ที่ประชุม สปท.มีมติ 158 ต่อ 2 เห็นชอบรายงาน กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปการเมือง เรื่องข้อเสนอปฏิรูปเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ ชูแนวทาง 3 ประการ แก้รัฐธรรมนูญเมื่อครบ 10 ปี ใช้ระบบคุณธรรมแต่งตั้งหวังเปลี่ยนผ่านระบบอุปถัมภ์ ร่างสัญญาประชาคม หนุนเลือกตั้งสุจริต ไม่ป่วน มีส่วนร่วมการเมือง
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 158 ต่อ 2 เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.เรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ชาติ” โดยมีสาระสำคัญระบุว่า การปฏิรูปการเมืองควรจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีความมั่นคงทางการเมือง มีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นเสาหลักของประเทศที่มีความเข้มแข็ง มีระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไกที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่มีเสถียรภาพ ต่อเนื่องและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ควรต้องดำเนินการภายใต้แนวทาง 3 ประการ
1. ให้มีการทบทวนปรับแก้รัฐธรรมนูญ เสนอให้ในระยะเวลาเมื่อครบ 10 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ ให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ในการทบทวนการตรวจสอบการใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทันสมัยและสอดคล้องกับเหตุการณ์และสถานการณ์ของบ้านเมืองตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 255 และมาตรา 256 บัญญัติไว้ เพื่อความมั่นคงทางการเมือง
2. ระบบคุณธรรม หมายถึง ระบบที่จัดลำดับความสำคัญสูงสุด เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งองค์กรอิสระและตุลาการการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวควรเป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งหมายความรวมถึง คุณธรรมที่เป็นเรื่องความดีด้วยเพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากลักษณะวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ไปสู่ระบบคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางการเมืองตามยุทธศาสตร์ชาติ
3. ระบบความชอบธรรม หมายถึง การยอมรับในการมีอำนาจและการใช้อำนาจในการปกครอง ไม่ใช่การให้ประชาชนยอมรับในอำนาจเพราะความกลัว หรือเพราะได้รับผลประโยชน์ แต่เพราะยอมรับ กติกาของรัฐ ที่ใช้ใน การควบคุม สังคม ว่ามีอยู่จริงและเป็นสิ่งถูกต้อง ความชอบธรรมจึงเกี่ยวกับการประเมินความดีงามของการใช้อำนาจ ประสิทธิภาพในการใช้อำนาจ และความยุติธรรมของอำนาจทางการเมือง ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้จากการบริหาร การพัฒนาประเทศการจัดการการแก้ไขปัญหาการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ ควรดำเนินการการสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ให้มีมาตรการการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตและแก้ปัญหาโดยสันติวิธี โดยให้มีการทำสัญญาประชาคมร่วมกันของพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เกิดความปรองดองกับคนในชาติ
สำหรับเนื้อหาสาระที่จะทำเป็นสัญญาประชาคมในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นควรคำนึงถึงข้อตกลงที่ประชาชนและรัฐที่มีต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งต้องประกอบด้วย 1. ประชาชนตกลงร่วมกันดำรงจงรักภักดีและรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ 2. ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต มีความพอเพียง มีความขยันหมั่นเพียร มีคุณธรรมจริยธรรมและจะปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด 3. สนับสนุนและร่วมมือกับรัฐ ในการทาให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้น 4. จะร่วมมือกันในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่สร้างความขัดแย้งหรือสร้างความแตกแยกในมวลหมู่ประชาชน 5. จะสนับสนุนและร่วมมือให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมจะยอมรับผลการเลือกตั้ง และตกลงจะมีส่วนร่วมในทางการเมือง ด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน เสนอสนับสนุนหรือสมัครเป็นตัวแทนจากประชาชนเข้าสู่เส้นทางการเมือง รวมทั้งจะไม่กระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง และจะไม่เสนอแนวนโยบายที่สร้างปัญหาและภาระให้กับงบประมาณแผ่นดิน 6. จะให้ความร่วมมือ สนับสนุนรัฐในการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และ 7. จะไม่กระทำการใดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
ทั้งนี้ ภายหลัง สปท.ลงมติเห็นชอบแล้วจะดำเนินการส่งให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป