xs
xsm
sm
md
lg

เงินจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน มรดกบาปรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายกฯประยุทธ์ ตัองคิดให้ดี!

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ข่าวปนคน คนปนข่าว

การสั่งรื้อแผนบริหารจัดการน้ำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 57 มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ นอกจากต้องจับตาการปัดฝุ่นต่อยอดจับโครงการเก่ามาแต่งตัวใหม่ แต่สุดท้ายผลประโยชน์ยังตกอยู่กับกลุ่มเดิมหรือไม่

และการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้าน ซึ่งมีปัญหาในข้อกฎหมายว่า รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ได้กู้เงินตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ในพระราชกำหนด จึงทำให้ไม่มีสภาพบังคับใช้แล้ว

เหตุใดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำเสมือนกับหน้ามืดตามัว ตามรอยการทำผิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ไล่ดูข้อมูลจากแผนบริหารจัดการน้ำ ที่มีการพิจารณาใน ครม. วันที่ 25 พ.ย. 57 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจ กลับเป็นผู้เสนอความเห็นในการจัดหมวดหมู่โครงการ โดยแบ่งประเภทโครงการออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. โครงการน้ำเพื่อการบริโภค 2. โครงการเก็บกักน้ำ 3. โครงการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำ 4. โครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วม 5. โครงการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

แม้ว่าการคัดเลือกเอกชนที่จะดำเนินโครงการในโมดูลต่างๆ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะสิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีผลทางกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีการเซ็นสัญญา แต่ไม่ได้หมายความว่า โครงการใหม่ที่มีการจัดประเภทที่ใช้ชื่อแตกต่างไปจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริษัทรายเดิมที่เคยได้ประโยชน์จะไม่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ที่สำคัญคือ การกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนด 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กำหนดในกฎหมาย

เสียงเตือนดังๆ ในเรื่องนี้จาก วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นไว้ว่า “โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เมื่อครั้งขอออกเป็น พ.ร.ก. ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าวออกเป็น พ.ร.บ. แล้ว โดยมาตรา 3 เขียนให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในวรรคหนึ่งกำหนดให้การกู้ ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 แต่จนถึงขณะนี้ มีคำยืนยันจากรองปลัดกระทรวงการคลัง ว่า ไปเซ็นสัญญากับ 4 ธนาคารแล้ว

มีคำถามว่า การกู้เงินตาม พ.ร.บ. กำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2556 การเซ็นสัญญากับธนาคารแล้ว ถือว่าเป็นการกู้หรือยัง ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เขียนไว้ว่า สัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นไปตามที่รองปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่า ยังไม่มีการส่งมอบเงิน จึงเท่ากับว่า ยังไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น ปัญหาคือ ถ้าหลังเดือนมิถุนายน แล้วธนาคารจะเสี่ยงกล้าให้เงินกับรัฐหรือไม่ เพราะถ้ายึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การเสี่ยงให้เงินของธนาคาร อาจนำมาสู่การไม่ได้รับเงินต้นคืน และดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รัฐจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ผมเป็นห่วงบริษัท อิตาเลียนไทย และ เค.วอเตอร์ ไม่ทราบว่าเกาหลี มีแห้วขายไหม”

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปากตรงกับใจในเรื่องที่ต้องการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ต้องไม่เดินตามรอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ท้าทายกฎหมาย และรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา ด้วยการทำผิดในเรื่องเดิม แต่ต้องแก้ไขความผิด และเดินหน้าโครงการด้วยความถูกต้อง แทนที่จะใช้วิธีคิดง่ายๆ สวมรอยใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ที่มีปัญหาในข้อกฎหมาย

ไม่มีใครปฏิเสธการแก้ปัญหาน้ำท่วม และการทำโครงการบริหารจัดการน้ำ แต่การเดินหน้าเรื่องเหล่านี้ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในวิสัยที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องเหล่านี้ได้อยู่แล้ว หรือถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ออก พ.ร.ก. กู้เงินใหม่

ไม่ใช่สืบทอดมรดกบาปจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้

เพราะเท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังทำบาปต่อประเทศ ไม่แตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วประชาชนจะมีความหวังในการปฏิรูปประเทศให้บริหารโดยยึดหลักกฎหมาย ตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสได้อย่างไร ในเมื่อการบริหารของรัฐบาล ยังคลุมเครือ สร้างแต่คำถามในใจคนไทยอยู่ตลอดเวลา

พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะได้ทบทวนและศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้ให้รอบด้าน และตัดสินใจโดยยึดหลักกฎหมายเดินหน้าบนความถูกต้องจึงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า การเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาการ “ฮั้ว” ให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์เหมือนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่าง อาจยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำคำพูดของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปาฐกถาในหัวข้อ “สังคมเศรษฐกิจไทย ความท้าทายและการปฏิรูป” มีเนื้อหาชวนคิดไว้ว่า “ขณะนี้มีข่าวลือภายนอกมาก หวังว่าทหารคงได้ยินบ้าง แม้กระทั่งตัวผมเอง ซึ่งปกติไม่ชอบฟัง และไม่ชอบขยายต่อข่าวลือ ยังได้ยินมาว่า มีการพูดถึงการตกลงกันนอกรอบเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ จึงได้แต่หวังว่า ข่าวลือที่ได้ยินมาจะไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นจริง ใครที่ทำก็ต้องรับผิดชอบ”

คำกล่าวของอานันท์ มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 57 ก่อนที่ ครม. ประยุทธ์ จะมีการปัดฝุ่นเงินกู้ 3.5 แสนล้าน ในวันที่ 25 พ.ย. เพียงวันเดียว นับเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ต้องค้นหา คือ ถ้ามีการเจรจานอกรอบแบ่งปันผลประโยชน์เกิดขึ้นจริง ใครคือโต้โผในการจัดการเรื่องเหล่านี้

ทำไม จึงปล่อยให้คนที่ไม่มีหน้าที่ เข้ามาเกี่ยวพันกับการเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำได้

ความคลางแคลงใจที่มากขึ้นทุกขณะของสังคม ไม่เพียงเกิดกับบุคคลรอบข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่จะลามไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย หากไม่สามารถอธิบายถึงสิ่งที่ทำให้สังคมเข้าใจได้อย่างสมเหตุสมผล และใช้การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์คำพูดที่เคยให้สัญญากับประชาชนว่า “ผมไม่พัง เพราะเพื่อน หรือพี่ๆ น้องๆ อย่างแน่นอน ถ้าใครทุจริต ต้องถูกดำเนินคดี”

ตอนนี้ยังไม่ต้องจับคนทุจริต ขอแค่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดความจริงกับประชาชนหน่อยว่า มีใครไปตกลงนอกรอบ เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์จริงตามข่าวที่ “อานันท์” ได้รับหรือไม่ ถ้ามีจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จัดการ จะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น