ทีมโฆษกรัฐ เผย ผลประชุมครม. อนุมัติเพิ่มเงินขรก.บำนาญ เพิ่มร้อยละ 4 คาดได้ประโยชน์ 5 แสนกว่าคน สลับเก้าอี้ รองปลัดคลัง-อธิบดีกรมธนารักษ์ ตั้ง 2 ขรก.ระดับ 10 ก.ศธ. มอบ กษ.-มท.ทำโครงการสร้างรายได้เกษตรรับมือภัยแล้ง สั่งควบรวม TFEX-AFET อำนวยความสะดวกนักลงทุน เว้นภาษีค่าใช้จ่ายวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เคาะ 273 ล.ช่วยผู้ประสบภัย มั่นใจ ม.ค.ปีหน้ายางโลละ 60
วันนี้ (30ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) อยู่แล้วให้ได้รับ ช.ค.บ.เพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละร้อยละ 4 ของ ช.ค.บ.ที่ได้รับ หรือมีสิทธิได้รับ โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ธ.ค.57 ทั้งนี้ต้องใช้งบประมาณในส่วนของงบกลางเพิ่มขึ้น 3,855 ล้านบาท และมีข้าราชการบำนาญได้รับประโยชน์ 533,328 คน
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายจักรกฤศฎ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์แทน นายนริศ ชัยสูตร ที่จะโยกย้ายมารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายสุภัทร จำปาทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) และ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็น รองเลขาธิการ กพฐ.
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปจัดทำรายละเอียดของโครงการแล้วนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้หลักการสำคัญคือ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความต้องการและเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้เกิดผลสำเร็จ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ คือชุมชนเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 ในพื้นที่ 3,456 ตำบล 68 จังหวัด ตามบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรปี 2558 ของประกาศแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558 และประกาศกรมชลประทานเรื่องงดส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ควบรวมตลาดอนุพันธ์ (TFEX) และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในตลาดล่วงหน้าในที่เดียวกัน โดยให้ยึดตลาด TFEX เป็นหลัก ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการควบรวมดังกล่าว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) (TFEX) และบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมการแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) และ AFET
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางในการรวม AFET กับ TFEX โดยได้แต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านกฎหมาย และคณะทำงานด้านธุรกิจและปฏิบัติการ และได้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการโดยเห็นว่า การรวม AFET กับ TFEX เข้าด้วยกันจะเกิดผลดีในด้านการประหยัดต่อขนาด(Economy of Scale) ของประเทศ และเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ลงทุนที่สามารถทำธุรกรรมได้ในตลาดเดียว ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทยให้เกิดความสามารถเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) กับตลาดซื้อขายล่วงหน้าอื่นในภูมิภาคได้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 2 เท่าเป็น 3 เท่า ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58-31 ธ.ค.62 โดยโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดที่กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำหนด ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรต่อไป ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
พล.ต.สรรเสริญ ยังเปิดเผยว่า ครม.ได้อนุมัติเงินตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ผู้ประสบภัยพิบัติ 7 ภัย อาทิอุทกภัย ,วาตภัย ในปี 2557 ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ย.57 ใน 26 จังหวัด กว่า 36,189 ราย โดยจะใช้เงินกว่า273,779,499ล้านบาท โดยพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งให้ข้าราชการทุกฝ่ายลงไปทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่โดยเร่งด่วน ซึ่งในส่วนการดำเนินการระบายน้ำก็ขอให้คำนึงถึงการเก็บกักน้ำเพื่อไว้ใช้ในปีหน้าด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ขณะนี้กลไกลตลาดมีการรับซื้อเพิ่มถึงกิโลกรัมละ 60 บาทแล้วนั้น ก็ได้ให้นายอำนาย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งตลาดกลางขึ้นมา เพื่อทำให้เกษตรกรสวนยาง ได้พบกับผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อจะตกลงราคาซื้อขายยางพาราในราคาที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะเห็นผลในเดือน ม.ค.58