ผอ.สปท. ติงข้อเสนอเลือกนายกรัฐมนตรี - ครม. โดยตรง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชี้เคยมีบทเรียนรัฐธรรมนูญปี 40 ฝ่าบบริหารแข็งแกร่งแต่ฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ อีกทั้งการเมืองไทยเป็นแบบผูกขาด แนะดูประเด็นอื่นควบคู่ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง กลไกตรวจสอบ และการแก้ปัญหาทุจริต ห่วงมองรายประเด็นมากเกินไป หวั่นต้องแก้จุดอื่นตามมา
วันนี้ (7 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่เสนอให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชนนั้น ว่า เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องใหญ่และมีความละเอียดอ่อนมากต่อการเมืองไทย โดยส่วนตัวมองว่าข้อเสนอนี้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แต่จะเหมาะสมกับบริบทการเมืองไทยหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน
“จริงๆ เราก็เคยมีบทเรียนตอนรัฐธรรมนูญ 2540 เราได้ฝ่ายบริหารที่แข็งแกร่งแต่กลับพบว่ากลไกอิสระถ่วงดุลอ่อนแอ ล้มเหลวถูกครอบงำเบ็ดเสร็จเช่นกัน ที่สำคัญคือสภาวะการเมืองไทยเป็นการเมืองแบบผูกขาด โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองและยังมีกลไกราชการที่ยังรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเครื่องมือในการบริหารอำนาจ หากให้นายกฯ และ ครม. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยิ่งจะเพิ่มระดับการผูกขาดทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ ต้องดูในภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นควบคู่กันไป เช่น ระบบเลือกตั้งจะป้องกันการทุจริตได้อย่างไร ต้องดูกลไกตรวจสอบถอดถอน และดูสิทธิอำนาจของประชาชนด้วยว่าจะเพิ่มขึ้นจนมีพลังกำกับและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของฝ่ายบริหารได้ขนาดไหน บทเรียนอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือเราพยายามแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งกันมาสารพัดวิธี เปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปกลับมากี่แบบก็ตาม แต่กลับพบว่าการทุจริตการเลือกตั้งไม่ได้ลดลงเลย ไม่ว่าจะเป็นแบบเขตเล็กหรือใหญ่
“ผมเป็นห่วงว่าในขณะนี้เรามองรัฐธรรมนูญและออกแบบการเมืองกันเป็นจุดๆ เป็นรายประเด็นมากเกินไป ซึ่งแก้จุดนี้อาจเกิดปัญหาที่จุดอื่นตามมา ฉะนั้นอยากให้มองรัฐธรรมนูญในภาพรวมทั้งฉบับ” นายสุริยะใส กล่าว