ASTVผู้จัดการออนไลน์ - "อมรรัตน์" บางกอกโพสต์ เผยนักข่าวสายคมนาคมฟังสัมภาษณ์ รมว.คมนาคม ไม่ได้พูดขอความร่วมมือ "โลว์คอสต์แอร์ไลน์" อย่าลดราคาจนกระทบรถโดยสาร ชี้นักข่าวทีวีเด็กรุ่นใหม่เขียนข่าวนี้ส่งให้เพื่อนยิงออนไลน์แล้วลอกต่อกันหลายสื่อ ถามต้นสังกัดเผยส่งข่าวนี้มาจริงแต่ไม่ได้เล่นข่าวนี้ หวั่นความคิดยุคนี้ข่าวต่างสำนักลงผิดเหมือนกันถือว่าถูก ย้ำสื่อต้องรับผิดชอบไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่
วันนี้ (11 ม.ค.) จากการณีที่สื่อมวลชนออนไลน์หลายสำนักนำเสนอข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ม.ค. ระบุว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ หรือสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่มีมาตรการที่จะกำหนดอัตราค่าโดยสารของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ตามที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เรียกร้อง เนื่องจากไม่สามารถที่จะเป็นผู้กำหนดราคาได้ แต่จะดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ให้ปรับราคาลงมาไม่ต่ำเกินไปจนกระทบกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ เช่น รถ บขส. และรถร่วม บขส. นอกจากนี้ ยืนยันว่า การลดราคาตั๋วโดยสารไม่ส่งผลให้มาตรฐานความปลอดภัยในการโดยสารสายการบินโลว์คอสต์ลดลง เนื่องจากความปลอดภัยในการโดยสารอากาศยานเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก จะมีเพียงแต่การบริการเท่านั้นที่แตกต่างกัน นั้น
ในเฟซบุ๊ก "Viriya Satien" ของนายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ดำเนินรายการเป็นเรื่อง เป็นข่าว ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้โพสต์ลิ้งค์ข่าวดังกล่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ กระทั่งเฟซบุ๊ก Amornrat Mahitthirook ซึ่งระบุว่าเป็น น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้โต้แย้งไปว่า สรุปว่าใครต้องรับผิดชอบ มีหลายครั้งข่าวคลาดเคลื่อนแต่ออกมาวิจารณ์กันสนุกสนาน แต่ไม่ได้เช็กกันเลยว่ามันผิดพลาดจากต้นตอของข่าวที่ส่งมา
"เถียร ขอแสดงความเห็นนะ เพราะข่าวนี้นักข่าวกระทรวงคมนาคมที่ฟังสัมภาษณ์ รมต. (รัฐมนตรี) ประจิน ในวงเดียวกันยืนยันว่า รมต. ประจินไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่มีนักข่าวทีวีเด็กรุ่นใหม่เขียนข่าวนี้ส่งให้เพื่อนๆ ยิงออนไลน์และลอกต่อกันอีกหลายสื่อ จนเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันต่อ แต่ปรากฎว่าต้นสังกัดสื่อทีวีรายนี้บอกว่าช่องเขาไม่ได่เล่นข่าวนี้ ส่วนออนไลน์ในช่องเดียวกันก็บอกว่าไม่ได้นำเสนอข่าวนี้ แต่สื่ออื่นนำเสนอกันถ้วนหน้า คนที่มาอ่านต่อก็นำไปวิจารณ์ต่อ อย่างนี้ใครต้องรับผิดชอบ มีแบบนี้หลายครั้ง ต้นตอเสนอข่าวคลาดเคลื่อน ยิ่งเคยได้ยินความคิดของนักข่าวรุ่นหลังน่าตกใจมาก เพราะคิดว่าข่าวผิดถ้าส่วนใหญ่ลงผิดเหมือนกันถือว่าถูก สื่อควรจะต้องมีความรับผิดชอบด้วยมิใช่มีแต่หน้าที่มิใช่หรือ" น.ส.อมรรัตน์ ระบุ
ด้านนายเสถียร กล่าวว่า "เห็นด้วยกับพี่รัตน์เลย สื่อมีเสรีภาพแล้วต้องมีความรับผิดชอบด้วย ถ้า รมว. ไม่ได้พูดแบบนี้แต่สื่อเอามารายงาน ตัวท่านเสียหายก็ดำเนินการได้หลายระดับ อย่างง่ายๆ คือออกมาแก้ข่าว และพูดให้ชัดเจนขึ้น หรือถ้ากลัวบิดเบือนอีกก็ทำเป็นจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่เลย หรือถ้าเป็นการให้สัมภาษณ์ทีวี อันนี้ง่ายเลยมีเทปบันทึกเรคคอร์ดไว้ว่าพูดอย่างไร ถ้ามันไม่ตรงกับที่นักข่าวเอาไปเขียนก็ดำเนินการกับสื่อสำนักนั้นได้เลย ซึ่งสื่อที่รายงานก็ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และในระยะยาวก็เสียความน่าเชื่อถือ อยู่ที่ตัวท่าน รมว. แล้วล่ะว่าจะจัดการยังไง ไม่รู้ล่าสุดออกมาแก้ข่าวรึยัง"
น.ส.อมรรัตน์ กล่าวเสริมว่า "เรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ รมต. ออกมายืนยันว่าไม่ได้พูดตามข่าว แต่ก็ไม่เห็นมีใครลงแก้ อย่างที่บอกต้นสังกัดที่นำเสนอข่าวนี้บอกว่าเด็กส่งมาแต่ไม่ได้นำเสนอ ส่วนออนไลน์สังกัดเดียวกันบอกไม่ได้เสนอข่าวนี้ ส่วนสื่ออื่นที่ลอกข่าวนี้ยังไม่รู้ตัวว่าข่าวนี้คลาดเคลื่อนเลย"
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้แชร์ข่าวผ่านเฟซบุ๊ก 3,990 คนแล้ว ยังมีสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ซึ่งมีผู้แชร์ข่าวผ่านเฟซบุ๊ก 8,300 คน เว็บไซต์กระปุกด็อทคอม มีผู้แชร์ข่าวผ่านเฟซบุ๊ก 82,000 คน เว็บไซต์มันนี่แชนแนล รวมถึงรายการโทรทัศน์บางรายการอย่างเช่น รายการประเด็นเด็ด 7 สี ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ยังได้นำเสนอข่าวนี้ พร้อมระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าว นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้เองกับกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการรถร่วม บขส. บางรายได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังพบว่านอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่าทีของ พล.อ.อ.ประจินแล้ว แฟนเพจที่มีแนวคิดต่อต้านการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังได้ตัดต่อภาพล้อเลียน พล.อ.อ.ประจิน และนางสุจินดาอีกด้วย