คณบดีรัฐศาสตร์ มสธ. แนะ สปช. นำข้อมูลจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปถามความเห็นประชาชน พร้อมเห็นด้วยต่อการทำประชามติ แต่ไม่ใช่ทำเหมือนปี 50 เอารัฐธรรมนูญไปแจกมีคนอ่านเล็กน้อย ดูสกอตแลนด์เป็นตัวอย่าง พร้อมแนะควรยกเลิกอัยการศึก ไม่เช่นนั้นได้ข้อมูลด้านเดียว ไม่กล้ามีความเห็นต่าง
วันนี้ (21 ธ.ค.) นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จุดใหญ่คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีทางเชื่อมระหว่างประชาชนกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องออกไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และนำข้อมูลจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปถามประชาชนว่าเป็นอย่างไร และประชาชนเองก็ต้องมีอำนาจการตัดสินใจได้จริงๆ การรับฟังความคิดเห็นต้องไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรม ส่วนตัวเห็นด้วยต่อการทำประชามติ แต่ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนที่จะลงประชามติ โดยเป็นข้อมูลสรุปที่เข้าใจง่าย แต่อย่าทำเหมือนประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่เอารัฐธรรมนูญไปแจก เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร มีคนอ่านเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทั้งนี้ การลงประชามติควรดูตัวอย่างของสกอตแลนด์ ที่มีการให้ข้อมูลก่อนการลงประชามติถึง 2 ปี ให้ข้อมูลทั้งข้อดี และข้อเสียในการแยกออกจากสหราชอาณาจักรแก่ประชาชน โดยทางการเป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งผลออกมาสกอตแลนด์ไม่แยกจากสหราชอาณาจักร ทั้งที่ในตอนแรกการแยกตัวมาแรงมาก ดังนั้น ประเทศไทยเองก็เช่นกัน การลงประชามติก็ต้องให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้านแก่ประชาชน แม้ว่าจะเสียเวลาในการให้ข้อมูล แต่ก็ถือว่าจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ควรยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะการรับฟังความเห็นประชาชนต้องมีอิสระทางความคิด มีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนได้แสดงออก ไม่เช่นนั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะได้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีเพียงข้อมูลเพียงด้านเดียว เพราะประชาชนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้าน หรือให้ความเห็นที่แตกต่าง