xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” สวนนายกฯ ยันเปิดสัมปทานไม่ตอบโจทย์ ปชช.ไม่จริงไทยจะขาดแคลนพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
“รสนา” ยันไม่จริงไทยจะขาดแคลนพลังงานหากไม่รีบเปิดสัมปทาน ชี้ สมัย “รบ.ปู” ผูกสัญญาซื้อก๊าซนำเข้าถึง 20 ปี ยังไง ปชช. ก็ต้องรับภาระใช้ก๊าซแพงผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ประกอบพลังงานไฟฟ้าสำรองมีเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว แฉรีบเปิดเพราะธุรกิจปิโตรเคมีต้องการก๊าซถูกป้อนอุตสาหกรรม ยกพระราชประสงค์ ร.7 กระตุ้น “ประยุทธ์” ฟังเสียง ปชช. แก้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทาน

วันนี้ (14 ก.พ.) เมื่อเวลา 00.05 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “ถอดรหัสความรู้ของท่านนายกฯเรื่องพลังงาน” หลังจากที่ฟังรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดังนี้

1) ท่านนายกฯพูดว่า “น้ำมันลง ไม่ใช่ว่าแก๊สจะต้องลงไปด้วย คงไม่ใช่แบบนั้น เพราะคนละส่วน คนละประเภทกัน คนละต้นทุน คนละวิธีการ เพราะฉะนั้น ถ้าน้ำมันบางประเภทลง บางประเภทขึ้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายในการสนับสนุนพลังงานของประเทศด้วย ของรัฐด้วย ในวันนี้รัฐต้องการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลด้วย บางอย่างก็ต้องลดกันเพื่อจะลดการนำเข้าแก๊สในประเทศ หรือว่าต้นทุนน้ำมันดิบ "

ข้อความประโยคนี้ของท่านนายกฯ พอจะตีความได้ประมาณนี้ว่า

1.1) ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงมาก แต่ราคาแก๊สในประเทศไม่จำเป็นต้องลดมาก เพราะขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล ท่านคงหมายถึงการนำเอทานอลที่มาจากผลิตผลทางการเกษตรมาผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอลล์ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ กรณีนี้ปรากฎว่าเนื้อน้ำมันของกลุ่มแก๊สโซฮอลล์ทั้งหลายมีราคาแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินล้วนๆ ราคาเนื้อน้ำมันแก๊สโซฮอลล์จะแพงขึ้นตามปริมาณเอทานอลที่เติมเข้าไป เพราะราคาเอทานอลในประเทศไทยแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 และแพงกว่าเอทานอลตลาดโลกถึงประมาณลิตรละ 10 บาท

ดังนั้น ยิ่งเติมเอทานอลมากเท่าไหร่ ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ต้องจ่ายราคามากขึ้นทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่นราคา E85ถูกกว่าน้ำมันชนิดอื่นด้วยการเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยลิตรละ 8.23 บาท ซึ่งอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร

แต่ข้อมูลจริงคือบริษัทน้ำตาลและบริษัทผลิตสุราได้ประโยชน์มากกว่าชาวไร่มันสัมปะหลังรวมทั้งชาวไร่อ้อยด้วย เพราะสัดส่วนการนำกากน้ำตาล และมันสัมปะหลังมาผลิตเอทานอลคือ 80 : 20

การส่งเสริมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอลล์ทำให้มีการใช้เอทานอลแทนเบนซินวันละ 3 ล้านลิตร เท่ากับประชาชนลดการใช้น้ำมันเบนซินลงได้วันละ 3 ล้านลิตร ปีละ 1,095 ล้านลิตร ทำให้โรงกลั่นสามารถส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น และได้กำไรเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นส่งออกรัฐบาลไม่เก็บภาษี แต่ประชาชนเป็นผู้แบกต้นทุนราคาเอทานอลที่มีราคาแพงกว่าตลาดโลกให้กับธุรกิจน้ำตาลและสุรามากกว่าช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ

ในกรณีนี้ดิฉันขอความกรุณาให้ท่านนายกฯน้อมใจศึกษาแนวพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเอทานอลและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

“...น้ำมันสมัยใหม่มันแพง ไม่รู้ทำไมมันแพง สมัยนี้อะไรๆ ก็แพงขึ้นทุกที จะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบาก นอกจากหาวิธีที่จะทำน้ำมันที่ราคาถูก ซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อย คือ แทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน95 ก็ใช้ออกเทน91 แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดนึง ก็เป็นออกเทน 95 อาจเป็นได้ว่ารถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัด ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง...”

(ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2543 นำมาสู่การพัฒนาการใช้เอทานอลผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อใช้เป็นแก๊สโซฮอล์)

นายกฯควรพิจารณาว่าเหตุใดยิ่งส่งเสริมเอทานอลกลับยิ่งทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตัวเลขการใช้เบนซินที่ลดลงของประชาชน (เพราะยอมแบกต้นทุนเอทานอลแพงขึ้น) กลับไม่เคยปรากฎอยู่ในตัวเลขการนำเข้าพลังงานที่ลดลงของกระทรวงพลังงาน ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอ้างคลุมๆ ว่า เป็นการนำเข้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศทั้งหมด เช่น ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานถึง 85% ในปี 2557 ต้องใช้เงิน 1.44 ล้านล้านบาทนำเข้าพลังงาน ไม่เคยมีการแยกแยะตัวเลขการนำเข้าพลังงานทั้งหมดว่า เป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศเท่าไหร่ ?

นำเข้าเพื่อทดแทนการส่งออกน้ำมันดิบจากทรัพยากรในประเทศเท่าไหร่ ? นำเข้าเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซ LPG ของปิโตรเคมีเพื่อส่งออกเป็นเม็ดพลาสติกเท่าไหร่ ? หรือนำเข้าเพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกเท่าไหร่ ?

แต่ใช้ตัวเลขรวมเพื่อลวงตาว่าประชาชนใช้สิ้นเปลือง จึงต้องขายราคาแพงเพื่อบังคับให้ประชาชนประหยัด ดังข้อความของท่านนายกฯที่กล่าวว่า “เพราะฉะนั้น บางอย่างนั้นถ้าเราใช้มากๆ ไป ไม่ประหยัด ถูกมากก็ใช้มาก ความสิ้นเปลืองต่างๆ ก็เสียหาย”

1.2) หากข้อความว่า “น้ำมันลงไม่ใช่ว่าแก๊สจะลงไปด้วย"ของท่านนายกฯ หมายรวมถึง ก๊าซหุงต้ม หรือ ก๊าซ LPG ด้วย ก็ต้องเรียนท่านนายกฯว่า ขณะนี้ก๊าซ LPG ในตลาดโลกมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 14.58 บาท (426 เหรียญ/ตัน) แต่ราคาก๊าซ LPG จากทรัพยากรในอ่าวไทยที่ผ่านโรงแยกก๊าซภายในประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานใน ครม. ของท่านอนุมัติราคาขายส่งเป็น 16.43 บาท /กก.(498 เหรียญ/ตัน)

ทั้งที่ราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซที่แหล่งลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ขายให้ ปตท. ในราคาบวกกำไรแล้วเพียง 10.02 บาท/กก. ดังนั้น โรงแยกก๊าซขนาดใหญ่ควรมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่านี้ หรืออย่างน้อยไม่ควรมีราคาสูงกว่าโรงแยกก๊าซขนาดเล็กที่แหล่งลานกระบือ

การที่รัฐมนตรีของท่านนายกฯปรับราคาขายส่งของโรงแยกก๊าซจากราคา 10.98 บาท/กก. เป็น 16.43บาท/กก. จึงเป็นการใช้อำนาจรัฐกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มกำไรให้เอกชนอย่างอู้ฟู่ ใช่หรือไม่?

ยิ่งกว่านั้น กระทรวงพลังงานยังอนุมัติให้เอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเข้าก๊าซ LPG ตันละ 85เหรียญให้กับบริษัทนำเข้าที่มีเพียงบริษัทเดียวคือ ปตท. และอนุมัติให้นำราคา LPG ทั้งหมดมาเฉลี่ยเป็นราคาที่ผู้ใช้ก๊าซ LPG ต้องแบกรับราคาแทนธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งที่ก๊าซLPG ในประเทศมีเพียงพอให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ เพียงแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นมหาศาลของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงไม่มีเหตุผลที่ภาคครัวเรือนและผู้ใช้ LPG กลุ่มอื่นต้องใช้LPGราคาแพงทั้งจากก๊าซในประเทศ และก๊าซนำเข้าเพื่ออุ้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ตรงนี้จึงใคร่ขอเสนอท่านนายกฯโปรดพิจารณาให้ปิโตรเคมีใช้วัตถุดิบ LPG จากนำเข้าทั้งหมด ไม่ใช่มาแย่งประชาชนใช้จนเกิดปัญหาความขาดแคลนก๊าซ LPG จนนำมาเป็นข้ออ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อผลักดันให้ต้องรีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

ยิ่งกว่านั้น กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายอุ้มกลุ่มทุนพลังงาน ด้วยการกำหนดให้ก๊าซจากอ่าวไทยที่ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินค่าภาคหลวงให้รัฐ ซึ่งตามกฎหมายปิโตรเลียมระบุการเทียบค่าความร้อน 10 ล้านบีทียู = 1 บาร์เรล ปรากฏว่าอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยอมรับใน กมธ.พลังงาน ของ สปช. ว่า ได้ปล่อยให้ใช้หน่วยเทียบเพียง 5.7 ล้านบีทียู = 1 บาร์เรล ในการเก็บค่าภาคหลวงจากเอกชนจริง ซึ่งทำให้รัฐได้เงินค่าภาคหลวงน้อยลงเกือบ 50% โดยอ้างว่า “เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับเอกชนผู้รับสัมปทาน” !!

2) คำพูดท่านนายกฯที่ว่า “ในส่วนของอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าหากว่าประเทศไทย มีพลังงานที่ใช้จากแหล่งพลังงานภายในไม่เพียงพอ ต้องจัดหาจากต่างประเทศ หรือจัดซื้อทั้งหมด นั่นคือปัญหาของเรา ถ้าปิดซ่อมหรือว่าถ้าเขาไม่ส่งหรือถ้ามีปัญหาอื่นๆ ก็แล้วแต่ความขัดแย้ง เราจะไม่มีพลังงานใช้ในประเทศ ถ้าเราไม่เตรียมการในประเทศไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ แม้ว่าจะใช้เวลามากถึง 5 - 6 ปี ในการลงทุนขุดเจาะต่างๆ เหล่านี้ ก็ไปว่ากันมา ว่าจะขุดได้อย่างไร”

ท่านนายกฯคงไม่ทราบว่า ในรัฐบาลที่แล้ว ได้มีการเซ็นสัญญาระยะยาวซื้อก๊าซ LNG จากประเทศการ์ต้าเป็นเวลา 20 ปี โดยเริ่มส่งก๊าซ LNG ปีละ 2 ล้านตัน ตั้งแต่มกราคม 2558 เป็นต้นไป ท่านเลยไม่ต้องกังวลว่าก๊าซจะขาด และหาซื้อไม่ได้ ถ้าแหล่งก๊าซพม่าจะปิดซ่อม หรือมาเลเซีย จะเอาก๊าซจากแหล่งเจดีเอไทย - มาเลเซีย ไป เพราะประเทศไทยไปทำสัญญานำเข้าก๊าซ LNG ไว้แล้ว อย่างไรเสียประชาชนต้องใช้ของแพงมาผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนได้กำไรอยู่แล้วค่ะท่านนายกฯ

ท่านนายฯอาจจะยังไม่ทราบว่ากำลังสำรองไฟฟ้าที่กำหนดไว้ 15% ขณะนี้เราใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้มีพลังงานสำรองเกินจาก 15% มาเป็น 25% และจะเพิ่มเป็น 40% ในอีกไม่นานเพราะเป็นไปตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประชาชนเป็นคนแบกรับทั้งสิ้นค่ะ ไม่ใช่กลุ่มทุนพลังงานหรือแม้แต่รัฐบาล

ดังนั้น ที่มีการกล่าวอ้างว่าถ้าไม่รีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 อีก 5 - 6 ปี จะไม่มีก๊าซเพียงพอในการผลิตไฟฟ้าใช้ และประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่จริง แต่ความจริงที่ต้องเร่งให้เปิดสัมปทานรอบ21 คือธุรกิจปิโตรเคมีต้องการก๊าซเปียก (Wet Gas)ในอ่าวไทยราคาถูกไปป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารในบริษัทพลังงานคนหนึ่งกล่าวว่า

“ก๊าซแอลเอ็นจีจะใช้ได้เฉพาะผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเท่านั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียกเหมือนในอ่าวไทย ซึ่งหากลดกำลังผลิตก๊าซในอ่าวก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะจะกระทบต่อการจ้างงานมหาศาลที่เกิดจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องปิโตรเคมี”

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การรีบเปิดสัมปทานโดยไม่แก้ไขกฎหมายที่ประเทศเสียเปรียบจำนวนมากนั้น ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาค่าไฟราคาแพงของประชาชน เพราะอย่างไรเสียประชาชน ก็ต้องรับภาระซื้อก๊าซ LNG ราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว

การที่ต้องรีบร้อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงของปิโตรเคมีซึ่งเป็นธุรกิจเอกชนของกลุ่มทุนพลังงานแบบเต็มๆ มากกว่า

ท่านนายกฯอุตส่าห์พูดว่า “เพราะฉะนั้นวันนี้อย่ามองรัฐบาลเป็นศัตรู เราไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นวันนี้เราเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ว่าสิ่งใดที่เราทำก็ผิดไปทั้งหมด หรือถูกไปทั้งหมด”

เมื่อท่านทราบอยู่แล้วว่า ท่านไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ดิฉันขอกราบเรียนว่า การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ใบรับรองความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ก็ถูกตราหน้าได้ว่า เป็นเผด็จการรัฐสภา หรือเป็นทรราชก็ได้ เมื่อรัฐบาลนั้นไม่ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน

รัฐบาลจากการรัฐประหารในอดีตหรือปัจจุบัน ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้น ไม่ว่าฉบับถาวรหรือชั่วคราว ระบุชัดเจนว่าทุกรัฐบาลไม่ว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐประหารล้วนถือตนว่าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น คือ การสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าอิสราธิปไตย หรือ ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ดังที่ท่านนายกฯได้กล่าวถึงนั้น ก็ขอให้ท่านได้น้อมเกล้าฯทบทวนพระราชปณิธานของพระองค์ผู้ทรงพระราชทานระบอบประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทย ดังที่ทรงลิขิตไว้ในพระราชหัตเลขาสละราชสมบัติว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

หากท่านนายกฯไม่ฟังเสียงทักท้วงของประชาชน และวิญญูชนทั้งหลายในบ้านเมืองนี้ ที่ขอให้ท่านชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ออกไปก่อน เพื่อจะได้มีเวลาในการฟังความโดยถี่ถ้วนแล้ว ประชาชนก็จะตั้งคำถามได้ว่า ท่านกำลังกระทำการที่ขัดต่อพระราชประสงค์ในพระราชหัตถเลขา ที่ไม่ให้ผู้ใด คณะใดกระทำการใดโดยสิทธิขาด โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร ใช่หรือไม่?

และประเด็นที่ประชาชนกำลังเคลือบแคลงใจ ก็คือ นโยบายที่ท่านทำอยู่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานบนภาระของประชาชนทั้งประเทศ ใช่หรือไม่? ซึ่งนอกจากท่านนายกฯจะไม่ได้แก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว ท่านกำลังจะเป็นผู้สร้างปัญหาและความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาเสียเอง ท่านทราบหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น