ผ่าประเด็นร้อน
“ยังไม่ปรับคณะรัฐมนตรี” หรือ “คณะรัฐมนตรียังไม่มีความขัดแย้ง ยังทำงานกันได้”
นั่นเป็นคำพูดของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบคำถามของนักข่าว เมื่อถูกถามถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี หลังมีข่าวถึงความไม่เป็นเอกภาพกันภายใน รวมไปถึงผลงานที่สะท้อนออกมาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการส่งออกที่น่าผิดหวัง ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
แน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “ยังไม่ปรับคณะรัฐมนตรี” ความหมายก็ชัดอยู่แล้วว่า “ยังไม่ปรับ” ในตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่า “ปิดประตูตาย” โดยอยู่กันไปแบบนี้จนมีรัฐบาลใหม่มารับช่วง แต่มีความหมายยังต้องปรับคณะรัฐมนตรีในวันข้างหน้า เพียงแต่ว่าต้องรอจังหวะเวลาอันเหมาะสมเท่านั้น
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า คณะรัฐมนตรีไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ไม่มีเกาเหลา อย่างไรก็ดี หากพูดแบบนี้ ยืนยันแบบนี้รับรองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนกันอย่างแน่นอน ยิ่งปฏิเสธมันก็เหมือนกับเป็นการยืนยันนั่นเอง
ที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มจำนวนรัฐมนตรีเข้ามาจำนวน 2 ตำแหน่ง สำหรับภารกิจเฉพาะกิจ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำนวย ปะติเส ให้เข้ามาทำหน้าที่ดูแลปัญหาเกษตรกร มาเจรจารับหน้าเกษตรกร อย่างที่เวลานี้กำลังรับมือกับชาวสวนยางพาราที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องราคายางตกต่ำ และเชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องเจอกับม็อบชาวนา ที่เวลานี้ราคากำลังตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ส่วนอีกตำแหน่งก็คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ หลังจากที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า อีกทั้งเป็นงานที่รัฐมนตรีว่าการ สมหมาย ภาษี รับภาระคนเดียวหนักอึ้ง จึงต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบา ทำให้เวลานี้มีจำนวนคณะรัฐมนตรีมีเต็มโควตาครบ 36 คน หากมีการแต่งตั้งใหม่ก็ต้องปรับคนเก่าออกไปอย่างเดียว เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากผลงานการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อระยะเวลาผ่านไปถือว่า “น่าผิดหวัง” ไม่สมราคาคุย เมื่อเวลายิ่งผ่านไปก็ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น การที่บอกว่า “ให้อดทน” ให้โอกาสรัฐบาลแก้ปัญหา เพราะต้องใช้เวลาเนื่องจากปัญหาหมักหมมมานาน ถามว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ มีเวลาแค่ปีเศษ เมื่อผ่านไปสามเดือน เข้าเดือนที่สี่เดือนที่ห้า แล้วยังเหลือเวลาอีกไม่นานมันจะทำอะไรได้ หากจะบอกว่ามีข้อจำกัดมากมายมาถึงขั้นนี้แล้วไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุผล เพราะตัวเองมีอำนาจอยู่ในมือเบ็ดเสร็จ ต้องทุบโต๊ะทำทันที ไม่ใช่ทำเพื่อหวังคะแนนเสียง เหมือนกับรัฐบาลเลือกตั้ง หากคิดว่าเป็นการวางรากฐานอนาคตก็ไม่ต้องลังเล
แต่กลายเป็นว่าทุกนโยบาย หลายโครงการใหญ่ล้วนต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน นำมาปรับปรุงแก้ไข อ้างว่าเพื่อความโปร่งใส เป็นการอุดช่องโหว่ ในการใช้งบประมาณ ไม่ต่างจากการ “ลอกการบ้าน” ทั้งในเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง (กึ่งความเร็วสูง) ล้วนต่อยอดมาทั้งสิ้น หรือแม้แต่การปรับโครงสร้างพลังงาน ก็ไม่ได้ผิดแปลกใหม่แต่อย่างใด ระบบความคิดไม่ได้แตกต่างจากยุครัฐบาลเก่า ยังน่าสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ถือหุ้นใน ปตท. ที่อยู่ในคราบของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ข้ออ้างว่า “รัฐถือหุ้นใหญ่” เช่นเดิม แต่ไม่ยอมเน้นว่าเวลาแบ่งผลกำไรต้องแบ่งให้กับเอกชนด้วย ยังสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานข้ามชาติ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา
ที่ตกเป็นเป้าโจมตีและน่าผิดหวังมากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” ปัญหาปากท้อง ที่นับวันยิ่งทรุดลง และทำลายความศรัทธาเชื่อมั่นกับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
หากนับเวลาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามายึดอำนาจ เข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จรวมแล้วกว่า 6 เดือน และในนามรัฐบาลอีก 3 เดือน ตามหลักการต้องเห็นหน้าเห็นหลังบ้างแล้ว แต่นี่กลับตรงข้ามไม่เชื่อลองไปสำรวจตามตลาด ตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ต่างเงียบเหงาซบเซา การค้าขายความเป็นอยู่นับว่าลำบากกว่าเดิม สิ่งที่ชี้วัดถึงความยากลำบากของชาวบ้าน ก็คือ ราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากขึ้น ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยมานานกลับไม่เป็นอย่างที่คาด ทุกอย่างหดตัวอย่างไม่น่าเชื่อ และหากยังไม่ดีขึ้นนับจากนี้ไปรับรองว่ารัฐบาลจะต้องรับมือกับสารพัดม็อบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี คำถามว่าความล้มเหลวดังกล่าวที่ว่าต้องชี้ไปที่ใคร แน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้เลยคนแรกต้องเป็นผู้นำคือ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่จนบัดนี้ถือว่ายังไม่เข้าตา “ส่อไปในทางห่วยแตก” ไม่สมราคาคุย หากพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรกที่ออกมา 3.6 แสนล้านก่อนหน้านี้ผลที่เห็นเหมือนกับความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนสำคัญก็คือ “ความล่าช้า” มีการเบิกจ่ายใช้งบประมาณได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เอาง่ายๆ แค่เรื่องช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15,000 บาท ยังจ่ายกันได้ไม่ถึงไหน ไม่ต้องมาพูดเรืาองการช่วยเหลือชาวสวนยางที่แทบยังไม่มีการเคลื่อนไหว ยังไม่ต้องมาพูดว่าหากจ่ายครบแล้วจะช่วยเกษตรกรได้แค่ไหน ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะความล่าช้าดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเพราะระบบราชการที่ยุ่งยากยุ่งเหยิง แต่คำถามก็คือคนที่สั่งการไม่เคยรับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้บ้างเลยหรือ นั่นเท่ากับประจานตัวเอง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความล้มเหลว ห่วยแตกอย่างที่เห็น มันก็เป็นไปได้สูงที่หลังช่วงปีใหม่ไปแล้วจะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นค่อนข้างแน่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ที่หากไม่ทำอะไรสักอย่างคนที่จะซวยก็หนีไม่พ้นหัวหน้าทีม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละ และอย่าลืมคำเตือนของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องการปฏิวัติซ้อน แม้ว่าที่ผ่านมาหลายเรื่องจะดูเลอะเทอะ แต่สำหรับเรื่องนี้หากพิจารณาตามเหตุผลรับรองว่าทุกคำพูดล้วนใกล้เคียงความจริง !!