xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ตั้งคณะ กมธ. ศึกษาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม-ภาษี - โต้ร่างกฎหมายศาลทหารไม่กระทบพลเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
สนช. ตั้ง กมธ. ศึกษาปัญหา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม หลังพบร้องเรียนให้ยกเลิกสัมปทานรอบที่ 21 แล้วใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทน ด้าน กม. ศาลทหาร “พล.ร.ท.กฤษฎา” ยันไม่กระทบพลเรือนแน่ โต้ “ยูเอ็นเอชซีอาร์ - แอมเนสตี้” เข้าใจผิด เหมารวมกฎอัยการศึก - ม.112 คาดสิ้นเดือนนี้ ผ่านวาระ 2 และ 3 ส่วนชมรมเหล็กลวดฯ ยื่น กมธ.พาณิชย์ หลังกรมการค้าต่างประเทศ เปิดไต่สวนการทุ่มตลาด “พ.ต.อาณันย์” เตือน “ตู่ จตุพร” พูดจาไม่สร้างความปรองดอง พ่วงอดีต ส.ส. เพื่อไทย ระวังตกขบวนนิรโทษฯ

วันนี้ (12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา โดยในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช. ได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้มีการขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของการใช้ปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จนส่งผลให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกระบบสัมปทาน และเอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวอย่างรอบด้าน ดังนั้น ตนและคณะจึงเสนอญัตติตามนัยของข้อบังคับฯ ข้อ 38 เพื่อให้ที่ประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยมีกำหนดเวลาทำงาน 90 วัน ซึ่งทางที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยที่จะตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว โดยมีจำนวนทั้งหมด 21 คน

ด้าน พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่ .... พ.ศ. .... กล่าวถึงกรณีที่ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ให้ สนช. ทบทวน โดยเฉพาะมาตรา 46 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ถึง 84 วัน ว่า คือความเข้าใจผิด เพราะหากอ่านมาตรา 64 โดยละเอียดแล้ว จะพบว่าอำนาจสำหรับควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่ไว้ใช้สำหรับทหารอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับพลเรือน เจตนารมณ์ของมาตรานี้ตลอดจนถึงกฎหมายธรรมนูญศาลทหารทั้งฉบับ คือ ไว้ใช้สำหรับการควบคุมดูแลทหารด้วยกันเอง โดยให้อำนาจผู้บังคับบัญชาคอยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีส่วนใดไปกระทบต่อสิทธิพลเรือนเลย

พล.ร.ท.กฤษฎา กล่าวว่า ความเข้าใจผิดขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลนั้น น่าจะเกิดจากการนำประเด็นการบังคับใช้กฎอัยการศึก และประเด็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มารวมกัน แต่ถ้าหากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่า ในกรณีของผู้ใช้นามแฝง “บรรพต” ทหารที่อำนาจตามกฎอัยการศึกสามารถควบคุมตัวพลเรือนได้ ก็ควบคุมตัวเพียงแค่ 2 วัน แล้วก็ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ที่กำหนดให้การกระทำที่เข้าข่ายยุงปลุกปั่นกระด้างกระเดื่องหรือหมิ่นสถาบันต้องขึ้นศาลทหาร จะเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมเดินไปตามแบบปกติ ทหารเพียงเข้ามามีส่วนตามกฎอัยการศึก และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น ไม่ได้มีการนำธรรมนูญศาลทหารมาบังคับใช้แก่พลเรือนเลยสักขั้นตอน

“ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้วในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งคาดว่าวิป สนช. น่าจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้ และทาง พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ในฐานะประธาน กมธ. วิสามัญ พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะทำการนัดแถลงชี้แจงรายละเอียดและเจตนารมณ์อีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อให้สังคมได้เข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ ตนขอยืนยันว่า เมื่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร ผ่านการพิจารณาของ สนช. จนนำไปสู่การบังคับใช้แล้ว จะไม่มีพลเรือนคนใดได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึกก็ตาม" พล.ร.ท.กฤษฎา กล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวภายนอกห้องประชุม ชมรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ นำโดย นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ยกเลิกการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ รวมถึงเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่เจือปนธาตุอื่นที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กรมการค้าต่างประเทศได้มีประกาศให้มีการเปิดการไต่สวนดังกล่าวขึ้น ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายที่ประชาชนต้องใช้สินค้าแพงเกินจริง

ในฐานะที่ชมรมฯ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องสั่งวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีราคา และต้นทุนที่ถูกกว่าสั่งวัตถุดิบในประเทศที่ข้อเท็จจริงมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 - 3 รายเท่านั้น ที่เป็นผู้กำหนดราคาจึงทำให้มีราคาสูงมาก ซึ่งการสั่งวัตถุดิบจากจีนที่มีราคาถูกกว่าในความเห็น เราจึงไม่ถือว่าเป็นการทุ่มตลาดแต่อย่างใด เพราะประชาชนได้ใช้สินค้ามีคุณภาพ ราคาถูกสมกับนโยบายของ คสช.และรัฐบาลที่ต้องการคืนความสุขให้กับคนไทย จึงขอให้คณะ กมธ. ได้พิจารณาและมีคำสั่งถอนเรื่องดังกล่าวและยกเลิกการไต่สวนเรื่องการทุ่มตลาด ภายใน 60 วันเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป

ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรองดอง สปช. และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนิรโทษกรรม ว่า ก่อนหน้านี้ กมธ. ปรองดองเคยหารือว่า ควรนิรโทษกรรมให้ผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมือง ไมรวมคดีคอร์รัปชัน คดีหมิ่นสถาบันฯ และคดีฆ่าคนตาย แต่จะเหมารวมนิรโทษบรรดาแกนนำหรือไม่ ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เช่น บรรยากาศบ้านเมืองเอื้อต่อการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่ดูจากวันนี้ กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาบอกว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ติดคุกแล้วคุกจะแตกนั้น คำพูดเช่นนี้ไม่สร้างความปรองดอง

“ผมเคยอยู่พรรคเพื่อไทยนั้นรู้ และเห็นหมดทุกอย่าง ตอนปี 2557 ที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังสุขงอม แกนนำ ส.ส. พรรคเพื่อไทย บางท่านยังบอกว่า ทำไมทหารไม่ยึดอำนาจ จัดระเบียบสังคมใหม่ให้จบๆ ไป บ้านเมืองจะได้ไม่มีม็อบ แต่พอทหารออกมาจริง วันนี้กลับมาต่อต้านยุยง ถ้าท่านเป็นสุภาพบุรุษ ทำไมร่วมมือให้ประเทศเดินได้ มาเเสดงพฤติกรรมแบบนี้ก็สังคมตั้งคำถามว่าต้องการอะไร ซึ่งการมาพูดจาสร้างความไม่ปรองดองแบบนี้ ใครที่ไหนจะมาให้อภัย หรือนิรโทษกรรมให้” พ.ต.อาณันย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น