xs
xsm
sm
md
lg

ทนายอ้าง คสช.ขวาง"ปู"ไปนอกขัดหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศตามคำขอ โดยอ้างเหตุคดีเรื่องจำนำข้าวที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ทางทีมทนายทำงานอยู่ในกรอบเฉพาะในทางคดีเท่านั้น ส่วนการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปที่ไหนอย่างไรหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่จำต้องแจ้งให้ทางทีมทนายทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ความจริงแล้ว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ ก็ไม่ได้ติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายอะไร แม้ว่าอัยการสูงสุดจะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นเพียงความเห็น แต่ก็ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของอัยการสูงสุด หรือศาล ในคดีอาญามีหลักอยู่ว่า "ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลย ไม่มีความผิด จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด" ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของไทยที่ผ่านมาทุกฉบับ ก็ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ แม้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ได้รับรอง และคุ้มครองไว้ในมาตรา 4
สำหรับการยื่นฟ้องคดีอาญา ของอัยการสูงสุด ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ในชั้นการยื่นฟ้องต่อศาล และการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้ หรือไม่ในวันยื่นฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายกำหนดแต่เพียงให้สำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นโจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลพร้อมคำฟ้องเพื่อประกอบการพิจารณา และรวมไว้ในสำนวนเท่านั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ในการยื่นฟ้องต่อศาลให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลด้วย มีตัวอย่างเทียบได้ในคดี เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันยื่นฟ้องก็ไม่ต้องนำตัวอดีตนายสมชายไปศาลด้วย แม้ภายหลังการยื่นฟ้องแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ยังมีขั้นตอนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในการที่จะเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นองค์คณะผู้พิจารณาพิพากษาอีกขั้นตอนหนึ่ง และเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจึงจะส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก ซึ่งในวันพิจารณาครั้งแรก จึงเป็นวันที่จำเลยต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ดังนั้น ในสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อยังไม่มีการกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก หาก คสช.มีคำสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศ ดัวยเหตุผลว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้วนั้น คำสั่งของ คสช.น่าจะขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ ของผู้ต้องหา หรือจำเลย ในคดีอาญา ที่รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ได้รับรองและคุ้มครองไว้ตลอดมา
กำลังโหลดความคิดเห็น