“จักรมณฑ์” เผยหลังประชุมบีโอไอ นายกฯ อนุมัติ 23 โครงการ 7 หมื่นล้าน ให้นักลงทุนเดิมขอรับส่งเสริมเพิ่มได้ พร้อมตั้งอนุ กก.ภาวะการลงทุน เป็นข้อมูลเสริมการลงทุน รับนายกฯ ย้ำต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ผุดแนวคิดเอกชนร่วมรถไฟความเร็วสูง ชี้เส้นไปพัทยา-หัวหินมีสิทธิ์ทำ รับรัฐทุ่มรถไฟรางคู่ คงไม่ลงทุนเพิ่ม
วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรกของปี 2558 โดยพิจารณาอนุมัติให้มีการส่งเสริมลงทุนแก่กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 2557 รวม 23 โครงการ เงินลงทุนกว่า 77,228 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบให้นักลงทุนรายเดิมที่เคยได้รับส่งเสริมสามารถขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมได้หากลงทุนเพิ่มในด้านพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น วิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมขั้นสูง
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า นายกฯ มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการภาวะการลงทุน โดยให้บีโอไอ เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงแรงงาน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์, สภาหอการค้า และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทั้งนี้ ข้อมูลส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องมีอยู่เป็นเฉพาะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ SME ในเรื่องของข้อมูลอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ รง.4 และการค้าเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริการต่างๆ เป็นข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนของประเทศทั้งหมดให้รวมในที่เดียวกัน
นายจักรมณฑ์กล่าวต่อว่า นายกฯมีแนวคิดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยกำชับว่าจำเป็นต้องมี อยากให้ทำ แต่เหลือเพียงการแก้ปัญหาบางข้อ ทั้งนี้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูและประสานว่าจะทำอย่างไร โดยต้องพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศกรณีที่มีการร่วมทุน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้รับเรื่องและเล็งเห็นว่าถ้าไม่ทำเรื่องนี้ ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวกับเหล็กคงจะไม่สมบูรณ์ อาจเกิดวิกฤตได้
นายจักรมณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้น นายกฯ มีแนวคิดถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอ พร้อมเส้นทางแก่รัฐบาล และรัฐฯ จะรับพิจารณาอีกที คาดว่าเส้นทางที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา เป็นระยะทางที่ไม่ไกลเกินไป อีกทั้งยังผ่านชลบุรี ศรีราชา แหลมฉบัง ที่เป็นบริเวณชุมชนหนาแน่น สายเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่การสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นจะต้องทำเป็นเส้นทางตรง เน้นความแข็งแรง จึงจะต้องสำรวจดูเส้นทางใหม่ ทำสะพานใหม่ และคาบเกี่ยวเรื่องการเวนคืนที่ดินด้วย ทั้งนี้หลังจากที่ประเทศไทยได้เซ็นบนทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับจีนเกี่ยวกับการสร้างรางคู่ขนาน มีการลงทุน 4 แสนล้านบาท
“พูดง่ายๆ ว่ารัฐบาลคงไม่ไปลงทุนด้วยแล้ว เราทำรถไฟรางคู่ แล้วหากสมทบใหม่ก็จะหนักไป แต่ถ้าเอกชนบอกว่ายากจะให้รัฐช่วยเหลืออะไรก็ยื่นข้อเสนอมา ไม่ใช่ให้ร่างเอง จะฟังข้อเสนอก่อน” นายจักรมณฑ์กล่าว