xs
xsm
sm
md
lg

เส้นเวลาคดีโกงจำนำข้าว “ปู” ยังเหลือช่องทางหนี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

“19 มีนาคม” นี้ ได้รู้กันว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่

ตามรูปคดีและกระบวนการพิจารณายื่นฟ้องแล้ว มองว่า ยิ่งลักษณ์ แทบไม่ต้องมาลุ้นอะไรมาก ประเมินเบื้องต้นแล้ว ศาลฎีกาฯ คงจะประทับรับฟ้องคดีนี้ในวันที่ 19 มีนาคม และทำให้ ยิ่งลักษณ์ จะเป็นอดีตนายกฯ ที่ตกอยู่ในสภาพเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ ครบถ้วนตามข้อกฎหมาย

ตามสำนวนฟ้องของอัยการสูงสุดที่ระบุว่า มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ หรือให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม

สำหรับกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาคดียิ่งลักษณ์หลังจากนี้ก็จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

ลำดับแรกก็คือ การที่ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา จะนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด ตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา รวมกันประมาณ 170 กว่าคน เพื่อให้ที่ประชุมมาโหวตเลือก ผู้พิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไปเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว

เป็นการประชุมโหวตลับ ทุกคนก็จะมีสิทธิในการออกเสียง 1 เสียงเท่ากันหมด

พอโหวตเสร็จก็จะมีการนับคะแนน เรียงลำดับกัน โดย 9 รายชื่อแรกที่ได้คะแนนเสียงโหวตมากสุดก็ไปเป็นองค์คณะฯต่อไป ซึ่งองค์คณะดังกล่าวอาจจะมีระดับอย่างรองประธานศาลฎีกา มาร่วมเป็นองค์คณะก็ย่อมได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะโหวตเลือกใคร

โดยขั้นตอนการเรียกประชุมดังกล่าวก็จะอยู่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วันนับจาก 19 ก.พ.

ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมศาลฎีกาฯได้เลือกองค์คณะฯ มาแล้ว และต่อมาหากคู่ความฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ คือ อัยการหรือฝ่ายยิ่งลักษณ์ ประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้ พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการ ไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งว่า จะยอมรับหรือยกคำคัดค้าน

โดยการคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านจะสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น

จากนั้นพอได้องค์คณะมาแล้ว ก็ให้องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน เลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 19 บัญญัติไว้ว่า “ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันทำการจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาคดี ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว จะแล้วเสร็จเมื่อใด ยากจะประเมินได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ ซึ่งใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหาแบบคดีอาญาในศาลยุติธรรม หมายถึงว่าองค์คณะฯสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีได้ แต่ต้องอยู่ภายในสำนวนที่อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้นเรื่องส่งมา เช่นหากองค์คณะเห็นว่า มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารบางอย่างที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวนคดีเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงของคดีนี้ โดยที่พยานบุคคลดังกล่าวฝ่ายคู่ความทั้งอัยการและยิ่งลักษณ์ไม่ได้ส่งชื่อมาเป็นพยานบุคคลของทั้งสองฝ่าย ทางองค์คณะฯก็สามารถเรียกพยานบุคคลมาสืบพยานในชั้นศาลฎีกาฯได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ คดีอาญาตามปกติในศาลทั่วไปไม่สามารถทำได้

คาดว่า ศาลฎีกาฯ น่าจะนัดอ่านคำพิพากษาได้เมื่อใดนั้น ในความเป็นจริงแล้วขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การสืบพยาน ก็ต้องดูว่าบัญชีพยานที่คู่ความยื่นต่อศาลฎีกาฯมีมากน้อยแค่ไหน หากมีการยื่นไปมาก การพิจารณาคดีก็อาจใช้เวลาพอสมควร แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่า เมื่อยื่นบัญชีพยานไปแล้ว ศาลจะต้องเห็นด้วยกับคู่ความ เพราะศาลมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ เช่น สมมติว่าหากฝ่ายยิ่งลักษณ์ ยื่นบัญชีพยานไป 40 ปาก ก็ใช่ว่าจะได้หมด เพราะหากศาลเรียกทนายความฝ่ายยิ่งลักษณ์มาสอบถามว่า พยานแต่ละคนจะนำสืบในประเด็นใดบ้าง หากเห็นว่า มีการนำสืบในประเด็นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหมด แบบนี้ ศาลก็อาจจะตัดเหลือแค่ไม่ถึง 10 ปากก็ยังได้

ดังนั้น กระบวนการที่พยายามจะขอประวิงเวลาหรือยื้อคดีในชั้นศาลฎีกาฯไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายจับตามองไปที่วันนัดคู่ความวันแรกในคดีนี้ว่ายิ่งลักษณ์ ในฐานะจำเลยจะมาปรากฏตัวหรือไม่ เพราะถือว่า มีความสำคัญมาก หากสมมุติว่า ตัว ยิ่งลักษณ์ ไม่มาปรากฏตัว โดยไม่มีเหตุผลอันควร องค์คณะฯ ก็จะประชุมพิจารณากันว่าจะทำอย่างไร หากองค์คณะฯ ทั้ง 9 คน เห็นว่าไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุผลอันฟังได้ หรือเข้าข่ายมีพฤติการณ์หลบหนี แบบนี้ก็อาจจะมีการออกหมายจับต่อไป แล้วก็ให้ตำรวจไปดำเนินการมา โดยจะให้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อรอตำรวจมาแจ้งต่อศาลฎีกาฯ ว่ามีความคืบหน้าในการติดตามตัวอย่างไรบ้าง หากตำรวจมาแจ้งต่อศาลว่า ไม่สามารถติดตามตัวมาได้เพราะเหตุผลอะไรต่างๆ แล้วศาลดูแล้ว คาดว่ากว่าจะได้ตัวจำเลยมาคงใช้เวลานาน ก็จะมีการพิจารณาจำหน่ายคดีออกจากสารบบไว้ชั่วคราวก่อน

แต่เมื่อก่อนหน้านี้ ยิ่งลักษณ์ เคยแสดงท่าทีไว้ก่อนหน้านี้ หลังโดนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถอดถอนเมื่อ 23 ม.ค. และอัยการสูงสุด แถลงในวันเดียวกันว่ามีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯ โดยยิ่งลักษณ์ บอกทำนองว่า จะสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงที่พวกทีมทนายความยิ่งลักษณ์ ยืนยันตลอดมาว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่หนี ไม่คิดลี้ภัยตามกระแสข่าว

ดังนั้น นัดพิจารณาคดีนัดแรก คาดว่าคงได้เห็นยิ่งลักษณ์มาปรากฏตัวต่อศาลฎีกาฯ เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหา และบอกต่อศาลว่าจะขอสู้คดี

ส่วนหลังจากพิจารณาคดีนัดแรกไปแล้ว จะได้เห็นยิ่งลักษณ์ มาปรากฏตัวที่ศาลฎีกาฯ ในการพิจารณาคดีนัดต่อๆไปหรือไม่ ก็ไปตามลุ้นกันเรื่อยๆ!
กำลังโหลดความคิดเห็น