xs
xsm
sm
md
lg

ทนายฉะ คสช.ห้าม “ปู” ไปนอก ละเมิดสิทธิผู้ต้องหา ชี้ อสส.มีความเห็นยังไม่ฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ(แฟ้มภาพ)
ทีมทนายยิ่งลักษณ์ โวย คสช.ห้ามนายหญิงไปนอก อ้าง อสส.สั่งฟ้องแค่ความเห็น ยังไม่ฟ้อง ไม่อยู่ในอำนาจควบคุม จะไปไหนก็ได้ หัวหมอชี้ กม.ให้แค่ส่งฟ้อง ไม่ได้ระบุให้นำตัวผู้ถูกฟ้องมาศาล ฉะคำสั่ง คสช.ขัดหลักคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาตาม รธน.

วันนี้ (8 ก.พ.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศตามคำขอ โดยอ้างเหตุคดีเรื่องทุจริตโครงการจำนำข้าวที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องว่า ขณะนี้แม้อัยการสูงสุดจะมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว แต่ก็เป็นเพียงความเห็น ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของอัยการสูงสุด หรือศาล ซึ่งตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก็ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถเดินทางไปที่ใดก็ได้โดยไม่ติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย

นายนรวิชญ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการยื่นฟ้องคดีอาญาของอัยการสูงสุดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ในชั้น การยื่นฟ้องต่อศาล และการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายกำหนดแต่เพียงให้สำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นโจทก์ส่งคำฟ้องและสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาล แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาที่ศาลด้วย โดยเมื่อศาลประทับรับคำฟ้องแล้ว ศาลจึงจะส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก ซึ่งเป็นวันที่จำเลยต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาล ทั้งนี้ในระหว่างที่ศาลรับฟ้องแล้วก็ยังมีขั้นตอนอีกมาก อาทิ การที่จะเลือกผู้พิพากษาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อกำหนดองค์คณะผู้พิจารณาพิพากษาอีกด้วย

“ในคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อยังไม่การกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก หาก คสช.มีคำสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศ ดัวยเหตุผลว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้วนั้น คำสั่งของ คสช.น่าจะขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาที่รัฐธรรมนูญของไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดได้รับรองและคุ้มครองไว้ตลอดมา” นายนรวิชญ์ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น