ตัวแทนผู้รับผลกระทบจากบุหรี่-สสส. ยื่น สปช.หนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ชี้เป็นสิ่งไม่จำเป็น สร้างสารพิษก่อมะเร็ง เผยตัวเลขสิงห์อมควันไทยสูงเกือบ 11 ล้านคน ยอดขาย 2 พันล้านซองต่อปี รง.ยาสูบฟันกำไรปีละ 6 พันล. แบ่งฟิลลิป มอร์ริส 3 พันล้าน เพิ่มนิยามยาสูบหมายรวม บุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ ห้ามใช้พริตตี้ทำการตลาด
วันนี้ (23 ธ.ค.) นางสายชล ศรทัตต์ ตัวแทนเครือข่ายโรคอื่นๆ และผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ร่วมกับตัวแทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ยื่นหนังสือต่อนางพรพันธุ์ บุญยรัตพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... เนื่องจากบุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งซึ่งติดง่ายและเลิกยาก ไม่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ใช่วิตามินและอาหารเสริมที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย แต่ตรงข้ามกลับมีสารพิษมากที่ก่อให้เกิดมะเร็งและโรคต่างๆ ดังนั้น มาตรการลดความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ที่สำคัญ คือ การป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ และสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชนซึ่งก่อนหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 แต่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก
โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำลังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสมควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนติดบุหรี่แล้วถึง 1,671,194 คน มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงวันละ 140 คน หรือปีละ 50,710 คน ขณะที่บริษัทบุหรี่กลับทำกำไรมหาศาล เฉพาะในประเทศไทยได้กำไรถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างเร่งด่วน เพื่อการที่ทรัพยากรบุคคลที่มีสุขภาพดี และมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการพัฒนาและแข่งขันทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ มูลนิธิรณรงค์เพี่อการไม่สูบบุหรี่ยังได้ทำสมุดปกขาวเปิดเผยข้อเท็จจริงและความจำเป็นของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ โดยมีเนื้อหาส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่และสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่ได้เลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริโภคยาสูบปี 2554 พบว่ามีจำนวนผู้สูบบุหรี่ถึง 10.9 ล้านคน ทำให้สูญเสียงบประมาณถึง 5.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ต่อปีเฉลี่ยระหว่างปี 2534-2556 จำนวน 2,008 ล้านซอง โดยโรงงานยาสูบได้กำไรจากส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 75 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ร้อยละ 22 และอื่นๆ ร้อยละ 3 กำไรโรงงานยาสูบต่อปี 6 พันล้านบาท กำไรบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส 3 พันล้านบาท
สาระสำคัญของร่างดังกล่าวมีการแก้ไขคำนิยาม “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ให้รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ คำว่า “การโฆษณา” ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ เช่น พริตตี้ ห้ามขายบุหรี่แก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี (ปัจจุบัน 18 ปี) ห้ามขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้ามมีการแบ่งขาย ห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ