xs
xsm
sm
md
lg

ปูดบิ๊กตู่ลงใต้พบชาวสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ไก่อู" เชื่อชาวสวนยางพัทลุงชุมนุม 19 ธ.ค. ไม่มีปัญหา ยันรัฐฯ พร้อมรับฟัง แย้มนายกฯ เตรียมลงใต้ พบชาวสวนด้วยตัวเอง 26 ธ.ค. หลังจบงานรำลึก10 ปี สึนามิที่พังงา ขณะที่ ผบ.ทบ.ขอชาวสวนยางอดทน ยันรัฐบาลทำเต็มที่แล้วขณะที่เครือข่ายสวนยางค้านรัฐซื้อขายแบบจีทูจีในราคา ก.ก.ละ60 บาท ชี้ราคาต่ำกว่าทุน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 26 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีแนวโน้มลงพื้นที่พบเกษตรกรชาวสวนยาง หลังเสร็จสิ้นร่วมงานรำลึก 10 เหตุการณ์สึนามิ ที่ จ.พังงา เนื่องจากนายกฯ มีความต้องการลงพื้นที่รับฟังความเดือดร้อนจากประชาชนด้วยตัวเอง เพื่อติดตามแนวนโยบายรัฐบาลที่ให้ข้าราชการลงไปปฏิบัติ สร้างความเข้าใจต่อแนวทางแก้ไขปัญหา

ส่วนกรณีชาวสวนยาง จ.พัทลุง นัดชุมนุมที่ศาลากลาง จ.พัทลุง ในวันที่ 19 ธ.ค.นั้น ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย ที่ผ่านมาก็พยายามทำทุกอย่าง ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางที่กิโลกรัมละ 80 บาทให้ได้ก่อนสิ้นปีนั้น พยายามดำเนินการอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกด้วย

"เราพยายามตอบในทุกประเด็นในแนวทางที่เป็นไปได้ อยากให้คิดถึงภาคร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล ขอให้ประชาชนเข้าใจรัฐบาลด้วย ส่วนที่จะมีการรวมตัวกันนั้น มั่นใจว่า ประชาชนเข้าในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลแล้ว การรวมตัวดังกล่าวคงเป็นการรวบรวมข้อมูลส่งให้รัฐบาลตามช่องทางที่มีอยู่ คงไม่ใช่เป็นการร่วมตัว เพื่อกดดันรัฐบาลหรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันที่ 26 ธ.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มีกำหนดการเดินทางไปร่วมงานรำลึก 10 ปี เหตุการณ์สึนามิ ที่ จ.พังงา ส่วนนายกฯ จะถือโอกาสนี้ไปพบกับเกษตรกรชาวสวนยางพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำด้วยหรือไม่นั้น คงต้องรอฟังข้อมูลจากทีมงานนายกฯ ที่ลงพื้นที่ไปสำรวจข้อมูลและดูตารางงานทั้งหมดก่อน คาดว่าอย่างช้าจะได้ข้อสรุปไม่เกินวันที่ 16 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม นายกฯ มีความประสงค์ที่จะพูดคุยกับชาวสวนยาง ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำ แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 5 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ จะมีผู้นำระดับนายกฯของประเทศ ไทย จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ เข้าร่วม โดยที่ประชุมจะพิจารณาแผนงานโครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนากฎระเบียบให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคเป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี จะหารือทวิภาคีร่วมกับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 2 ฉบับ ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟความเร็วปลานกลางสองเส้นทางคือ "หนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด" และ เส้นทาง" แก่งคอย-กรุงเทพ" และบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายข้าวระหว่างไทยกับจีน
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยาง เรียกร้องรัฐบาลแทรกแซงราคายางที่กิโลกรัมละ 80 บาท ก่อนสิ้นปี 57 ว่า กระทรวงที่รับผิดชอบพยายามปรับราคาให้สูงขึ้น ฝ่ายความมั่นคงเองช่วยทำความเข้าใจกับชาวสวนยาง ตนใช้แนวกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยสั่ง มทภ.4 ร่วมกับ กอ.รมน.แต่ละจังหวัด ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจในพื้นที่ ซึ่งชาวสวนยางส่วนหนึ่งมีความเข้าใจแล้ว ก็ขอให้ชาวสวนยางอดทน มั่นใจแนวทางรัฐบาล แต่จะให้ช่วยแบบทันทีทันใด คงไม่ได้ มาตรการบางอย่างต้องอาศัยเวลา ค่อยเป็นค่อยไป รัฐบาลเข้าใจว่าเป็นปัญหาปากท้องของประชาชน ที่รัฐบาลพยายามยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น แต่ปัญหาราคายางตกต่ำ ตกยาวต่อเนื่องมา ยืนยันรัฐบาลทำเต็มที่แล้ว

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอร้องให้เกษตรกรอย่าออกมาเคลื่อนไหว เพราะอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมมีแนวทางลดต้นทุนการผลิตยางพารา ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินต้นทุนยางพาราสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กิโลกรัมละ 64 บาท 50 สตางค์ และหลังรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าทุกชาติในอาเซียน ส่วนแนวคิดลดต้นทุนการผลิตนั้นเป็นความคิดแบบแยกส่วน ซึ่งหากต้องการลดต้นทุนแบบครบวงจร ต้องแปรรูปพลังงานด้วย

ทั้งนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการตกลงซื้อขายยางพาราจำนวน 400,000 ตัน แบบจีทูจี กับประเทศจีน ในราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม และต้องส่งมอบภายใน 18 เดือน เพราะเป็นการตีกรอบราคาให้ไม่เกิน 60 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต โดยหากจะให้ชาวสวนยางมีกำไร ควรคำนวนรายได้ของเกษตรกรอีกร้อยละ 30 หรือราคา 94 บาท 50 สตางค์ ต่อกิโลกรัม.
กำลังโหลดความคิดเห็น