xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ร่วมงานเลี้ยง GMS ลั่นเดินหน้าเชื่อมเส้นทางประเทศลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
นายกรัฐมนตรีร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ลั่นเดินหน้าเชื่อมเส้นทางประเทศลุ่มน้ำโขง คาดอีกไม่นานสร้างทางรถไฟ “อรัญประเทศ-ปอยเปต” และ "หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง” สำเร็จ

วันนี้ (19 ธ.ค.) เวลา 19.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปร่วมในงานเลี้ยงอาหารค่ำการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 (The 5th GMS Summit) ประกอบด้วย สมเด็จมหาอัครเสนาบดี ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายหลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นายเหวียนเติ้นสุง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชียและประธานสภาธุรกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้นำและแขกผู้มีเกียรติในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่มาร่วมในงานเลี้ยงรับรองในโอกาสที่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่เราได้ตกลงกันว่า โดยจะมาพบกันพร้อมกันเป็นประจำทุก 3 ปี

ในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติของประชาชนชาวไทยที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุม และมีโอกาสต้อนรับคณะผู้นำและแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่ประเทศไทย สยามเมืองยิ้ม เมืองแห่งความสุข ด้วยความยินดียิ่งโดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นสบาย แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเสมือนครอบครัวเดียวกัน ขอให้ทุกท่านถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านที่สองของท่านทั้งหลาย

ตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเรามีสายตาที่มองไกลในอนาคตจนถึงวันนี้ และได้วางวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะทำให้กลุ่มประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีสังคมที่มีความสุขร่วมกัน แม่น้ำโขงมิใช่เป็นเพียงแต่แม่น้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านประเทศของเราทั้งหลาย แต่แม่น้ำโขงเป็นสายธารแห่งน้ำที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ เป็นสายธารของวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็นสายธารของประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่พวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือกันรักษาไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป

เมื่อยี่สิบปีก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่า ประชาชนของเราจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกเช่นทุกวันนี้ ก็เพราะวิสัยทัศน์ของเราที่ร่วมมือกัน ก็เพราะความเพียรพยายาม ก็เพราะความอดทนของเราในยามยากหลายครั้งหลายหน ก็เพราะการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก็เพราะการทำงานอย่างมีแบบแผน จึงทำให้เราประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงประชาชน 320 ล้านคนเข้าด้วยกัน

แม้ว่า GMS จะเป็นเพียงอนุภาคเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ก็เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “ความเชื่อมโยง (Connectivity)” ก่อนอาเซียน และได้มีส่วนทำให้อาเซียนเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง จนเกิดเป็นแผนแม่บทการเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมกันพัฒนาให้สำเร็จภายในปี 2558

กลุ่มประเทศ GMS มีความได้เปรียบสูงในเชิงแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียประเทศไทยเองก็มีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของจุดเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน และที่ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ เราสามารถเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย เชื่อมต่อกับเมืองห้วยทรายของ สปป.ลาว และเชื่อมต่อถนนหมายเลข ๓ สู่เมืองคุนหมิงของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทำให้เราสามารถเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งเหนือ-ใต้ ได้อย่างสมบูรณ์

เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางด้านตะวันตก การก่อสร้างขยายถนนระหว่างเมืองเมียวดีและกอกะเร็กของเมียนมาร์ จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า ซึ่งผมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมของไทยเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงในปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนชาวเมียนมาร์ได้เฉลิมฉลองวันปีใหม่ 2558 ได้ทัน และจะทำให้การพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เสร็จสมบูรณ์ และเชื่อว่าการเดินทางจากกรุงย่างกุ้ง ผ่านอำเภอแม่สอด ไปยังจังหวัดมุกดาหาร เข้าสู่เมืองสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว และต่อไปยังเมืองลาวบาว และเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินไปยังเมืองดานังของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะสามารถพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมประเทศแม่น้ำโขงได้สำเร็จ อย่างน้อย 2 เส้นทางคือ (1) เส้นทางรถไฟเชื่อมอำเภออรัญประเทศและปอยเปตด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา และ (2) เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจังหวัดหนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์-คุนหมิง โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในการพัฒนาเส้นทางรถไฟระบบรางมาตรฐานในช่วงภายในประเทศ ซึ่งผมและท่านนายกรัฐมนตรีจีนได้เป็นสักขีพยานลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อบ่ายวันนี้

พลังความร่วมมือของพวกเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น เรายังมีงานท้าทายที่ต้องทำต่ออีกมากมาย และเราต้องการความสำเร็จในสิ่งที่เราจะร่วมกันทำ ผมเชื่อในจิตวิญญาณของ GMS ที่มีหลักการว่า เมื่อผู้นำเห็นร่วมกันแล้ว เราก็กลับไปทำในส่วนของตน ในส่วนไหนที่เกินกำลังงบประมาณของตัวเอง ก็มีการช่วยเหลือกันตามกำลังที่มีอยู่ ที่ผมมีความมั่นใจมากเป็นพิเศษก็คือ เสน่ห์ของแม่น้ำโขง เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดความสนใจของต่างประเทศ ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนากับเรา ผมจึงมีความมั่นใจว่า เราจะผนึกกำลังเป็นพลังร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนของเรา

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม่น้ำโขง มิใช่แม่น้ำธรรมดาๆ แต่เป็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ และเปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ที่ผู้คนที่อาศัยอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำจะต้องช่วยกันรักษา ดังนั้น ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน จะเป็นสะพานแห่งมิตรภาพที่มีความยั่งยืนและวัฒนาถาวร และในช่วงเวลาของค่ำคืนนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ชื่นชมกับการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของชาวแม่น้ำโขง
กำลังโหลดความคิดเห็น