xs
xsm
sm
md
lg

อัยการยื่นสำนวนฟ้อง “ปู” โกงจำนำข้าวต่อศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 19 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการยื่นสำนวนฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” โกงจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ด้านทนายแจงเหตุ “ปู” ไม่มาศาลเป็นกระบวนการระหว่างอัยการ-ศาลฎีกาฯ ยันพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะที่ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 19 มี.ค.นี้

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.50 น. วันนี้ (19 ก.พ.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือระบุสาเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมาศาล พร้อมขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการ และนายกิตตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนแทน

นายนรวิชญ์กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือเพื่อแจ้งต่ออัยการถึงสาเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางมารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในสถานะผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ขั้นตอนดังกล่าวเป็นเรื่องของอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงดำแหน่งทางการเมือง โดยหากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดพิจารณาคดีครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่าพร้อมเดินทางมาศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และขอใช้สิทธิต่อสู้คดี มั่นใจว่าบริสุทธิ์ เพราะมีพยานหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาของอัยการได้

ส่วนการเดินทางออกนอกประเทศในขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปไหน ที่ผ่านมาเข้าสู่กระบวนการบุติธรรมตลอด ช่วงนี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก หากจะเดินทางต้องขออนุญาต คสช.ก่อน

เมื่อถามว่า กรณี ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงคลังฟ้องแพ่งเพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการเป็นเงิน 6 แสนล้านบาท ถือเป็นการกดดันหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า จะหารือกันสัปดาห์หน้าว่ารายละเอียดในหนังสือที่ยื่นต่อคลังมีอะไรบ้าง เพื่อทำหนังสือแจ้งมติของ ป.ป.ช.ไปคลังอีกคลัง อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ไม่หนักใจ พร้อมสู้ทุกประเด็น มอบหมายให้ทีมทนายต่อสู้อย่างเต็มที่ ส่วนประเด็นที่ทาง ป.ป.ช.ยังไม่สอบสวน รวมถึงหนังสือขอความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากอัยการสูงสุดก็จะนำมาเป็นประเด็นต่อสู้ในศาลด้วย

เมื่อถามว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เดินทางมารายงานตัววันนี้ จะมีผลต่อการพิจารณายื่นประกันตัวต่อศาลฎีกาฯ หรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่มี และขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการเรื่องประกันตัว

ต่อมาเวลา 10.10 น. นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ, นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวน ในฐานะคณะทำงานยื่นฟ้อง พร้อมด้วยนายโกศลวัฒน์ได้นำสำนวนในคดีทุจริตจำนำข้าวซึ่งเป็นเอกสารจำนวน 20 ลัง เข็นรถเข็นมายื่นส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะที่นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แถลงขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลังอัยการสูงสุดยื่นสำนวนฟ้องต่อศาลฎีกาฯ กรณีการทุจริตโครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ว่า หลังจากนี้รองประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่เกิน 14 วัน ตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 ท่านโดยใช้วิธีการลงคะแนนลับ เมื่อที่ประชุมใหญ่มีการเลือกองค์ตณะผู้พิพากษาเสร็จสิ้นแล้วจะมีการประกาศภายใน 5 วันนับจากวันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก

นอกจากนี้ องค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่จะคัดเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คนด้วยวิธีการลงคณะแนนลับ หลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาจะร่วมพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับรับฟ้องตามพิจารณาหรือไม่ ซึ่งวันนัดคำสั่งภายในวันที่ 19 มี.ค. เวลา 10.00 น. ศาลฎีกาฯ สามารถมีคำสั่งก่อนวันนัดได้ หากองค์คณะผู้พิพากษาลงมติประทับรับฟ้องศาลจะกำหนดวันพิจารณาครั้งแรก และส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก ทั้งนี้ หากจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นผู้พิจารณาในการขัง หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว

โดยในการพิจารณาคดีนั้นหากน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลในนัดแรก ศาลฎีกาฯก็มีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยที่จำเลยไม่ต้องร้องขอ เพราะถือว่าตัวจำเลยเข้าสู่อำนาจของศาลแล้ว ส่วนอายุความคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องนั้นมีอายุความ 15 ปีนับจากวันที่ได้กระทำตามฟ้อง

เมื่อถามว่าในวันพิจารณาคดีครั้งแรกหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์  ไม่เดินทางมาศาล จะพิจารณาออกหมายจับหรือไม่  นายธีรทัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจขององค์คณะว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
 
ต่อมาเมื่อเวลา  11.00 น.  ที่สำนักงานอัยการสูงสุด  นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ  นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวภายหลังยื่นฟ้องเสร็จแล้ว

นายสุรศักดิ์  กล่าวว่า  หลังจากที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช ได้ส่งสำนวนการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 23 มกราคม  ที่ผ่านมานั้น  ในวันนี้อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติหรือละเว้น   การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ      หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 , มาตรา 123/1  ระวางโทษจำคำ 1-10 ปี ปรับ 20,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  พร้อมนำเอกสารหลักฐานจำนวนมากตามที่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายได้รวบรวมมา โดยได้ตรวจสอบและเรียบเรียงให้สอดคล้องกับคำฟ้องตลอดจนจัดทำสำเนาให้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว   

นายสุรศักดิ์  กล่าวอีกว่า  สำหรับการยื่นฟ้องในวันนี้แม้จำเลยจะมิได้เดินทางมาศาลฎีกาฯ แต่อัยการสูงสุดยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย   ในการฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 ข้อ 8 วรรคสอง ที่ระบุว่า หากโจทก์นำตัวจำเลยมาศาลในวันฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาในการขังหรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว หากไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลให้โจทก์ระบุที่อยู่จริงของจำเลยมาในฟ้อง   ส่วนขั้นตอนตามกฎหมายภายหลังการฟ้องคดีนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีนี้จำนวน 9 ท่าน โดยเลือกจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน  จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าว จะประชุมเพื่อเลือกเจ้าของสำนวนคดีจำนวน 1 ท่าน และพิจารณาคำฟ้องของอัยการสูงสุด โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 19 มี.ค. นี้  หากไม่มีการแก้ไขและเห็นว่าคำฟ้องครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว  ศาลฎีกาฯก็จะมีคำสั่งประทับฟ้อง   และกำหนดให้คู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก  โดยจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเจ้าหน้าที่ศาลไปส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลย ณ ที่อยู่ตามที่ปรากฏในคำฟ้อง เพื่อให้จำเลยเดินทางมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก  แต่หากไม่มีผู้รับหมายเรียกตามกฎหมายให้ปิดหมายได้  ซึ่งขั้นตอนนับจากวันที่ศาลฎีกาฯ ประทับฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ ไปส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกดังกล่าวจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

นายสุรศักดิ์  กล่าวอีกว่า   สำหรับขั้นตอนของทางอัยการนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาจำนวน 6 คน โดยมีนายชุติชัย เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อรับผิดชอบในการว่าความคดีนี้ในชั้นศาล  ซึ่งสำนวนคำฟ้องจะใช้ของป.ป.ช.เป็นหลัก โดยศาลจะใช้ระบบไต่สวน และหากเห็นว่าพยานหลักฐานใดยังไม่สมบูรณ์หรือมีข้อสงสัยใดๆ ศาลฎีกาฯก็สามารถออกหมายเรียกให้พยานมาไต่สวนเพิ่มเติมได้ 

“อัยการยืนยันว่าพยานหลักฐานในสำนวนนี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ซึ่งคณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างจัดเตรียมบัญชีพยานประมาณมากกว่า 10 ปาก เพื่อไต่สวนในชั้นศาล เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร มีการทุจริตตรงไหนส่วนใดบ้าง  ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานของทาง ป.ป.ช.”  นายสุรศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าในคำฟ้องทางอัยการได้คัดค้านการประกันตัวหรือกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่  นายชุติชัย กล่าวว่า  ทางอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด  แต่ขณะนี้ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาล  ซึ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลแล้ว หากต้องการจะเดินทางไปต่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล  แต่หากจะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ก็ขึ้นอยู่กับทาง คสช. ว่าจะอนุญาตหรือไม่   

เมื่อถามว่าภายหลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งรับฟ้อง จะถือว่าตอนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยแล้วหรือไม่  นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า  ขณะนี้ถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยต่อศาลแล้ว  เพราะคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลไม่ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเหมือนคดีปกติทั่วไป   เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก็จะถือว่าเป็นจำเลยแล้ว   

เมื่อถามว่าหากกระบวนการเข้าสู่ในชั้นศาลแล้ว และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หลบหนีออกนอกประเทศ คดีจะขาดอายุความหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำลังอยู่ระหว่างแก้ไขใหม่นั้นกำหนดไว้ว่า  เรื่องการให้หยุดนับอายุความในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดี จะไม่ให้นับเวลาที่หลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งหากจำเลยหลบหนีก็จะไม่นับอายุความจนกว่าจะสามารถติดตามตัวจำเลยกลับมาได้ ถึงจะเริ่มนับอายุความต่อจากเดิม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายดังกล่าว   

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาสำนวนคดีของนายบุญทรง  เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ พร้อมพวกในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว   นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า  ทาง ป.ป.ช.ได้แยกสำนวนการสอบสวนคนละสำนวนกัน แต่มูลเหตุแห่งคดีทั้งสองมีส่วนเกี่ยวพันกัน  ซึ่งทาง ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา  ซึ่งทางอัยการกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ  1 เดือน หากพิจารณาแล้วพบว่าพยานหลักฐานในสำนวนคดีมีความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯแยกเป็นอีกสำนวนหนึ่ง แต่หากพิจารณาแล้วยังมีข้อไม่สมบูรณ์ ก็อาจจะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์อีกครั้ง  โดยเบื้องต้นทางอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนคดีของนายบุญทรง ประกอบด้วยอัยการจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่พิจารณาสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่มีอัยการเพิ่มเข้ามาอีก 1 คน  

เมื่อถามถึง กรณีป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้กระทรวงคลังฟ้องแพ่ง เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการเป็นเงิน 6 แสนล้านบาท  นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า  ในการไต่สวนข้อยุติดังกล่าวขณะนี้ขั้นตอนยังอยู่ที่ทาง ป.ป.ช. ซึ่งหากทาง ป.ป.ช. ส่งสำนวนมากที่อัยการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเนื่องจากเป็นคดีละเมิดที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคดีมีอายุความ 1 ปี  ส่วนค่าเสียหายในคดีนี้นั้นเป็นไปตามที่ป.ป.ช.ระบุไว้     












กำลังโหลดความคิดเห็น