัญหารากเหง้าในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองหรือปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะสนใจแก้ปัญหาเฉพาะตัวโครงสร้าง เช่น ระบบเลือกตั้ง สถาบันการเมือง หรือระบบตรวจสอบ แต่ประชาชนหรือพลเมืองยังมีความอ่อนแอ ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของผู้นำไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับชาติ สุดท้ายกฎหมายที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในกำมือของผู้นำไม่กี่คน

“เราต้องยอมรับว่าประชาชนตอนนี้มีสมรรถนะ และพร้อมเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในการต่อสู้กับระบบอุปถัมภ์ ผู้นำย่อมไม่อยากให้ประชาชนเข้มแข็ง เพราะหากเข้มแข็งแล้วประชาชนจะไม่เชื่อฟัง อยากให้อยู่ใต้อาณัติจะได้บอกให้มาชุมนุมที่ไหนก็มา ดังนั้น เราเดินมาถูกทางแล้วที่จะทำให้ภาคพลเมืองมีความแข็งแรง เหมือนกับการสร้างเจดีย์ที่ต้องสร้างฐานให้แข็งแรง ใน กมธ. ยกร่างฯ พูดถึงอำนาจหน้าที่ของสมัชชาพลเมืองว่าต้องมีบทบาทในการตรวจสอบหรือให้ข้อคิดเห็นต่อการปกครองท้องถิ่นและระดับชาติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นในเวทีเสวนาได้ให้กลุ่มองค์กรต่างๆ จากภาคประชาชนบรรยายถึงการทำงานด้านสมัชชาพลเมือง รวมทั้งยังบรรยายถึงรูปธรรมของสมัชชาพลเมืองในระดับพื้นที่ต่างๆ อาทิ จ.อำนาจเจริญ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และ นครสวรรค์ เป็นต้น จากนั้นผู้ร่วมเสวนาก็ได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อแสดงข้อเสนอแนะต่อประเด็นดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น