xs
xsm
sm
md
lg

“วรชัย” เห็นพ้องปฏิวัติซ้อน “พิชัย” หยันมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐบาลไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรชัย เหมะ แกนนำคนเสื้อแดง (แฟ้มภาพ)
แกนนำเสื้อแดง หนุน “จิ๋ว” กุปฏิวัติซ้อน อ้างอำนาจไร้เอกภาพ ข้าวยากหมากแพง ด้าน “พิชัย” ชี้ 4 มาตรการกระตุ้น ศก. รัฐมีผลน้อยมาก แก้ไม่ตรงจุด ย้ำปัญหาสำคัญขาดเงินรายได้ในระบบ

วันนี้ (10 ธ.ค.) นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระวังการปฏิวัติซ้อน ว่า สิ่งที่ พล.อ.ชวลิต พูดมีความเป็นไปได้สูง เพราะมีเงื่อนไขหลายประการนำไปสู่จุดนั้น ประการแรกคือ เครือข่ายอำนาจในตอนนี้เห็นชัดเจนว่าไม่เป็นเอกภาพ อาจมีการหักเหลี่ยมกันภายใน ประการที่สอง จะเกิดจากปัจจัยการบริหารที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วันนี้ชาวสวนยางเตรียมบุกยึดทำเนียบฯแล้วถ้าไม่ได้ราคาตามที่เขาต้องการ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการประท้วงลักษณะเดียวกัน จากชาวไร่และชาวสวนอื่นๆ เช่น ชาวนาผู้ปลูกข้าว ประการที่สาม จะเกิดแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่วันนี้เจ๊งกันเป็นแถบ จากการคงอยู่ของกฎอัยการศึก และประการที่สี่คือแนวทางปฏิรูปที่กำลังทำกันผิดทิศผิดทาง สัญญาณบอกเหตุคือ เมื่อกระแสเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. โดยตรงออกมา ปรากฏว่าหุ้นตกติดๆ กันมา 3 - 4 วันแล้ว

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 4 มาตรการของกระทรวงการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า นับเป็นเรื่องดีที่ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังย่ำแย่ และได้มีการออก 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ มาเสริมมาตรการต่างๆก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า 4 มาตรการที่ออกมาใหม่นี้มีผลน้อยมาก และไม่น่าจะสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้

“4 มาตรการที่ออกมาใหม่นั้น เป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด เหมือนกับการนำขันตักน้ำไปดับไฟป่าที่กำลังคุโชน แถมยังดับผิดที่อีกด้วย” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย ยังได้วิจารณ์ 4 มาตรการของรัฐบาลด้วยว่า สำหรับนโยบายนาโนไฟแนนซ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนนั้น เป็นเหมือนที่ตนเคยบอกแล้วว่าเป็นเหมือนยาแก้ปวดแต่รักษาโรคร้ายไม่ได้ เพราะคิดดอกเบี้ยสูงถึง 36% อาจจะช่วยลดภาระเฉพาะเรื่องเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยมหาโหด แต่ใช้ในการทำธุรกิจไม่ได้ หรือมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น อาจจะเป็นการช่วยเอสเอ็มอีได้บ้าง แต่ในปัจจุบันปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอีคือเศรษฐกิจฝืดเคือง ประสบกับภาวะการขาดทุนกันหมดแล้ว จะเหลือเงินมาเสียภาษีหรือ อีกทั้งที่ผ่านมามาตรการลดภาษีไม่เคยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนมาตรการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรขาเข้า สำหรับวัตถุดิบ 1,274 รายการ ก็อาจจะช่วยภาคธุรกิจได้บ้าง แต่สำหรับเครื่องจักร 258 รายการคงไม่ช่วยเท่าใดนัก เพราะกำลังผลิตของเครื่องจักรเดิมก็เหลืออยู่แล้ว เพราะขายสินค้าไม่ออก นอกจากนี้การออกพันธบัตรออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เป็นการให้ประชาชนที่จองซื้อได้ดอกเบี้ยสูง ก็ยังไม่เห็นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อีกทั้งอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นด้วย เพราะเป็นการแข่งขันหาเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์โดยตรง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 4 มาตรการที่ออกมาไม่น่าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้

“ปัญหาหลักทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ การขาดเงินรายได้ในระบบ ซึ่งเกิดมาจากการส่งออกที่ลดลง การท่องเที่ยวลดลง การลงทุนลดลง การบริโภคลดลง โดยความมั่นใจจากต่างประเทศ และการกระตุ้นการบริโภคจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากรัฐบาลแก้ไม่ถูกจุด ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ จึงอยากให้กำลังใจและอยากให้แก้ไขให้ถูกจุด” นายพิชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น