ที่ประชุม ครม. อนุมัติไทยเข้าภาคีสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมของยูเนสโก อนุมัติงบจัดการน้ำ 7.8 พันล้าน 1,700 โครงการ ให้องค์การสวนยางกู้ ธ.ก.ส. เพิ่ม 6 พันล้านซื้อยางแผ่นดิบแก้ยางพาราราคาตกต่ำ ไฟเขียวบังคับลงทะเบียนซิมการ์ดภายใน 31 ก.ค. พร้อมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ทางทะเล และกฎกระทรวงด้านความปลอดภัยการขนส่ง
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามมาตรา 23 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
ทั้งนี้ ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป อีกทั้งให้กระทรวงวัฒนธรรมทำแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้เป็นรูปธรรม เช่น การขึ้นทะเบียนปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมในส่วนที่จับต้องไม่ได้ในระดับชาติและระดับโลก การเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชน สำหรับการเข้าสู่อนุสัญญาจะส่งผลดีต่อการปกป้องดูแลและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบันทั่วโลกได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว 161 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องจัดตั้งสำนักมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงาน และจัดทำฐานข้อมูลในรูปแบบเอกสาร และดิจิตอล โดยขณะนี้ไทยประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้ว 286 รายการ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ครม. มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 48/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ สำหรับกรรมการ ประกอบด้วย นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวกีฬา เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม. เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ พร้อมทั้งตรวจสอบประเมินผลการทำงานหน่วยงานภาครัฐ
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมมีการอนุมัติงบกลาง 7 พันกว่าล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วนประจำปีงบประมาณ 2558 กว่า 1,700 โครงการ ภายในระยะเวลา 1 ปี งบกลางเพื่อการบริหารจัดการน้ำในปี 2558 นั้น จะต้องใช้วงเงินทั้งสิ้นกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นงบประมาณประจำปีที่มีการจัดสรรอยู่แล้ว 6 หมื่นล้านบาท และจะต้องหาเพิ่มเติม 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะแยกออกเป็นงบเงินกู้กว่า 3 หมื่นล้านบาท และงบกลาง จำนวน1.6 หมื่นล้านบาท
โดยในวันนี้ที่ประชุมได้มีการเสนอเพื่อขอปรับบางโครงการในส่วนงบกลาง 1.6 หมื่นล้านบาท จำนวน 1,633 รายการ เดิมใช้เงิน 8.7 พันล้านบาท ซึ่งวันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ขอให้ปรับโครงการเป็น 1,712 รายการ ใช้วงเงิน 7.8 พันล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือใน 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น จะมีการหารือและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้องค์การสวนยาง กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพิ่มอีก 6 พันล้านบาท เพื่อรับซื้อยางแผ่นดิบในโครงการมูลพันธ์กันชนยางพารา เพื่อใช้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำขณะนี้ พร้อมเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำ ตามที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายและจัดการทรัพยากรน้ำเสนอมา
อีกด้านหนึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบให้การลงทะเบียนซิมระบบเติมเงิน และการลงทะเบียนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบฟรีไวไฟเป็นวาระแห่งชาติตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอ โดยให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินทุกคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนให้ลงทะเบียนให้เสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ตามประกาศของ กสทช.
โดยจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงแรงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ โดยกระทรวงแรงแรงงานจะเร่งออกบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ จะเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินรีบมาลงทะเบียน สำหรับการจดทะเบียนซิมมียอดรวมเกือบ 4 ล้านซิม ประมาณวันละเกือบ 100,000 ซิม
อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกับอนุสัญญาแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 ต่อไป โดยกำหนดให้ลูกเรือ ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนคนประจำเรือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกรณีที่ลูกจ้างต้องการลางาน เจ้าของเรือจะต้องออกค่าเดินทางให้ พร้อมจัดระยะเวลาทำงานให้เหมาะสม ทั้งนี้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเรือได้ทันทีหากพบข้อผิดสังเกต
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ... ฉบับนี้มีสาระสำคัญรวม 15 ข้อ กำหนดให้ 1. กำหนดความหมายของกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทางทะเล เช่น เรือ คนประจำเรือ เจ้าของเรือ ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล ใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล เป็นต้น ให้เป็นบทนิยามเพื่อความสะดวกในการใช้บังคับกฎหมาย
2. กำหนดให้การจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
3. กำหนดให้ รมว.แรงงาน รมว.คมนาคม รมว.ต่างประเทศ และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น
4. กำหนดให้นำจารีตประเพณีเกี่ยวกับการทำงานของคนประจำเรือ การเดินเรือทะเล และข้อกำหนดหรือมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทางทะเลมาใช้บังคับ ในกรณีที่มิได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกำหนดให้หนี้เงินที่เจ้าของเรือต้องชำระเป็นหนี้ที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้าของเรือในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ กำหนดให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับแรงงานทางทะเลอยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน
5. กำหนดห้ามเจ้าของเรือให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ทำงานบนเรือ และกำหนดห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัย
6. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตจัดหางานกำหนดให้ผู้ขออนุญาตจัดหางานต้องวางหลักประกันเพื่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดหางาน และกำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดหางานเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ
7. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ โดยเก็บไว้บนเรือและให้ไว้กับคนประจำเรือ และกำหนดให้รมว.แรงงานกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้
8. กำหนดกรณีคนประจำเรือเดินทางกลับ โดยให้เจ้าของเรือเป็นผู้ดำเนินการส่งกลับและออกค่าใช้จ่าย และกำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำประกันภัยให้แก่คนประจำเรือทุกคน เพื่อส่งคนประจำเรือกลับภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกัน
9. กำหนดให้เจ้าของเรือต้องจ่ายค่าเสียหายในกรณีที่กำหนดเมื่อคนประจำเรือได้รับผลกระทบจากการที่เรือเสียหายหรือเรือจม
10. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดที่พักอาศัยและสถานที่บนเรือให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ และจัดอาหารและน้ำดื่มที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอต่อคนประจำเรือโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
11. กำหนดให้เรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดห้าร้อยตันกรอสขึ้นไปต้องมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและให้มีใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลด้วย
12. กำหนดให้คนประจำเรือและเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
13. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขึ้นไปบนเรือเพื่อตรวจสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ เรียกบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา และมีคำสั่งให้เจ้าของเรือหรือคนประจำเรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้
14. กำหนดให้มีคณะกรรมการแรงงานทางทะเล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานทางทะเลเกี่ยวกับการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัตินี้ และการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมาย
15. กำหนดความผิดและโทษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของเรือสงวนไว้ไม่เปิดเผย 16. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลที่ออกตามประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยเรื่องมาตรฐานแรงงานทางทะเล ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นอายุ
นอกจากนี้ ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ หรือสิ่งของต้องปฏิบัติขึ้นใหม่ทั้งหมด อาทิ จัดให้มีสิ่งป้องกันไม่ให้สัตว์หรือสิ่งของ ที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น ส่องแสงสะท้อน หรือปลิวไปจากรถ ทำให้เสื่อมเสียสุขภาพอนามัยต่อประชาชน หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน เพิ่มเติมกฎกระทรวงห้ามผู้ขับรถใช้คอมพิวเตอร์พกพา เพื่อใช้เป็นโทรศัพท์ หรือใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในขณะขับรถ และให้ผู้ขับรถต้องใช้เครื่องหมาย หรือสัญญาณ เมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถ หรือไหล่ทาง