ตราด - ชาวบ้านเขาระกำยอมยุติปัญหากรมชลประทานเวนคืนที่ขยายอ่างเก็บน้ำ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมเจรจา พร้อมเปิดโต๊ะถกอุทธรณ์ราคาเวนคืนที่เป็นธรรม คาด 1 เดือนจบ
วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ จ.ตราด นายศรีราชา วงศารยางกูร และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ประธาน สุรกิจบวร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด ศีลวัตร สิงห์มณี และนายกเทศมนตรีตำบลน้ำเชี่ยว พีระพงษ์ พิพัฒน์เลิศสกุล ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขาระกำ ต.วังกระแจ อ.เมือง จ.ตราด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายพิทักษ์ สุนทรภักดี และชาวบ้าน ร้องเรียนกรณีกรมชลประทานจะขยายความจุอ่างเก็บน้ำบางระกำ ทำให้ต้องมีการเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน
นายศรีราชา กล่าวว่า มีการร้องเรียน 4 ประเด็นหลัก คือ การรับฟังความเห็นประชาชนไม่ทั่วถึง การกำหนดแนวเวนคืนที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ทำการเกษตรตลอดแนวคลองน้ำเชี่ยว รวมถึงปัญหาการเวนคืนที่ดินที่ดินกับคลองน้ำเชี่ยวซึ่งเป็นลักษณะโค้งกระเพาะหมู และทับทางสาธารณะ และการนำดินที่ได้จากการขุดคลองไปถมที่ดินเอกชน และมีกระแสข่าวว่าการขยายความจุอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อทำท่อส่งน้ำไปเกาะช้าง ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น
นายพรชัย แสงอังศุมาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผน กรมชลประทาน ได้ชี้แจงกรณีการเวนคืนที่ดิน ว่าทางกรมชลประทานได้มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนรวม 21 เวที โดยมีผู้นำชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบทางลบ ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงผู้ถือครองที่ดินใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบในอนาคต มารับฟัง ยอมรับว่า ในตอนแรกมีแนวคิดที่จะส่งน้ำไปเกาะช้างแต่ชาวบ้านคัดค้าน จึงไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ แต่ยืนยันว่าแม้ไม่มีการส่งน้ำไปเกาะช้าง ก็ต้องมีการขยายความจุอ่าง เพราะความต้องการการใช้น้ำในจังหวัดตราดเพิ่มสูงขึ้น พร้อมยืนยันว่ากรมชลประทานมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ จึงอยากให้ชาวบ้านพูดคุยไกล่เกลี่ยมาหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า หลังตัวแทนกรมชลประทานชี้แจง ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความเห็น ซึ่งปรากฏว่า นายสุรชัย อรรถจินดา ที่อ้างตนว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายพิทักษ์ สุนทรภักดี และชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนแล้ว ตั้งแต่ปี 2554 เมื่อเป็นกฏหมายแล้ว หากชาวบ้านไม่ทำตามอาจเกิดปัญหาได้ ตนในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องและชาวบ้าน 17 ราย จึงขอยุติการร้องเรียนและขอถอนเรื่องดังกล่าว เพื่อหันหน้ามาพูดคุยกัน
ทั้งนี้ ตนได้ไปยื่นอุทรณ์ในเรื่องราคาที่ดิน เนื่องจากเห็นว่าการกรมชลประทานกำหนดค่าเวนคืนที่ดินให้ชาวบ้านไร่ละ 80,000 - 180,000 บาท ไม่เป็นธรรม เพราะปัจจุบันราคาในตลาด ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีอัตราที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งมากกว่าไร่ละ 500,000 บาท ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ตรวจฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในการลงพื้นที่ของผู้ตรวจชาวบ้านมีท่าทีค่อนข้างแข็งกร้าว แต่ผู้ตรวจก็เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการเจรจากัน โดยในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินจะยุติเรื่อง แต่จะติดตามการแก้ไขปัญหา และหากชาวบ้านไม่สามารถรับข้อเสนอในการเจรจาได้ จะนำเรื่องมาร้องต่อผู้ตรวจก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรองผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ขออาสาเข้าไปมีส่วนในการเจรจาระหว่างกรมชลประทานกับชาวบ้าน ซึ่งทางกรมชลประทานรับปากว่าจะแก้ปัญหาให้ยุติภายใน 1 เดือน ซึ่งนายศรีราชาได้แสดงความเห็นว่า ในอนาคตควรมีการเก็บค่าใช้น้ำจากผู้ที่ใช้น้ำทุกคน เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค