xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ยางฯ ฉลุยวาระแรก รวม 3 องค์กรตั้ง กยท. สนช.จี้รอบคอบร่วม กม.8 ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยางฯ รมช.เกษตรฯ ชี้ยางพาราสำคัญ ศก.ชาติ จำเป็นต้องจัดองค์กรกลาง เล็งขยับไทยเป็นภาคอุตสาหกรรมแทนเกษตร ก่อนมติเห็นชอบ ผ่านวาระแรก ยุบ 3 องค์กร รวมเป็น กยท.ดูแลจัดการครบวงจร สนช.แนะจัดโซนนิ่งควบคุมปลูกยาง สกัดปัญหาล้นตลาด แนะบาเตอร์เทรดจีนแลกรถไฟทางคู่ ห่วงรวม กม.8 ฉบับอาจมีช่องโหว่ ขอให้รอบคอบ

วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานหลักการเหตุผลว่า ยางพาราและผลิตผลจากยางพารามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ การปฏิรูประบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพารา รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา การรักษาเสถียรภาพระดับราคายางพารา การดำเนินธุรกิจ และจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง จำเป็นต้องจัดให้มีองค์กรกลางคือ การยางแห่งประเทศไทย เพื่อรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร มีเอกภาพ เป็นอิสระ คล่องตัว และใช้ยางพาราและผลิตผลจากยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายดังกล่าวมีการยุบเลิก 3 หน่วยงานเดิม คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง แล้วโอนภารกิจของหน่วยงานที่ถูกยกเลิกทั้ง 3 เป็น “การยางแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “กยท.” เป็นองค์กรนิติบุคคล และเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น เพื่อความเป็นเอกภาพของการทำงาน นอกจากนี้ ได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ กยท.ด้วย

สมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนให้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้บังคับ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมากแต่ไม่มีมาตรการดูแลควบคุม การกำหนดอำนาจ กยท.ควรเพิ่มอำนาจการกำหนดพื้นที่ที่จะให้มีการปลุกใหม่และปลูกทดแทนในแต่ละปี ปัจจุบันมีการปลูกยางเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศขู่แข่ง และควรให้มีผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปเป็นกรรมการด้วย และการจัดให้มีโรงการผลิตวัสดุยางราดถนน ควรทำทันทีไม่ต้องรอประเทศอื่นมาลงทุน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า อยากฝากข้อสังเกตว่า กยท.ต้องมีข้อมูลเพียงพอว่าจะขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มหรือไม่ หากไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่สามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ ควรจัดทำโซนนิ่งด้วย เพราะหากไม่ดำเนินการก็จะส่งผลเลวร้ายต่อเกษตรกรเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และต้องมีข้อมูลเพียงพอต่อการส่งเสริมเกษตรกรจะให้ปลูกยางพาราใหม่หรือไม่ ขณะนี้ไทยตกลงกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทาง กทม.-หนองคาย น่าจะเป็นโอกาสดีในการตกลงทำบาร์เตอร์เทรดหรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งน่าจะตกลงกันได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องกระตุ้นดีมานด์โดยใช้สัดส่วนยางพาราทำถนนซึ่งรัฐมนตรีต้องดำเนินการเร่งด่วน

ด้านนายสมคิด เลิศไพทูรย์ สนช.ได้แสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้เป็นการรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 8 ฉบับไว้ในฉบับเดียว อยากให้พิจารณาให้รอบคอบ ขณะที่นายพรเพชรฝากให้คณะกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างละเอียดและต้องตรวจดูเรื่องเทคนิคทางกฎหมายด้วย เพราะต้องยกเลิกกฎหมายเก่ากว่า 8 ฉบับ เกรงว่าอาจทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นได้

ด้านนายอำนวยชี้แจงว่า เป็นข้อสำคัญเชิงกฎหมายเชิงเทคนิคในการรวมกฎหมายทั้ง 8 ฉบับไว้ด้วยกัน ต้องพยายามไม่ให้เกิดช่องโหว่ เพราะหากทำกฎหมายไม่รอบคอบ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขภายหลังได้ส่วน เรื่องกฎหมาย ควบรวมองค์กรภาครัฐที่อยู่ในอุตสาหกรรมยางขณะนี้มีอยู่ 3 องค์กร โดย 2 องค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจ คือ องค์การสวนยาง (อสย.) สำนักกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) อีก 1 องค์กร เป็นราชการ สถาบันวิจัยยาง ของกรมวิชาการเกษตร ทั้งสามหน่วยงานนี้ทำงานภายใต้กรอบการทำงานตัวเอง อสย.เป็นหน่วยหน่วยผลิต ทำโรงงานยางและค้าขาย เทียบเท่ากับเป็นหน่วยประกอบธุรกิจการค้ายางของรัฐ ส่วน สกย.ทำหน้าที่ส่งเสริมทดแทนการผลิต เพื่อให้ต้นทุนตำลง หน่วยรายการ สถาบันวิจัย ทำหน้าที่วิจัย ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์ร้อยละ 5 เพราะฉะนั้น การควบรวมสามเป็นหนึ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจ บรรดาบุคลากร สินทรัพย์ มีมาตราเกี่ยวข้องในการโอนย้ายถ่ายเทระหว่างสามหน่วยงาน เพื่อเป็นหน่วยงานเดียวกันในการทำหน้าที่ตามมาตรา 8 เรื่องนี้เราไม่ได้ควบรวมกิจการของภาคเอกชนเพราะเราไม่สามารถออกกฎหมายใดๆ ไปบังคับเอกชนให้มาร่วมได้ แต่เรามีวัตถุประสงค์ คือ เราจะร่วมกันกับเอกชน

นายอำนวยกล่าวต่อว่า การบริหารองค์กรนี้ถ้ารวมกันโดยไม่ปรับแนวคิดจะไม่เกิดประโยชน์อะไร วัตถุประสงค์กำหนดไว้ ข้อหนึ่ง เป็นองค์กรกลางจัดการยางพาราครบทั้งระบบ ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางผลิตยางพารา เราเป็นผู้ส่งออกมา แต่ที่จัดการมา แม้จะส่งออกจำนวนมากแต่ก็ต่างจากการส่งเป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การจัดการของมาเลเซียได้แปรรูปจากวัตถุดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เป็นการสร้างความสมดุล แต่กฎหมายฉบับนี้จะมีความชัดเจนในการนำกองทุนไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และจะขยับตัวการผลิตในชั้นเกษตรเป็นอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการค้า และผลิตภัณฑ์ราคาสูง เช่น ยาง ล้อเครื่องบิน ความมั่นคงยั่งยืนเกิดขึ้นแน่นอน และเป็นไปได้ด้วยการวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวาระ 1 ด้วยคะแนน 174 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา 25 คน กำหนดวันแปรญัตติภายใน 7 วัน







กำลังโหลดความคิดเห็น