“ประยุทธ์” วอนสังคมติดตามการทำงานของรัฐอย่างมีเหตุผล หวั่นเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปลื้มตลาดกล้วยไม้ข้างทำเนียบฯช่วยส่งเสริมการตลาดให้เกษตรกร สั่งผุดตลาดน้ำคลองผดุงฯ จำลองวิถีชีวิตคนไทยในอดีตเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ปรามแท็กซี่อย่าเอาเปรียบผู้โดยสาร พร้อมวางมาตรการเข้มจัดระเบียบแท็กซี่สุวรรณภูมิ ตั้งตู้ออกบัตรคิว ลั่นไม่สามารถเลือกรับผู้โดยสาร ห้ามคิดราคาเหมา
วันนี้ (23 ม.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ (คสช.) ถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่ง ว่า สำหรับเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมนั้น เรื่องใดที่อยู่ในกระบวนการของผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ของ คสช. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกระบวนการยุติธรรมนั้น ตนอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่และมีความรับผิดชอบโดยตรงได้ดำเนินการไปจนกว่าจะจบกระบวนการ อยากให้ประชาชนติดตามอย่างมีสติ มีเหตุ มีผล ใช้สติปัญญาความรู้ ใคร่ครวญให้ถูกต้อง อย่าให้ทุกอย่างต้องเป็นอุปสรรคกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งในภาคใหญ่ของประเทศ และปัญหาของประชาชนในส่วนของภาคการเกษตร และอื่นๆ ด้วย ก็มีประชาชนเดือดร้อนอยู่หลายส่วนด้วยกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังคงเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทุกๆ เรื่อง อาทิ ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ที่ประสบปัญหาก็ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับชาวสวนกล้วยไม้ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคนได้มีโอกาสไปเปิดงานด้วย พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทดลองจัดตลาดน้ำบริเวณข้างคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อจะจำลองวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ และเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวนั้นนำรายได้มาสู่ประชาชนในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โดยจะเริ่มเปิดได้ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ ควบคู่ไปกับตลาดกล้วยไม้ นอกจากนี้ในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. ของทุกปีก็เข้าสู่ปัญหาเรื่องไฟป่าและหมอกควัน ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
ในส่วนความคืบหน้าของการปฏิบัติงานของรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีก 3 แนวทาง ซึ่งรวมถึงงานป้องกัน ได้แก่ การทบทวน MOU ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี ความเข้มงวดในการตรวจสถานบริการที่เป็นจุดเสี่ยงกว่า 30 จังหวัด และการสกัดกั้นตามแนวชายแดน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะมีการเอาผิดต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ทำเอกสารชี้แจงไปยังองค์กรระหว่างประเทศเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาภายในเดือน ม.ค. นี้ รวมไปถึงการจดทะเบียนเรือประมงให้ครบทุกลำ ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล
นายกฯกล่าวต่อว่า เรื่องปัญหายาเสพติด รัฐบาลได้ดำเนินการพร้อมๆ กัน ทั้งการป้องกันและปราบปรามเครือข่ายภายในประเทศ ในพื้นที่เป้าหมาย ชุมชนเสี่ยงเขตเมือง โรงเรียน เรือนจำ และการสกัดกั้นการลักลอบมาจากภายนอกประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ชายแดน แหล่งผลิต ต่างๆ เหล่านี้ โดย ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับเมียนมาร์ - ลาว - กัมพูชา - เวียดนาม ในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะได้มีการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดในหลายจังหวัด คืนพื้นที่ชายหาดให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทำให้มีคนเดินทางไปพักผ่อนบริเวณชายทะเลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับคำชมเชยและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่โดยรอบ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ว่า ในส่วนของการให้บริการบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด ได้ให้มีการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารเทศเพื่อการบริการจัดการรถแท็กซี่ จะมีการติดตั้งตู้ KIOSK ในการออกบัตรคิว จะทำให้รถแท็กซี่ทุกคันไม่สามารถเลือกรับผู้โดยสารได้ และได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันรถแท็กซี่ มีมาตรการในการลงโทษ ไม่ให้มีการเรียกเหมาราคา ตั้งจุดตรวจสอบรถแท็กซี่ทุกคันที่บริเวณชานชาลาอาคารผู้โดยสารชั้น 1 ประตู 8 ซึ่งได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา
“ขอร้องแท็กซี่ ขอร้องทุกคนอย่าให้เสียชื่อกับการท่องเที่ยว หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสารไทยและชาวต่างชาติด้วย อันนี้อยากจะรวมความไปถึงแท็กซี่ทุกคัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯเปิดเผยด้วยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมการประชุมฝ่ายไทยสำหรับการประชุมร่วมไทย - จีน ครั้งที่ 1 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในเส้นทางหนองคาย - นครราชสีมา - แก่งคอย -ท่าเรือมาบตาพุด และ กรุงเทพฯ - แก่งคอย ที่ได้มีการลงนาม MOU กับจีนเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจศึกษาออกแบบก่อสร้างในวันที่ 1 มี.ค. นี้ แผนการก่อสร้างตามที่ตกลงกันไว้นั้น จะแย่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร (กม.) ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. ช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ช่วงที่ 3 แก่งคอย - นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย 355 กม. คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างงานโยธาในวันที่ 1 ก.ย. 58 นอกจากนี้ ได้เตรียมการสำหรับการพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมในการเจรจาการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่กับประเทศญี่ปุ่น โดยตนจะเดินทางไปพบปะกับผู้นำประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือน ก.พ. นี้
“วันนี้ผมเรียนยืนยันว่าในส่วนของ คสช. และรัฐบาล วันนี้เราเข้ามาเพียงแค่ 7 - 8 เดือนเท่านั้น บางอย่างทำง่ายๆ ก็เสร็จเร็ว บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ทำได้ มีคนเดือดร้อนก็แก้ปัญหาให้เขา แต่ไม่ใช่ว่าทำปีเดียวแล้วเสร็จทั้งหมด เสร็จไม่ได้ เพราะเรื่องมีมากมายเป็น 100 เรื่อง และต้องผูกพันกับกฎหมาย ผูกพันกับกระบวนการ วิธีการ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ มากมายไปหมด ซึ่งก็ต้องแก้คู่ขนานกันไป” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 23 มกราคม 2558
สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่รักทุกคน สัปดาห์นี้มีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและสังคมอีกหลายเรื่อง เรื่องใดที่อยู่ในกระบวนการของผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ของ คสช. สปช. สนช. และกระบวนการยุติธรรมนั้น ผมอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่และมีความรับผิดชอบโดยตรงนั้นได้ดำเนินการไปจนกว่าจะจบกระบวนการ ประชาชนอย่างพวกเราก็เพียงแต่ติดตามอย่างมีสติ มีเหตุมีผล ใช้สติปัญญาความรู้ใคร่ครวญให้ถูกต้อง อย่าให้ทุกอย่างต้องเป็นอุปสรรคกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในภาพใหญ่ของประเทศ และปัญหาของประชาชน ในส่วนของภาคการเกษตรและอื่นๆ ด้วย ก็มีประชาชนเดือดร้อนอยู่หลายส่วนด้วยกัน
สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคประชาสังคม และอื่นๆ นั้น รัฐบาลเราก็พร้อมจะรับฟัง แต่ท่านก็ต้องรับฟังจากฝ่ายรัฐบาลด้วย เอาข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มาโต้แย้งกันอย่างมีหลักการและเหตุผล หากมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำบอกเล่า หรือพิสูจน์ไม่ได้ มาพูดคุยกัน มันก็ไปกันไม่ได้ หากข้อมูลดีกว่าของรัฐบาล รัฐบาลก็พร้อมที่จะนำมาแก้ไขและปรับปรุง
สำหรับรัฐบาลนั้นปัจจุบันยังคงเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนทุกๆ เรื่อง เช่น ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ ที่ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุดไปแล้ว และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับชาวสวนกล้วยไม้ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ในลักษณะตลาดนัดกล้วยไม้ ริมคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไม้ให้มีช่องทางการค้าขาย และการโปรโมตผลผลิต
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นโครงการนำร่อง รัฐบาลอยากให้มีการขยายผลการจัดตลาดนัดชุมชนในลักษณะเช่นนี้ สำหรับสินค้าการเกษตรอื่นๆ นั้น อยากให้มีช่องทางในการจัดจำหน่ายของพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ต่อไปขอให้ทุกภูมิภาคเร่งดำเนินการด้วยนะครับ และในเช้าวันที่ผมได้ไปเปิดงานกล้วยไม้นั้น ได้เห็นคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งมีน้ำที่สะอาด และมีพื้นที่ที่ ว่างอยู่พอสมควรข้างทำเนียบฯ มีบรรยากาศที่ดี คิดว่าประเทศไทยน่าจะมีสถานที่ และสิ่งสวยงามที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก และมีความเป็นเอกลักษณ์ และทำอย่างไรว่าเราจะทำให้มันสวยงามมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจะสร้างอาชีพ และรายได้ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนเหล่านั้น ผมได้สั่งการให้ทดลองจัดตลาดน้ำ บริเวณข้างคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อจะจำลองชีวิตของคนไทยในอดีตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ และเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวนำรายได้มาสู่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย และเป็นช่องทางให้พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบพื้นที่การจราจร ได้มาค้าขายอาจจะไม่ใช่ในพื้นที่นี้ทั้งหมด เป็นพื้นที่อื่นด้วย ล่าสุดทราบจากคณะทำงานที่สั่งการไปแล้ว ว่าจะเริ่มเปิดได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ควบคู่ไปกับตลาดกล้วยไม้ไปด้วย ทดลองดู อยากให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนให้การสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ อันนี้เป็นความคิดที่ผมคิดก็ไปเริ่มต้นที่อื่นๆ ที่เดียวคงไม่พอนะครับ
ครับในห้วงนี้ในช่วงมกราคม - เมษายน ของทุกปี เข้าสู่ปัญหาเรื่องไฟป่า และหมอกควันเหมือนเดิม สาเหตุเกิดจากวิถีชีวิตที่เราต้องปรับพฤติกรรมในเรื่องของการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร ในการที่จะเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ โดยวิธีการเผา ซึ่งอาจไม่ควบคุมจนลุกลามเป็นไฟป่า ปัจจุบันนั้นได้รับรายงานว่า พบพื้นที่เกิดไฟป่าจากการจุดเผากว่า 700 จุด ในภาคอีสานและภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด รวมทั้งภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ กลุ่มควันลอยค้างปกคลุมในพื้นที่เป็นเวลานาน เกิดเป็นปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ระบบทางเดินหายใจ การมองเห็นลดทัศนวิสัยในการใช้ถนนด้วย เพื่อให้เป็นมาตรการเชิงรุก รัฐบาลได้มอบหมายให้ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ได้ลงดูพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกร และผ่านเครือข่ายชุมชนถึงสาเหตุไฟป่า หมอกควัน ผลกระทบและได้แนะนำส่งเสริมวิธีการกำจัดเศษวัสดุการเกษตร ด้วยการทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือการใช้ประโยชน์อื่นๆ แทนการเผา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการ และประสานงานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน สำหรับเพื่อการเตรียมแผน มีการซักซ้อม และการปฏิบัติรับมือกับไฟป่าคงต้องร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ภาคประชาชน และพี่น้องเกษตรกรด้วยนะครับ
ปัญหาหนึ่งคือเรื่องการใช้รถไถ เรื่องของราคาในเรื่องของการไถในกรณีที่มีซังข้าว หรือวัสดุพืชไร่อยู่ ถ้ามีอยู่จะราคาสูง ถ้าเผาไปแล้ว ราคาค่าจ้างก็จะถูกลง อะไรทำนองนี้ ฉะนั้นต้องไปหารือกันในทุกส่วนว่าจะทำกันอย่างไร
ในส่วนของการปฏิบัติงานสำคัญที่ผ่านมาของรัฐบาลมีความคืบหน้าดังต่อไปนี้
เรื่องแรก เรื่องการค้ามนุษย์ หรือการแก้ไขปัญหาการประมง ที่มีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของต่างชาติ คณะอนุกรรมการด้านสตรี ในการป้องกันการค้าและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีก 3 แนวทาง ซึ่งรวมถึงงานป้องกันได้แก่แนวทางการทบทวนเอ็มโอยูต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และสตรี ความเข้มงวดในการตรวจสถานบริการที่เป็นจุดเสี่ยงกว่า 30 จังหวัด และการสกัดกั้นตามแนวชายแดน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะมีการเอาผิดต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่สอบสวนสตรี 70 คน เพิ่มล่ามแปลภาษาเพื่อช่วยในการสอบสวนและคัดกรองอีก 110 คน ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหาย
ทั้งนี้ ได้เตรียมพื้นที่รองรับหลังการคัดกรองแล้ว เพื่อจะใช้ในการควบคุมทั้ง 8 แห่ง และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลให้ได้ตามมาตรฐาน ล่าสุด ดีเอสไอ สามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ได้ 2 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงคนไทย ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กต่ำกว่า 18 ปี ไปทำงานในเรือประมงน่านน้ำอินโดนีเซีย และได้ออกหมายจับเพิ่มเติมในจำนวนนี้ 4 คดี
สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ได้ทำเอกสารชี้แจงไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เรื่องความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา ภายในเดือนมกราคมนี้
สำหรับการดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงให้ครบทุกลำ ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัดนั้น ก็มีพื้นที่ 23 พื้นที่ที่ติดชายฝั่งทะเล และจะต้องมีการออกใบอนุญาตการทำประมงให้ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีเรือประมงที่จดทะเบียนไว้แล้วจำนวน 46,467 ลำ สำหรับ จ.ชลบุรี นั้น จะได้มีการตระเวนไปยังท่าเทียบเรือต่างๆ รวม 13 จุด เพื่อดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
สำหรับเรือประมงนั้นจริงๆ แล้วมีจำนวนมากกว่านี้มาก แต่ที่จดทะเบียนไม่ได้ อะไรไม่ได้ เพราะว่ายังทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของเรือ ความพร้อมของเครื่องมือในการจับปลาต่างๆ ยังไม่ได้มาตรฐานทั้งสิ้น เหล่านี้ต้องรีบปรับปรุง ถ้าปรับปรุงแล้วมันก็ขึ้นทะเบียนได้ ขนาดของเรือ เรือเล็ก เรือใหญ่ อะไรต่างๆ ก็ต้องทำให้เรียบร้อย ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วประชาชน หรือผู้ประกอบการ ก็ต้องร่วมมือด้วย
ในเรื่องที่ 2 เรื่องปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ รัฐบาลได้ดำเนินการพร้อมๆ กัน ทั้งการป้องกันและปราบปรามเครือข่ายภายในประเทศในพื้นที่เป้าหมาย ชุมชนเสี่ยงเขตเมือง โรงเรียน เรือนจำ และการสกัดกั้นการลักลอบมาจากภายนอกประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ชายแดน แหล่งผลิตต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ในเรื่องนี้ด้วย และในขณะนี้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็กำลังเดินทางไปประชุมความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และได้จัดทำแผนปฏิบัติการแม่โขงปลอดภัยนะครับ คือแม่น้ำโขงทำอย่างไรให้ปลอดภัยในเรื่องของการสัญจรไปมาค้าขาย
ระยะที่ 2 กำหนดให้มีปฏิบัติการระหว่างวันที่ 12 มกราคม - 12 มีนาคม 2558 ซึ่งประเทศไทยนั้นจะเป็นเจ้าภาพหลักในการปฏิบัติการร่วมกับสาธารณรับประชาชนจีน สปป.ลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และกองทัพเรือ โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (SMCC) เพื่อบูรณาการหน่วยงานเข้าร่วมปฏิบัติการตามภารกิจ และพื้นที่รับผิดชอบใน 6 ภารกิจด้วยกันคือ การตั้งจุดตรวจจุดสกัด การปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย การลาดตระเวนทางน้ำและทางบกตามลำน้ำโขง โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ การลาดตระเวนทางน้ำในเวลาเดียวกันให้สอดรับกันทั้ง 4 ประเทศ การสืบสวนหาข่าว และปฏิบัติการต่อกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ชายแดน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติด การติดตามบุคคลตามหมายจับคดียาเสพติด ที่หลบหนีในประเทศ และต่างประเทศ ต้องทำไปพร้อมกันนะครับ ทั้งการป้องปราม ป้องกัน และปราบปราม และฟื้นฟูด้วย
ในเรื่องของการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะนั้น ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดใน จ.ชลบุรี ระยอง ตราด และภูเก็ต เพื่อคืนพื้นที่ชายหาดให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยว ทำให้มีคนเดินทางไปพักผ่อนบริเวณชายทะเลเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ได้รับคำชมเชย จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในพื้นที่โดยรอบ และที่สำคัญจะทำให้การดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัยทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ดูแลผู้ประกอบการค้าให้เหมาะสมด้วย ทำอย่างไรเขาจะไม่เดือดร้อน หรือลดความเดือดร้อนได้บ้าง ก็เห็นใจนะครับ
ในเรื่องของการจัดระเบียบแท็กซี่นั้น ในส่วนของการให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอด ก็ได้ให้มีการทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริการจัดการรถแท็กซี่ KIOSK ติดตั้งตู้บริการออกบัตรคิวให้ผู้บริการรถแท็กซี่นั้น ไม่สามารถที่จะเลือกรับผู้โดยสารได้ และได้เพิ่มมาตรการกวดขันรถแท็กซี่มีมาตรการในการลงโทษไม่ให้มีการเรียกเหมาราคา หรือเลือกรับไม่รับผู้โดยสารเกิดขึ้นอีกนะครับ หรือตั้งจุดตรวจสอบรถแท็กซี่ทุกคันที่รับผู้โดยสาร
ทั้งนี้ ต้องเปิดมิเตอร์ให้การบริการเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) ได้ข่าวว่าได้มีการปฏิบัติอย่างเข้มแข็งนะครับ ผู้โดยสารต้องเป็นผู้เก็บตั๋วโดยสารไว้ตรวจสอบ ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่เก็บไปโดยเด็ดขาด จุดดังกล่าวตั้งอยู่ตรงชานชาลาอาคารผู้โดยสารชั้น 1 ประตู 8 ซึ่งได้เริ่มให้การบริการตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ก็ขอร้องแท็กซี่ ขอร้องทุกท่านนะครับ อย่าให้เสียชื่อกับการท่องเที่ยว หรือเป็นการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติด้วย อยากจะฝากไปถึงแท็กซี่ทุกคัน ตั้งแต่ คสช.เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะ มีมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่มิตเตอร์ในห้วง 7 เดือนที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มผลประโยชน์พยายามกลับเข้ามา ได้สั่งการให้ดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ คสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หมั่นตรวจตรา อย่าให้มีปัญหาในการเรียกเก็บค่าหัวคิว อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ
ในเรื่องต่อไปเรื่องการบุกรุกป่าสงวน และการจัดสรรที่ดินต่างๆ ในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้อธิบดีกรมป่าไม้ได้ดำเนินการปรับแผนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ ให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นเอโอ และออกปฏิบัติการเพื่อดูแลพื้นที่ป่า ยึดคืนผืนป่าที่มีนายทุนเข้าครอบครองคืน ซึ่งประกอบไปด้วย เอโอ 1 หมายถึงพื้นที่เป้าหมายที่คดีถึงที่สุดแล้ว พื้นที่เอโอ 2 หมายถึงพื้นที่เป้าหมายกระบวนการยุติธรรม พื้นที่เอโอ 3 หมายถึงพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างขั้นตอนพิสูจน์สิทธิตามกฎหมายให้ความเป็นธรรมทุกส่วน ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมถึงวันที่ 21 มกราคม 2558
มีผลการดำเนินงานดังนี้ พื้นที่เป้าหมายเอโอ 1 เสร็จแล้วในจำนวน 8,000 ไร่นั้น จะดำเนินการแล้วไป 5,090 ไร่ พื้นที่เอโอ 2 อยู่ในระหว่างดำเนินการ 15,000 ไร่ ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 3,132 ไร่ พื้นที่เป้าหมายเอโอ 3 ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิจำนวน 5,854 ไร่
สำหรับสถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับป่าไม้ ในปีงบประมาณ 2558 มีดังนี้ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า 676 คดี ผู้ต้องหา 170 คน มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกและยึดคืนมาได้จำนวน 20,716 ไร่ มีคดีไม้ 1,054 คดี ผู้ต้องหา 420 คน ปริมาตรไม้ของกลางที่ตรวจยึดได้จำนวน 1818.80 ลูกบาศก์เมตร
เรื่องต่อไปในเรื่องของการจัดที่ดินทำกิน เราจะจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คสช.ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินในปี 2558 ให้กับราษฎรจำนวน 63,000 ราย และกำหนดเป้าหมายในการตรวจสอบการถือครองในเขตปฏิรูปที่ดินในด้านสิทธิ และการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิไปแล้วจำนวน 12.33 ล้านไร่ 1,024,044 แปลง ในปีที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินจำนวน 58,000 ไร่ ให้กับราษฎรจำนวน 8,000 ราย ใน 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ มุกดาหาร ชุมพร นครพนม
ในเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้น ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ. ที่เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติแล้วจำนวน 181 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่กฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วอยู่กับหน่วยงานจำนวน 19 ฉบับ นอกจากนั้น ยังมีร่าง พ.ร.บ. ที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องเตรียมการเสนอ ครม. และ พ.ร.บ.ใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา เตรียมยกร่างอีกจำนวน 144 ฉบับ เรื่องกฎหมายคงต้องช่วยกันให้มันเกิดขึ้นมาให้ได้ และแก้ไขปรับปรุงก็ว่ากันมาให้เรียบร้อย
เรื่องต่อไป ความคืบหน้าของการปรับปรุง และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเตรียมการประชุมฝ่ายไทย สำหรับการประชุมร่วมไทย - จีน ครั้งที่ 1 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในเส้นทางหนองคาย - นครราชสีมา แก่งคอย - ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพ-แก่งคอย ที่เราได้มีการลงนาม MOU กับจีนไปเมื่อ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาออกแบบก่อสร้าง ในวันที่ 1 มีนาคมนี้
แผนการก่อสร้างตามที่ตกลงไว้นั้น จะแบ่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร ก็คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ทั้งนี้ เราคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างงานโยธา ในวันที่ 1 กันยายน 2558 นี้ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการสำหรับการพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติม ในการที่จะเจรจาการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมจะเดินทางไปพบปะกับผู้นำประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน
สำหรับในส่วนของการพัฒนารถไฟฟ้านั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็เร่งดำเนินการในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย ทุกเส้นทาง ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วด้วย
ในเรื่องของการท่องเที่ยว จากการจัดงานปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และเทศกาลเที่ยวเมืองไทย เพียง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 - 18 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้ชมงานทั้งสิ้น 613,325 คน เพิ่มขึ้น 220 เปอร์เซ็นต์ จากการจัดงานปีที่แล้วที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนในงาน 229 ล้านบาท มีการเดินทางผ่านทางท่าอากาศยานดอนเมืองเจริญเติบโตขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ เชียงใหม่เติบโต 43 เปอร์เซ็นต์ และสุวรรณภูมิเติบโต 11 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวในปี 58 มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ในช่วงวันที่ 1 - 18 มกราคมนั้น มีจำนวน 1.48 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ เราได้จัดตั้งคณะกรรมการท่องเที่ยวระดับนโยบาย และอนุกรรมการขับเคลื่อนในแนวใหม่ เพื่อเป็นการบูรณาการการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ให้เกิดเป็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ต่อไปเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันนี้ถือว่าเป็นนโยบายหนึ่งที่จะส่งเสริมในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกันควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเราได้อย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่้มมูลค่าในการค้าขายระหว่างกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนที่สำคัญ 13 จุด คิดเป็นมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเกือบ 8 แสนล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมานั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตหรือพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นที่มีการค้าขายนั้นยังไม่เพียงพอ
รัฐบาลจึงได้มีนโยบายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นที่เรามีโอกาสอยู่แล้ว ให้เป็นฐานการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างไทย และภูมิภาค โดยจะพัฒนาให้มีระบบลอจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั่วถึงกัน มีการวางผังเมืองที่เหมาะสม มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายอย่างก็ได้อนุมัติไปแล้วในรัฐบาลนี้ และมี 5 พื้นที่หลักในปี 58 ได้แก่ อ.สะเดา จ.สงขลา อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ทั้งนี้ได้ให้สภาพัฒน์ไปศึกษาเพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่ที่จะผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2 จะเป็นจุดเชื่อมผ่านแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปอีก 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส พื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้นั้น นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญแล้ว ยังสามารถที่จะพัฒนาในด้านการลงทุน การท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าและอื่นๆด้วย และเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์เชื่อมต่อกันในภูมิภาคแล้ว ก็จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกระจายรายได้ เพิ่มมูลค่าการค้าขาย และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนะครับ ปี 58 นั้นเราคงนำร่องได้ใน 5 พื้นที่แรกนี้ก่อน คงต้องใช้เวลาเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย การจัดทำผังเมือง การกำหนดระเบียบต่างๆ ในช่วงนี้ก็ขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนหลายบริษัทพร้อมที่จะมาร่วมลงทุนด้วย เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน มันอาจจะยังไม่สมบูรณ์หรอก แต่เราต้องเร่งให้เกิดให้ได้ ถ้าไม่เกิดปีนี้ ปีหน้าก็ช้าไปอีก
ฉะนั้นอะไรที่เกิดได้เกิดเลย พื้นที่ตรงไหน จะเอาตรงไหน ตรงไหนมีความพร้อม สาธารณูปโภคไปก่อน ถ้ารองบประมาณที่ต้องปรับสาธารณูปโภค ต้องใช้เงินอีกเป็นแสนล้าน ซึ่งผมคิดว่ายังทำไม่ได้ตอนนี้หรอก ฉะนั้นตอนไหนเกิดได้เกิดก่อน และเราค่อยพัฒนาไปสู่อนาคตให้ได้อย่างรวดเร็วนะครับ
ในเรื่องสาธารณูปโภคนี่สำคัญคือ เรื่องถนนคอขวดอะไรต่างๆ วันนี้ได้สั่งการแล้วว่า ให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ได้พิจารณาแล้วว่า เส้นทางเชื่อมโยงเราเร่งก่อนได้ไหม ถ้าเราไปดูสิ่งที่ขาดแคลนอยู่ หรือสิ่งที่จะต้องไปขยายทั่วๆไปตามหลักการ หรือระเบียบคำสั่งเดิม อาจจะต้องปรับใหม่นะครับ ไปสู่สิว่า เส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดต่อจังหวัด มันพร้อมหรือยัง และไปสู่ด่านตรวจตามแนวชายแดน หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็เอาจากการสำรวจตรงนี้ก่อน ตรงอื่นก็พิจารณาไปตามความเหมาะสม หรือจัดลำดับความเร่งด่วนในการใช้งบประมาณทีหลังก็ว่ากันไป อะไรก่อนอะไรหลังทำให้มันสอดคล้องด้วย
นอกจากนั้น งานของรัฐบาลและ คสช. ที่ผ่านมา ก็มุ่งเน้นด้านอื่นๆ ด้วย ในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในสังคม การรักษาควารมสงบเรียบร้อย การสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาคนสู่สังคมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ก็ได้เร่งรัดการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูที่ปัญหาที่ไหน จะแก้อะไรให้มันเร็วที่สุด ให้เกิดความสุขในการเรียน ที่จะเตรียมคนไปสู่อนาคต โดยเฉพาะเออีซีในปี 2559 ด้วย
ในเรื่องของการสร้างความเข็มแข็งภาคการเกษตรนั้น เราจำเป็นมากเลยนะครับ เพราะมีความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายได้น้อย ความมั่นคงของพลังงาน ของอาหาร การผลิต การตลาด ความเข็มแข็งการใช้เทคโนโลยี การเปิดตลาดกลางการเกษตร เพิ่มความเข้มแข็งสหกรณ์ การจดทะเบียน การขึ้นบัญชีต่างๆ เรายังไม่ค่อยเรียบร้อยนะครับ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยทุกกระทรวงได้ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยความรวดเร็วนะครับ จะได้ใช้ใการแก้ปัญหาให้ได้ถ้ายังใช้วิธีเดิมมันแก้ไม่ได้หรอกครับ และเราต้องหมดเงินไปมหาศาล ก็เห็นใจพี่น้องเกษตรกรนะครับ ถ้าผมไม่เห็นใจท่านจะไปเห็นใจใคร แต่วิธีการแก้ปัญหามันต้องใช้เวลาใช้เงินมหาศาลต้องเข้าใจกันมาพูดคุยกันว่า อันไหนก่อนไหนหลัง ถ้าทั้งหมดพร้อมๆ กันทุกอย่างไม่ได้ เพราะว่าการบริหารราชการแผ่นดินของราชการนั้นมีหลายส่วนด้วยกันนะครับ
ในเรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน วันนี้ต้องขับเคลื่อนให้ได้ก็มีหลายอย่างที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และหลายอย่างก็ลดลงปัญหา อยู่ที่เราจะส่งเสริมตรงไหนก่อน ตรงไหนไม่ควรจะทำต่อไป อะไรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นคือในเรื่องของธุรกิจบริการ และการซ่อมแซมต่างๆ เหล่านี้ แต่เกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรนั้นลดลงมาก ผมก็เห็นว่าภาคการเกษตรเราไม่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร อีกเรื่องที่อยู่เป็นอันดับสองนะครับ คือธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องการค้าปลีกก็มีการเจริญเติบโตขึ้น ก็คงต้องไปดูกัน ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร จะเข้าถึงกองทุนกันอย่างไร จะแก้จะดุกฎหมายกันตรงไหน ผมว่าต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในแต่ละเรื่อง มันจะได้จัดลำดับในการเข้าไปแก้ปัญหา ไม่อย่างนั้นถ้าเรามองใหญ่อย่างเดียว ตรงกลาง ตรงเล็กมันก็ไม่ได้ ถ้ามองรายได้ปานกลาง ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่ถึงต้องไปดูกันให้ถึงข้อสำคัญคือว่า ทุกคนทุกส่วนต้องร่วมมือกันด้วย และเข้าใจนโยบายของรัฐบาล และเผื่อแผ่แบ่งปันกันบ้าง ถ้าทุกคนเอาพร้อมกันมันไม่ได้ อย่างไรก็ไม่ได้ มันต้องช่วยกันพ่อค้าคนกลาง วันก่อนให้เรียกมาคุยกัน มันมีหลายกลุ่ม 10 กลุ่มยอมรับ อีก 1 กลุ่มไม่ยอมรับ นี่คือปัญหาอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม เป็นยาง ทำไมรวมกันไม่ได้ล่ะครับ รวมกันเป็นภาคได้ไหม เป็นของภาคได้ไหม และจดทะเบียนกับรัฐให้เรียบร้อย บางอันเขาไม่ได้จด บางอันทำให้พื้นที่ที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมายเหล่านี้ ทำอย่างไรครับถ้าจะให้เราช่วยต้องมาเข้าระบบ เข้าระเบียบกับเราด้วยจะได้มีรายได้ทุกคน เราไม่ไปทำร้ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากฎหมายต้องใช้ ไม่อย่างนั้นวันหน้ามันวุ่นวายไปอีกไม่มีจบสิ้น
ในเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ เร่งดำเนินการหมด ปรับปรุงท่าเรือ ปรับปรุงในเรื่องของสนามบิน เรื่องของการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการบิน ซึ่งมันมีผลกระทบไปเกี่ยวกับเรื่องของรัฐวิสาหกิจด้วย หลายๆ ฟื้นฟูอยู่ อะไรที่มันขาดทุนฟื้นฟู ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ต้องรื้อกันทั้งหมดจะเห็นได้ว่า งานมันเยอะมากในปัจจุบัน ในเรื่องของการท่องเที่ยวมีความคิดว่า ทำอย่างไรเราจะเพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำได้บ้าง เคยเรียนไปแล้วเรื่องการจัดที่จอดเรือ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เรือครุยส์ เรือยอร์ช เหล่านี้มันอาจจะไม่ได้มากมายนัก แต่เป็นความคิดใหม่ๆ ที่อยากจะให้มันเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัวเองวันนี้ มันไปไม่ได้วันหน้า ทุกอย่างมันจะถอยหลังไปเรื่อยๆ ประเทศรอบบ้านเขาพัฒนาแล้ว และเราไม่พัฒนาได้อย่างไร การท่องเที่ยวในทางเรือ วันนี้คุยกับเวียดนามไว้แล้วว่า ปีหน้าเราจะขับรถไปเที่ยวเวียดนามกันได้ไหม หรือว่านั่งเรือท่องเที่ยวไปบริเวณชายฝั่งก็แวะโน้นแวะนี่ไปเรื่อยๆ เรือไม่ต้องใหญ่โตมากนัก ไปถึงเวียดนามได้ สัญญากันไว้ว่าจะทำให้ได้ในปี 58 ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการให้มันเกิดด้วย
นอกจากนั้น การท่องเที่ยวภายในประเทศเช่นเดียวกัน อยากจะใช้คำว่า ไทยเที่ยวแล้วก็เที่ยวไทย ผมคิดง่ายๆ เอา ไทยเที่ยวคือ คนไทยเที่ยวๆ ที่ไหนก็เที่ยวไป จะเที่ยวที่ไหนก็ตามความสมัครใจ และเที่ยวไทยก็ต่างประเทศมาเที่ยวประเทศไทย ใช้คำง่ายๆ เหล่านี้มันน่าจะสร้างการรับรู้ให้ได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ท่องเที่ยว มันเป็นไซเคิล หรือมันเป็นห่วงโซ่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาดูแลให้มันปลอดภัย เมื่อวานก็มีการประชุมกันหลายๆ เรื่อง ในเรื่องของการท่องเที่ยวมีจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้น เราจะนำการท่องเที่ยวไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างไร เชื่อมโยงกับต่างชาติได้อย่างไร และปรับปรุงเจ้าหน้าที่ เพิ่มเติมตำรวจท่องเที่ยว ก็มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น อันนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอมา มีการประชุมไปแล้วคงจะขับเคลื่อนได้เร็วๆ วันนี้
ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนี่สำคัญ มีทั้งป่าต้นน้ำ และบริเวณตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งทั้งขาดน้ำ น้ำท่วม เก็บกักน้ำอะไรต่างๆ เหล่านี้ต้องมาดูกันทั้งหมด วันนี้เราอยากจะวางพื้นฐานเหล่านี้ไปให้ได้เท่านั้น ในเรื่องของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ อันนั้นต้องทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการใช้บริการอย่างแท้จริง บางอย่างมีปัญหามาก ทั้งคณะกรรมการ ทั้งวิธีการ ทั้งอะไรต่างๆ ก็แก้ไปเท่าที่แก้ได้ ตอนนี้เดินหน้าไปมากพอสมควร มันไม่เสร็จ 100% หรอกครับ
ในเรื่องของการปรับปรุงระบบคมนาคม เทคโนโลยีของชาตินั้น ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงและยั่งยืน สร้างความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านไอซีทีกับประเทศอาเซียน และประเทศอื่นในภูมิภาค เมื่อวันก่อนรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีไอซีทีอาเซียนมาทุกประเทศเลย 10 ประเทศ บวกกับประเทศคู่เจรจา จีน เกาหลี ญี่ปุ่นมาด้วยหมด ผมไปเปิดมาเมื่อวาน ทุกคนมีความสุขที่มาประเทศไทย เขาชื่นชม เป็นรัฐมนตรีตัวจริงทั้งหมด ทุกคนมาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้มีความสุขมากที่สุด สิ่งที่ชอบขอให้เลี้ยงเขามากๆ หน่อยคือ ทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอนทอง ก้านยาว เลือกด้วย เพราะฉะนั้นก็สั่งจัดให้ไปแล้ว ทุกคนมีความสุขในการมาประเทศไทย เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับเราด้วย และวันหน้าเราก็ไปค้าขายผลไม้ให้มากขึ้น และการท่องเที่ยวมันจะดีขึ้น ผมได้บอกกับเขาทุกประเทศว่า 10 ประเทศบวก 3 ถ้าเรารวมกันได้ทั้งหมด มันจะเป็นอาเซียนที่แข็งแรง เข้มแข็งมีอำนาจในการต่อรอง ในการกำหนดราคาสินค้า
ทั้งนี้ เพื่อจะมีมูลค่าของรายได้ต่อจีดีพีเข้าประเทศ คิดทัดเทียมกันบ้าง มันจะได้ปรับปรุงไปพร้อมๆ กับประเทศที่เข้มแข็ง วันนี้เรายังค่อนข้างมีรายได้น้อย สำหรับประเทศแห่งเกษตรกรรม อาเซียนเป็นเกษตรกรรม แต่สิ่งที่เราได้เปรียบอยู่ขณะนี้คือเรื่องของการเป็นประเทศ หรือกลุ่มประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก ก็ต้องรู้ความสำคัญตรงนี้ ก็อยากจะบอกพ่อแม่พี่น้องชาวเกษตรกรด้วยว่า ขอให้ภูมิใจได้ทำกุศลไว้ ทำให้คนมีอาหารทาน เราต้องพยายามดูแลให้ได้มากที่สุด แต่มันต้องจัดระเบียบได้ ถ้าเราไม่จัดระเบียบกันเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าเราจะปลูกยังไงให้มันลดต้นทุนได้ ทำยังไงจะมีการตลาดที่เหมาะสม ทำยังไงจะไปสู้ต่างประเทศได้ ต้องเข้าใจทั้งระบบเหมือนกัน ถ้าแต่ละส่วนทางภาคผลิตเอาราคาสูงที่สุด ตลาดมีคนกลางเข้ามาจะเอาสูงสุดอีก ตลาดภายนอกต้องไปขายเขา ราคามันต่ำลง ผมถามว่าแล้วเราจะทำยังไง มันแก้ที่ละชิ้นไม่ได้ ต้องแก้ทั้ง 3 ส่วน อยากให้พี่น้องประชาชนนั้นมีรายได้ มีเงินใช้ทุกคน เพราะผมได้กำหนดไปแล้วว่าเราจะต้องเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ใน 5 ปี อย่างน้อยมันก็ดีขึ้น
ในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน วันนี้ก็มีหลายคณะกรรมการขับเคลื่อนไปทั้งหมด หลายอย่างก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็คงมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ในเรื่องของการเตรียมรับ AEC ก็ได้สั่งการไปเยอะ ก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ การจดทะเบียน การเตรียมแรงงาน การเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ที่ยังไม่มีงานทำ ทั้งนี้ เพื่อจะรองรับการขาดแคลนแรงงานประมาณแสนคน ในปีหน้า ตอนนี้ 6 - 7 หมื่น ที่จะเข้าไปทำงานตามโรงงานที่มันเกิดขึ้นมา จากการที่เราสนับสนุนการส่งเสริมโรงงาน 4 หลายพันโครงการ แล้วก็บีโอไอเข้าไปอีก วันนี้ก็ต้องหาแรงงานให้ได้ คนไทยก็ไม่ค่อยชอบทำด้วยตอนนี้ ทำยังไง แล้วจะหาจากที่ไหนมา แล้วทำยังไงคนไทยจะเข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยี เป็นหัวหน้างาน เหล่านี้มันต้องเตรียมความพร้อม
บางอย่างที่ผมพูดมาแล้วทั้งหมดนั้น ดูเยอะ ที่พูดมา 7 เดือนน่ะ ดูเยอะ จะสำเร็จมั้ย มันไม่สำเร็จหมดหรอกครับ วันนี้ผมเรียนยืนยันว่า ในส่วนของ คสช. ในส่วนของรัฐบาล ตอนนี้เราเข้ามาเพียงแค่ 7-8 เดือนเท่านั้น บางอย่างมันก็ง่ายๆ มันก็เสร็จเร็ว ใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มันก็ทำได้ มีคนเดือดร้อน ก็แก้ปัญหาให้เขา แต่ไม่ใช่ว่าทำปีเดียวแล้วจะเสร็จทั้งหมด มันเสร็จไม่ได้หรอกครับ เพราะเรื่องมันเยอะ มันเป็นร้อยเรื่อง แล้วมันต้องผูกพันกับกฎหมาย ผูกพันกับกระบวนการ วิธีการ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ เยอะแยะไปหมด ทั้งหมดเราก็แก้กันไป คู่ขนานกันไป
ที่ผ่านมานั้น ถ้ามันแก้ไขแล้ว มันมีความพร้อมอยู่แล้ว ก็ดูสิครับ แล้วทำไมผมต้องเข้ามาแก้เยอะขนาดนี้ แสดงว่ามันแก้ไขได้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือว่าไม่พร้อม มันไปตกหล่นอยู่ที่ตรงไหน กฎหมายมันไม่พร้อมตรงไหน ความก้าวหน้ามันยังไม่เท่าที่ควร วันนี้ก็ต้องมาขับเคลื่อนทั้งหมดเลย วันนี้รัฐบาล คสช.ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าไปจับผิดจับถูกใคร เพียงแต่ว่างานสำคัญที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ มันจะต้องไปเร่งรัดให้ดำเนินการให้ได้โดยเร็ว ทั้งเรื่องงบประมาณ แผนงาน การปฏิบัติงาน ความโปร่งใส การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนประชาสังคม มันต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นอะไรที่มันจะเสร็จ 1 ปี ผมก็จะขับเคลื่อนให้ได้ อะไรที่ไม่เสร็จ 1 ปี มันก็ต้องเริ่มต้น หมายความว่านำร่อง อย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ปีหน้าอีก 6 แห่ง อะไรทำนองนี้ มันก็ไม่จบหรอกครับปีเดียว 5 แห่งนี้ยังไม่จบหมดเลย ถ้าจบหมดต้องใช้เงินอีกแสนกว่าล้าน ทำถนนหนทางใหม่ อะไรใหม่ มันไม่ทันหรอก
เพราะฉะนั้นเราก็วางแผนระยะยาวไว้ เท่านั้นเอง แล้วก็นำร่องไว้ให้ วางรากฐานไว้ให้ ถ้าไม่คิดวันนี้ วันหน้าเกิดไม่ได้คิดขึ้นมาอีกแล้วจะทำยังไง ก็จะส่งต่อให้กับผู้บริหารใหม่ระยะต่อไป
รายละเอียดผลการปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และการทำนโยบายเหล่านี้ ถ้าสนใจก็ติดตามได้ในวิดีทัศน์ต่อไป ในวันพรุ่งนี้ เวลา 08.00 น. ทางช่อง 5 และช่อง 11 พร้อมกัน
ในเรื่องของการทำงานของรัฐบาลในวันนี้ กราบเรียนว่า ทุกอย่างนั้นกำลังขับเคลื่อนไป ทุกอย่างไปในเวลาเดียวกัน ในเมื่อปัญหามันมาก เราก็ต้องช่วยกันลดปัญหา ตรงไหนมันเป็นปัญหาของรัฐ อันไหนเป็นปัญหาของกฎหมาย อันไหนเป็นปัญหาของประชาชนที่เห็นต่าง มันก็ต้องไปแก้ในช่องทางที่มีอยู่ ถ้าเอาอันนี้มาโยง อันนี้มาพัน มันไปไม่ได้หมด แล้วทำให้เราเสียเวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ผมเห็นพี่น้องประชาชนลำบาก เอาแก้ปัญหาท้องอิ่มกันก่อนดีมั้ย เราเอาเรื่องของการจะสร้างความเข้มแข็งอย่างไรในภาคเศรษฐกิจ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ มันขับเคลื่อน มันก็มีเงินใช้จ่าย เศรษฐกิจประเทศก็ดีขึ้น การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านก็ดีขึ้น การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น แต่ถ้าเรายังขัดแย้งกันอยู่ การท่องเที่ยวมันก็ไม่มี ลดลง ความเชื่อมั่นก็ลดลง เรื่องความขัดแย้งทั้งหมดมันไม่ได้มีผลดีอะไรกับใครเลยนะ ก็ให้เป็นเรื่องขอเจ้าหน้าที่ เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ว่ามา ถ้ามีปัญหาตรงไหนมา ก็ว่ามา รายงานเข้ามา ผมก็จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบให้ทั้งหมด บางอย่างผมก็ตอบเองไม่ได้หรอกนะ บางอย่างก็ไปเข้าขั้นตอน ไปเข้าหน่วยงาน ไปเข้าช่องทางของเขามา
ถามผมทุกเรื่องบางครั้งก็อารมณ์เสียอยู่เหมือนกัน ก็ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนาหรอกนะครับ ก็ขอความร่วมมือจากสื่ออะไรต่างๆ อะไรที่มันเป็นเรื่องที่เราขอความร่วมมือก็ช่วยขยายให้เราหน่อย อย่างเช่น ค่านิยม 12 ประการ ก็มีไปถามเด็กว่าแต่ละพวก แต่ละคน จำได้มั้ย ท่องได้หรือเปล่า คือไปสร้างสิ่งที่มัน against ต่อต้าน มันไม่ใช่แบบนั้นนะ ผมไม่ได้ไปบังคับใคร แต่อย่างน้อยมันก็มีสิ่งที่มันคิด มันติดอยู่ในหัว ก็เกิดประโยชน์กับตัวเอง ผมชื่นใจนะที่มีเด็กๆ ตัวเล็กๆ ตอบได้ ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้ เด็กตัวโตตอบไม่ค่อยได้ แต่เด็กเล็กๆ นี่ท่องปรื๋อมาเลย แล้วพอถามกลับไปว่า เข้าใจไหม เข้าใจ แล้วดีไหม เขาก็ว่าดี ก็ดีกว่าไม่ได้คิดอะไร อย่างน้อยก็เป็นการเตือนสติ เตือนให้เด็กรักพ่อแม่ มีความกตัญญู สิ่งเหล่านี้มันบางทีก็ไม่มีเวลาสอนเหมือนกันนะ ให้คิดเองมันคิดไม่ได้หรอก บางทีก็ลืมๆ แล้ววันนี้มันถูกป้อนมาได้หลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษา ทั้งสื่อโทรทัศน์ ทีวี ภาพยนตร์ ละคร เยอะแยะไปหมด มันก็ใส่อะไรสิ่งดีๆ ไปบ้าง
ฉะนั้น สื่อทุกช่อง ทุกสื่อ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดี อย่าเอาไปถามให้มันเกิดการต่อต้านขึ้นมาเลยนะครับ ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ผมไม่เห็นประโยชน์เลย ให้เขาคิดดูนะว่า เกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ เรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปถามแบบนั้น นี่คือ สิ่งที่อยากจะให้ผู้จัดการราย พิธีกรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องของราชการ หรือช่องที่ใช้เงินของราชการ ไปดูด้วยนะ ว่าควรทำตัวอย่างไร ผมไม่ได้ไปบังคับหรือกำกับท่านอะไรมากมายอยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็จะพิจารณาดูแลกันไป ให้มันเหมาะสม ก็ฝากไว้ด้วย ก็ขอให้มีความสุขนะครับ วันหยุดราชการ ขอให้ปลอดภัย และท่องเที่ยวทั่วไทยให้มีความสุขตลอดไปนะครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ