รายงานการเมือง
การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันล่าสุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากเบนซินและดีเซลลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลงลิตรละ 2 บาท และดีเซลลดลง 1 บาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับลงทุนนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานด้วยตัวเอง หวังเป็นผลงานชิ้นโบแดงส่งท้ายปีเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
ทั้งๆ ที่การลดราคาดังกล่าวมิได้สะท้อนถึงศักยภาพในการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างใด
ดังนั้น หากจะบอกว่าราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยก็ต้องพูดให้ชัดว่าคนมอบของขวัญไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นตลาดโลกที่กำลังเกิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มโอเปกกับสหรัฐอเมริกา ทำให้คนทั่วโลกได้รับอานิสงส์ใช้น้ำมันถูกเหมือนกันหมดไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
แต่น่าเสียดายที่คนไทยไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงอย่างเต็มที่ เพราะในขณะที่ราคาน้ำมันลดลงถึง 53% แต่ราคาหน้าโรงกลั่นของประเทศไทยลดลงเฉลี่ยเพียงแค่ 25% เท่านั้น ส่วนที่ทำให้คิดว่าราคาน้ำมันลดลงตามราคาตลาดโลกนั้นเกิดจากการหั่น “รายได้ของภาครัฐ” ลงจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตรและการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยไม่ได้ไปแตะผลกำไรของทุนพลังงาน
เพราะในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดอย่างภาคภูมิใจว่าตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศน้ำมันลดลง 10 บาทนั้น ราคาในตลาดโลกเขาลดลงเฉลี่ยประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลอดการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องแต่กลับมีผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นในไทยช้ามาก ไม่เหมือนกับเวลาที่น้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจะมีการปรับราคาหน้าโรงกลั่นตามทันที เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้มากขึ้นจนกลายเป็นกระแสสังคมจับตามองจนเป็นแรงกดดันทำให้พล.อ.ประยุทธ์นั่งไม่ติด สั่งให้มีการตรวจสอบราคาที่ไม่สอดรับกับราคาน้ำมันที่ลดลงในตลาดโลก จึงเริ่มเห็นการลดราคาหน้าโรงกลั่นลงมากขึ้น
ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มฉกฉวยโอกาสจากราคาน้ำมันโลกปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ด้วยการปรับราคาแอลพีจีขึ้นและเริ่มลดการจัดเก็บเงินจากน้ำมันชนิดอื่นเข้ากองทุนน้ำมันลง แต่กลับไปจัดเก็บเงินจากแอลพีจี 5.64 บาท เข้ากองทุนน้ำมันแทน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความจริงว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังใช้กองทุนน้ำมันสร้างความสับสนแก่ประชาชน จากเดิมอ้างว่าต้องลดภาระกองทุนน้ำมันด้วยการขึ้นราคาแอลพีจี แต่เมื่อมีการขึ้นราคาแอลพีจีแล้ว กลับยังมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเหมือนเดิม และยังเก็บจากแอลพีจีไปใส่กองทุนน้ำมันด้วย จึงกลายเป็นว่าผู้ใช้แอลพีจีซึ่งเป็นก๊าซที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต้องจ่ายราคาแพงทั้งๆ ที่ต้นทุนลดลง สวนทางกับราคาในตลาดโลก
นโยบายเช่นนี้ถือว่าไร้หลักโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าจะสะท้อนต้นทุนหรือราคาที่แท้จริง ราคาแอลพีจีจะต้องลดลงตามราคาในตลาดโลกด้วย ไม่ใช่ตรึงไว้ที่ 24.16 บาท ที่สำคัญคือถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงราคาพลังงานข้ามประเภทก็ต้องทำอย่างเสมอภาค ไม่ใช่ยกเลิกการอุดหนุนแอลพีจีแต่ยังอุดหนุน E85 ซึ่ง ปตท. คือ ผู้ผลิตรายเดียวเหมือนที่ทำอยู่ในขณะนี้
ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการบิดเบือนกลไกตลาด ก็ต้องยกเลิกกองทุนน้ำมันจึงจะสะท้อนราคาที่แท้จริงได้ตามที่ต้องการ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมันโดยอ้างว่าต้องมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งก็เท่ากับมีไว้เพื่อแทรกแซงราคาและอุดหนุน E85 ต่อไป
นอกจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะย้อนแย้งกันเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการบริหารที่ไม่เคารพองค์กรอิสระและไม่สนใจความถูกต้องตามกฎหมายด้วย เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติแล้วว่า กองทุนน้ำมันผิดกฎหมายและเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกแต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ และไม่มีท่าทีใส่ใจต่อความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินแม้แต่นิดเดียว
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยึดหลักกฎหมายในการบริหารบ้านเมืองต้องพิจารณามติของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่ากองทุนน้ำมันมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ ก็ต้องทำให้เป็นกองทุนน้ำมันที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่บริหารต่อทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายโดยไม่แก้ไขอย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้
ที่ตลกร้ายไปกว่านั้นคือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายที่จะทำให้ราคาเบนซินปรับลดลงมาใกล้เคียงกับดีเซลที่ประมาณ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบต่อการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และ 91 อย่างแน่นอน เพราะผู้บริโภคจะหันมาใช้เบนซิน 95 เพิ่มขึ้น ไม่ต่างจากที่เคยเกิดปัญหาในช่วงต้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีการยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว จนการใช้แก๊สโซฮอลลดลงอย่างฮวบฮาบ
นอกจากนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังเตรียมการที่จะขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง โดยอ้างว่าเป็นการใช้ที่ฟุ่มเฟือย ทั้งที่เพิ่งจะบอกประชาชนว่าจะต้องให้เกิดความเป็นธรรมด้วยการให้ทุกคนใช้แอลพีจีในราคาเดียวกัน นอกจากนี้ ไม่มีคำชี้แจงด้วยว่าถ้าราคาภาคขนส่งแพงกว่าภาคครัวเรือนแล้วจะแก้ปัญหาการลักลอบใช้จากภาคครัวเรือนไปใช้ในภาคขนส่งอย่างไร
การปรับราคาแอลพีจีให้สูงขึ้นในภาคขนส่งใครจะได้ประโยชน์ จะทำให้คนหันไปใช้ NGV ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ผลิตรายเดียวมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อล่อใจให้คนไปใช้ NGV เพิ่มขึ้นได้สำเร็จก็จะมีการปรับขึ้นราคา NGV ตามมาอีกระลอกใช่หรือไม่