xs
xsm
sm
md
lg

ฝาก “บวรศักดิ์” อย่าให้เกิด “คำตอบถูก” จาก “โจทย์ผิด”

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

ในขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังคร่ำเคร่งกับการวางปูทางการร่างรัฐธรรมนูญบนหลักคิดที่ว่า “ต้องให้ทุกฝ่ายยอมรับ”

โดยมีการเชิญตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนของภาคประชาชนเข้าให้ข้อมูลแสดงความเห็นตั้งแต่ 17 - 25 พ.ย. 57 ตามทัศนคติของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยอภิปรายไว้ในที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ว่า

“ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดหรือไม่ อยู่ที่การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูป ทั้งนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อต้องการยุติปัญหาบ้านเมืองที่เรื้อรังมานาน 10 ปี มีคู่ขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ไม่ยาก วิป สปช. ชั่วคราว เห็นว่าไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่า เป็นกติกาของผู้ชนะ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงต้องเปิดให้คู่ขัดแย้งมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย”

แม้ว่าความพยายามที่จะตั้งตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯโดยตรงจะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากที่ประชุม สปช. ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังมีการเดินหน้าดึงพรรคการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผ่านการให้ความเห็นต่อกรรมาธิการฯ ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น

โดยปกติแล้วการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความตกผลึกในการสร้างกติกาสูงสุดของประเทศ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การตั้งธงไว้ว่า ความขัดแย้งของบ้านเมืองเกิดจากความไม่พอใจในรัฐธรรมนูญ ตามความคิดของบวรศักดิ์ นั้น เรียกได้ว่าเป็นการตั้งโจทย์ประเทศผิดโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างที่สังคมตั้งความหวัง

เพราะผู้มีอำนาจและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ติดหล่มในกับดักความคิดที่ระบอบทักษิณสร้างขึ้น ในเรื่องความแตกแยกของประชาชน โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาและต้นตอของปัญหา แต่กลับใช้วิธีคิดง่ายๆ ผ่านคำว่า “คู่ขัดแย้ง” มาเป็นคำตอบ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องการทะเลาะเบาะแว้งของประชาชน แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจโดยมิชอบต่างหาก

ตั้งแต่ยุคทักษิณ เรืองอำนาจ ในช่วง 4 ปีแรกได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน มีเสียงเต็มที่ในสภาจนฝ่ายค้านง่อยเปลี้ยเสียขาไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ ทักษิณ จึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่ปรากฏความผิดมากมายจากการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง แม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ที่ทำผิดซึ่งฝ่ายค้านในขณะนั้นมีเสียงเพียงพอที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ก็ยังใช้วิธีการหลบเลี่ยงด้วยการปรับ ครม. หนีก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะเดียวกัน ก็มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารด้วยการแทรกแซง แทรกซึม และ แทรกซื้อ จนสื่อมวลชนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนความจริงให้ประชาชนรับทราบ

เมื่อมีการใช้อำนาจโดยมิชอบปราศจากความยำเกรงต่อกฎหมาย คนทำผิดไม่เคยได้รับโทษ เพราะกระบวนการยุติธรรมเอื้อมมือไปไม่ถึง เนื่องจากตำรวจ อัยการไม่ทำหน้าที่ จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนในชื่อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ให้ผู้มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับ ทักษิณ และพวก เช่นเดียวกับที่ กปปส. ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับ ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงในนามของ นปช. แต่คำว่า “คู่ขัดแย้ง” ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาบิดเบือนเนื้อหาสาระอันเป็นต้นตอของวิกฤตชาติ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริหารของพี่น้องตระกูลชินวัตร เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตัวเองโยนปัญหาไปง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของคนสองกลุ่มทะเลาะกัน และพัฒนาความซับซ้อนของปัญหา ว่าเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งจากองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมรับอำนาจขององค์กรอิสระและคำตัดสินของศาล

ถ้าผู้มีอำนาจในขณะนี้และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะแยกแยะได้ ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปประเทศไทยก็ริบหรี่เต็มทน เพราะรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างใหม่ ย่อมไม่ใช่การร่างบนพื้นฐานเพื่อสร้างกติกาที่ถูกต้องให้กับประเทศ

แต่จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเพื่อให้เกิดความ “ถูกใจ” ของทุกฝ่าย ยอมแม้กระทั่งชวนโจรมาร่วมร่างกติกาจับโจร แค่นี้ก็คงพอเห็นภาพแล้วว่า กติกาที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่นั้น จะจับโจรหรือเป็นกติกาปล่อยโจร

เพราะขึ้นชื่อว่า “โจร” นอกจากไม่รับผิดแล้ว เมื่อมีโอกาสที่จะร่างกติกา ย่อมกำหนดกติกาที่เปิดช่องให้ตัวเองปล้นง่ายขึ้น

น่าเศร้าใจที่เรื่องง่ายๆ แค่นี้ผู้มีอำนาจกลับคิดไม่ได้

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนได้ การป้องกันคนเลวไม่ให้มีอำนาจ นอกจากมีระบบที่เข้มแข็งแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรู้และการถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในคูหาเลือกตั้งและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง

คนไทยไม่ใช่คนโง่ ถ้ารู้ว่าเลว และการเลือกคนเลวมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร จะทำให้การเลือกคนเลวค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะเป็นวิถีทางในการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงคุณภาพ สร้างวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับประชาชน

ผู้มีอำนาจจึงต้องพึงตระหนักไว้ว่า คำตอบที่ถูกในโจทย์ที่ผิด นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว จะนำมาซึ่งพลังแห่งการต่อต้านที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดที่คิดว่า “ทักษิณ เอาด้วย” แล้วทุกอย่างจะจบนั้น อาจกลายเป็นจุดจบของผู้มีอำนาจในขณะนี้แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น