“ยิ่งลักษณ์” พร้อมแถลงปิดคดีเอง 22 ม.ค. นี้ เล็งนำข้อมูลตอบคำถาม 35 ข้อ โต้แย้งข้อกล่าวหา ส่วนที่ ป.ป.ช. ชี้มูล “บุญทรง” คนละประเด็น ด้านอดีต รมว.พลังงาน เตือนรัฐบาล - แบงก์ชาติ ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก หมกมุ่นถอดถอน - จำนำข้าว - เขียนรัฐธรรมนูญ ทำประเทศถอยหลัง
วันนี้ (21 ม.ค.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแถลงปิดคดีจำนำข้าววันที่ 22 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวด้วยตัวเอง โดยมีทีมทนายความ 4 คน และอดีตรัฐมนตรี 5 คน ร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งนี้ ทีมทนายความได้รวบรวมข้อมูลจากการแถลงเปิดคดี การแถลงโต้แย้งข้อกล่าวหา ตลอดจนคำตอบจากการตั้งคำถาม 35 ข้อ มาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำไปเป็นข้อมูลพิจารณากลั่นกรองว่า จะหยิบเรื่องใดมาใช้ในการแถลงปิดคดีบ้าง
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กรณีการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น ถือเป็นคนละประเด็นกับสำนวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งส่วนตัวกังวลว่า จะมีการสร้างกระแสและแรงกดดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำคดีนายบุญทรงมาใช้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าไม่ถูกต้อง อยากฝากถึง สนช. ให้ตั้งหลักให้ดีในการใช้ดุลยพินิจ ต้องแยกแยะว่า เรื่องใดเป็นประเด็นในสำนวนหรือประเด็นนอกสำนวน จะนำมารวมกันไม่ได้
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของราคาน้ำมัน และมีแนวโน้มจะมีราคาลดลงไปอีกนาน ปัญหาเศรษฐกิจในรัสเซีย การที่สวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการผูกค่าเงินกับเงินยูโร ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนของโลก ค่าเงินยูโรที่อ่อนลงเรื่อยๆ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า การอัดฉีดเงินเข้าระบบของอียู และ ประเทศญี่ปุ่น เศรษฐกิจอียูที่ยังย่ำแย่ และมีแนวโน้มที่บางประเทศอาจจะต้องแยกออกมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทำท่าจะซึมยาว เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำลงมากเหลือ 7.3% ในปีที่แล้ว และอาจจะเหลือแค่ 6.3% ในปีนี้ ซึ่งเชื่อได้ว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของการปรับตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย และอัตราแลกเปลี่ยนของไทย หากประเทศไทยโดยรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการที่ไทยเริ่มสูญเสียการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนไปเรื่อยๆ จากการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลง
“หากประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับการถอดถอน การจำนำข้าว และ การเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าเป็นการก้าวหน้าหรือการถอยหลัง โดยไม่ติดตามและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้ ประเทศไทยจะประสบปัญหาในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน และ เป็นประเทศที่ล้มเหลวได้” นายพิชัย กล่าว