เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา แนะ คสช. ชี้แจงประเด็น สปช. ล็อกสเปก หวั่นประชาชนร้องยี้หากเห็นชื่อ กระทบการทำงานปฏิรูปในอนาคต ด้านคณบดีรัฐศาสตร์ มสธ. แนะแก้ไขกลุ่มผู้มีอิทธิพลแทรกแซง สปช. ระดับจังหวัด เตือนละเลยปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นไม่ได้ เปรียบดังปล่อยไอน้ำออกจากกาก่อนระเบิด หวั่นเป็นชนวนออกมาชุมนุมในอนาคต
วันนี้ (22 ก.ย.) นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยการล็อกสเปกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องชี้แจงประเด็นที่ถูกสงสัยให้ชัดเจน เช่น การใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือก สปช. แต่ละด้าน จากที่แต่ละด้านคัดเลือกและส่งชื่อไปด้านละ 50 คน จะใช้หลักเกณฑ์หรือวิธีใดเลือกให้เหลือเพียงด้านละ 10 คน รวมถึงวิธีการเลือก หรือจะใช้คุณสมบัติพิเศษใดเป็นเกณฑ์เพื่อเลือก สปช. ประจำจังหวัด จากที่จังหวัดส่งชื่อมาจังหวัดละ 5 คน ให้เหลือจังหวัดละ 1 คน เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่หาก คสช. ไม่ชี้แจงและไม่ใส่ใจต่อการตอบคำถาม แล้วได้รายชื่อ สปช. ออกมา 250 คน ที่ทำให้ประชาชนร้องยี้ อาจกระทบการทำงานปฏิรูปในอนาคต ในแง่ของการไม่ให้ความร่วมมือ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลได้ และอาจส่งผลให้การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. นั้นเสียของ
นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า เดิมตนเข้าใจว่า คสช. จะเปิดรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น สปช. ในรอบแรก เพื่อให้ประชาชนร่วมพิจารณาและตรวจสอบ แต่เมื่อไม่เปิดเผยชื่อก็เข้าใจได้ว่าเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย แต่หากกังวลในประเด็นความวุ่นวายโดยไม่สะสางความคลางแคลงใจของประชาชน อาจกระทบต่อการปฏิรูปได้ แต่หาก คสช. เลือกที่จะชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ อาจทำให้ประชาชนคลายข้อสงสัย และเมื่อผลคัดเลือกรอบสุดท้ายออกมาแม้จะไม่ได้ดีที่สุด ประชาชนก็ยังปรบมือให้และคลายกังวล
ด้าน นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสการสรรหา สปช. มีความไม่โปร่งใส ว่า การคัดสรร สปช. ควรทำให้เกิดความโปร่งใส โดยให้สังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะ สปช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเกิดอาการว่าไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับการสรรหานี้ ถ้าหากมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาในรอบแรก หรือเปิดเผยเกณฑ์การให้คะแนนและคุณสมบัติที่นำมาพิจารณา จะทำให้รู้สึกว่ามีความชัดเจนมากขึ้นในการสรรหา รวมทั้งประชาชนจะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและคิดว่าสภานี้เป็นตัวแทนและส่วนหนึ่งของพวกเขา กระแสเรื่องความไม่โปร่งใสจะลดลงไปได้
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องกระแสการสรรหา สปช. ในต่างจังหวัด ที่มีการร้องเรียนว่ามีความเอนเอียง เล่นพรรคล่นพวก อาจจะเป็นเพราะว่าในต่างจังหวัด มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มีผลประโยชน์เข้ามามีบทบาทในการสรรหา ทาง คสช. นั้นต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว อย่าปล่อยไว้เพื่อให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้
นายยุทธพร กล่าวถึง กรณีที่ 60 นักวิชาการออกจดหมายเปิดผนึกประณามกรณีที่ทหารและตำรวจบังคับให้นักวิชาการและนักศึกษายุติงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า 60 อาจารย์ที่ออกมา ล้วนแต่เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ ความขัดแย้งในสังคมวันนี้ไม่ใช่แค่วาทกรรม บรรยากาศการเมืองเปลี่ยนไป ความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนไปด้วย เรื่องนี้ทาง คสช. จะละเลยไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจ รวมทั้งยอมรับความคิดเห็น เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถคุยกันและแสดงความคิดเห็นได้บ้าง เหมือนกับเวลาเราต้มน้ำในกา เราต้องปล่อยไอน้ำออกมา ไม่เช่นนั้นกาอาจระเบิดได้ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เพราะหากปิดกั้นมากเกินไป อาจจะเป็นแรงกดดัน และเป็นชนวนเหตุในการออกมาชุมนุมในอนาคตได้